คำชี้แจงการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ของนิตย์ พิบูลสงคราม

สินค้าเกษตรกรรม

 

ดูง่ายๆ สินค้าลำไย ขณะนี้เป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ไทยผลักดันให้สหรัฐเปิดตลาดผ่านการเจรจาเอฟทีเอ โดยขอให้แก้ปัญหามาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) พร้อมๆ ไปกับผลไม้อีก 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และมังคุด โดยการแก้ปัญหาสหรัฐยอมให้มีการจัดตั้งกลไกถาวรภายใต้กรอบเอฟทีเอ เพื่อหารือแก้ไขปัญหานี้ จะช่วยลดและขจัดอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสหรัฐ ซึ่งภายใต้กลไกดังกล่าวไม่ได้ใช้เฉพาะผลไม้ 6 ชนิดเท่านั้น แต่จะกับสินค้าเกษตรของไทยในอนาคตที่ประสบปัญหามาตรการสุขอนามัย

 

ลองคิดดูว่าปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐเฉลี่ย 2541-2546 ประมาณปีละ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ หากการเจรจาเอฟทีเอสำเร็จเป็นที่คาดได้ว่าไทยจะสามารถขายสินค้าเกษตรในสหรัฐได้เพิ่มขึ้นถึง 11.8-12%

 

เกษตรกรโคเนื้อ โคนม อาจจะมีความกังวลเมื่อเห็นศักยภาพของสหรัฐเกี่ยวกับโคเนื้อ โคนม แต่ก็ไม่ใช่ว่าคณะเจรจาจะยอมเปิดเสรีให้สหรัฐใน 2 รายการนี้โดยง่ายดาย เราสามารถใช้อีกหลายมาตรการที่ชะลอหรือบรรเทาความรุนแรงแห่งผลกระทบ เช่น การใช้ระยะเวลาลดภาษียาวนาน การใช้มาตรการปกป้องพิเศษที่เรียกว่า special safeguard หากสินค้ารายการดังกล่าวทะลักเข้าสู่ตลาดจนส่งผลกระทบต่อสินค้าชนิดนั้นของไทย

 

ขณะเดียวกันไทยก็มีสินค้าเกษตรที่เป็นเป้าหมายในการเข้าไปยังตลาดสหรัฐเช่นกัน และเป็นสินค้าที่มีนัยทางการเมืองสูงสำหรับสหรัฐ นั่นคือ น้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ในสหรัฐ

 

แนวโน้มที่ดีจากการเจรจารอบที่สี่ ที่รัฐมอนทานา ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนข้อเสนอในการลดภาษี  และน้ำตาลเป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่อยู่บนโต๊ะเจรจา อีกทั้งอยู่ในข้อเสนอในการลดภาษีของสหรัฐ สินค้าประมงของไทยก็น่าจะได้อานิสงส์เช่นกัน

 

มาตรการอุดหนุนของสหรัฐ

 

อีกประเด็นที่เกษตรกรมักแสดงความเป็นห่วง คือ มาตรการที่สหรัฐอุดหนุนการส่งออก ที่เรียกว่า Export Subsidies ยังไม่พูดถึงการอุดหนุนภายในประเทศ ในเรื่องอุดหนุนการส่งออก หากดูความตกลงที่สหรัฐเจรจากับประเทศอื่นที่ผ่านมา ก็มีความตกลงให้ยกเลิกมาตรการให้การอุดหนุนการส่งออกระหว่างประเทศทันที ในขณะที่การอุดหนุนภายในไม่มีการกล่าวถึง แต่ต้องยอมรับว่าใน WTO มีการอนุญาตให้มีการอุดหนุนภายในได้ 

 

แต่ในเรื่องมาตรการอุดหนุนภายในก็เหมือนเหรียญสองด้าน หลายคนมักจะอ้างว่าทำให้สินค้าเกษตรสหรัฐได้เปรียบการแข่งขันกับสินค้าของไทย แต่อย่าลืมว่าสินค้าที่สหรัฐอุดหนุน ภายใน ประเทศบางรายการที่ทำให้ราคาออกมาต่ำนั้นเป็นประโยชน์ต่อกสิกรของไทยเอง เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าหลักที่นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด แต่แน่นอน ก็อาจกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งรัฐบาลควรต้องพิจารณาว่าจะมีมาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

 

สินค้าอุตสาหกรรม

 

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อัญมณี หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก ก็ล้วนมีโอกาสที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐทั้งสิ้น เพราะนอกเหนือจากการเจรจาให้สหรัฐลดภาษี ซึ่งบางตัวสูงถึง 35-40% แล้ว ผู้เจรจาของไทยยังผลักดันให้สหรัฐเจรจาในเรื่องอุปสรรคเทคนิคการค้าเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐ ผลจากากรเจรจาที่ผ่านมาสหรัฐได้ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทยให้ร่วมกันจัดตั้งกลไกแก้ไขให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐ

 

ทรัพย์สินทางปัญญา

 

ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวข้อที่สำคัญมากในการเจรจาเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของไทยหรือสหรัฐ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์ของตนที่ต้องปกป้อง

 

ในการเจรจารอบที่ผ่านๆ มาได้มีการหารือกันใน 3 เรื่อง เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องลิขสิทธิ์ และเรื่องเครื่องหมายการค้า แต่ประเด็นที่ดูจะเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องสิทธิบัตรยา

 

ขอเรียนให้ทราบว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอในเรื่องสิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา พันธุพืช และยังไม่มีการเจรจาในเรื่องดังกล่าว แต่เชื่อว่าสหรัฐทราบดีถึงข้อกังวลของเรา และเขาได้ติดตามการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดที่สุด เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปใช้ในการร่างข้อเสนอ

 

มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าข้อเสนอนั้นอาจมีการปรับปรุงจากเอฟทีเอที่สหรัฐได้ทำกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สหรัฐเจรจา สหรัฐให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลการทดลองยา หรือ Data Exclusivity เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนยา

 

เรื่องสิทธิบัตรยาฝ่ายไทยมีท่าทีชัดเจนว่า เอฟทีเอต้องไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน และจะต้องเคารพสิทธิภายใต้ปฏิญญาโดฮา ซึ่งอนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพ อาทิ การบังคับใช้สิทธิ และการนำเข้าซ้อน ซึ่งในเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา ก็มีการยืนยันสิทธิของประเทศภาคีที่จะใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้

 

เช่นเดียวกับเรื่องที่จะกระทบต่อเกษตรกร อาทิ สิทธิบัตรพืช หรือการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอฟ 1991 ซึ่งคณะเจรจาจะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยให้ดีที่สุด บางเรื่องเราคงต้องยืนกรานไม่รับ บางเรื่องก็ต้องเจรจาให้มีระยะเวลาปรับตัวให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อให้ประเทศไทยเตรียมตัวให้ทัน

 

ผมเรียนว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และไม่สามารถแยกออกจากการค้าได้ ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ไม่ใช่เพียงสหรัฐ ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน ประเทศไทยจะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลก จะปรับในระดับที่เหมาะกับเรา

 

ที่สำคัญการมีระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะนี้มีหลายบริษัทอยากมาลงทุนในประเทศไทย เพราะเห็นว่าเรามีศักยภาพทั้งบุคลากร ภูมิศาสตร์ ความรู้ แต่ยังไม่มาเพราะเรายังไม่มีระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ

 

แรงงานและสิ่งแวดล้อม

 

ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่มีการอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐได้กำหนดเป็นข้อบทในการตกลงเอฟทีเอกับประเทศที่สหรัฐเจรจาด้วย เรื่องนี้เป็นผลจากการบังคับของกฎหมายสหรัฐที่เรียกว่า TPA หรือ Trade Promotion Authority 2002 ทำให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐต้องเจรจาสองเรื่องนี้ในกรอบเอฟทีเอ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินจากถ้อยคำ ของสหรัฐมีกับจอร์แดน สิงคโปร์ ชิลี จะเห็นได้ว่า 1. สหรัฐไม่ได้เรียกร้องให้คู่เจรจาต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้เทียมเท่ากฎหมายของสหรัฐ และยังเสนอให้ประเทศคู่สัญญาปฏิบัติตามกฎหมายภายในของตน หมายความว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไรให้เป็นไปอย่างนั้น โดยขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ

 

2. สหรัฐให้มีกลไกปรับปรุงแก้ไข ระดับการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม หากมีการละเมิดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างซ้ำซากและต่อเนื่อง ประเด็นนี้สร้างความกังวลให้ทุกประเทศที่เจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐ กังวลว่าการให้กระบวนการระงับข้อพิพาทมาใช้กับประเด็นนี้ เป็นการส่งสัญญาณในเชิงลบให้เห็นว่าสหรัฐจ้องจับผิดประเทศคู่สัญญา

 

หากเรามองมุมกลับว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ เราก็มีพันธะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของเราเองอยู่แล้ว และการกำหนดให้มีการจ่ายเงิน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่นำไปให้สหรัฐ โดยกำหนดไว้เป็นเงินไม่เกิน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ร้อยล้านบาท

 

ภาคบริการและการลงทุน

 

ในเรื่องการเปิดเสรีบริการและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นต่างในกรอบการเจรจาและแนวทางการเปิดเสรี โดยไทยยังคงยืนยันแนวทางที่เรียกว่า positive list ส่วนสหรัฐก็ยังยืนยันแนวทาง negative list นอกจากนี้ในการเปิดเสรีการค้าบริการ ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมในรายสาขาที่ไทยให้ความสนใจ เช่น ด้านสุขภาพ ที่เป็นโอกาสที่คนไทยจะไปประกอบอาชีพและให้บริการในสหรัฐได้ โดยการยอมรับมาตรฐานและคุณภาพระหว่างกัน นอกจากนั้นไทยอาจจะผลักดันการที่ผู้บริโภคสหรัฐมาใช้บริการทางการแพทย์ของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ในภาพรวมการสร้างงาน การกระจายรายได้ การท่องเที่ยวด้วย

 

ส่วนเรื่องการเจรจาการเปิดเสรีทางการเงิน ขอให้สอบถามจากกระทรวงการคลังโดยตรง

 

ท้ายที่สุด คณะเจรจาตระหนักดีว่าหากความตกลงการค้าเสรีฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ระบบเศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ ของสังคมย่อมต้องมีการปรับตัวเพื่อศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้เพิ่มความร่วมมือด้านการค้า เอสเอ็มอีกับสหรัฐ ตั้งแต่การเจรจารอบแรก เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วน และเพื่อให้ผู้ส่งออกพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจภาครัฐ เอกชน ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของสหรัฐที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้า

 

อีกประเด็นหนึ่งที่คณะผู้เจรจาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลขณะนี้ คือโครงการช่วยพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรไทย

 

อย่างที่ได้แจ้งไว้แล้ว ว่าต้องยอมรับว่าการเจราจามีทั้งได้และเสีย จึงขอย้ำว่าคณะเจรจาจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนไทยอย่างสูงสุด โดยยึดถือตามมติครม.ที่ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เมื่อ วันที่ 4 พ.ค.2541 ว่า

 

"การจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐต้องอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม เอื้อประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งไม่ควรกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการใดๆ ที่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องปฏิบัติก่อนเป็นพิเศษ ซึ่งการเจรจาอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร และหากการเจรจามิได้เป็นไปในแนวทางข้างต้นก็จะไม่สามารถลงนามในข้อตกลงระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินการเจรจา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบทุกมิติ และมุ่งเจรจาเพื่อผลประโยชน์ในภาพรวมมิใช่การเจรจาเป็นรายสินค้าแต่ละชนิด"

 

กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะในทางที่สร้างสรรค์  ซึ่งคณะเจรจายินดีอย่างยิ่งที่จะรับทราบและนำไปพิจารณาประกอบกับท่าทีในการเจรจาในทางที่จะเป็น

โยชน์กับประชาชนมากที่สุด

หมายเหตุ จากงานสัมมนา "ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ : มุมมองจากบทเรียนเอฟทีระหว่างประเทศไทยกับจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และประสบการณ์จากต่างประเทศ" วันที่ 13 กันยายน 2548 จัดโดย คณะอนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา, กรรมาธิการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ วุฒิสภา, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) , กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท