Skip to main content
sharethis

ประชาไท -9 ก.ย.48         "เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือ กระทรวงสาธารณสุขไม่คิดจะอุดรูรั่วจากการที่แพทย์ พยาบาล ลาออก คิดแต่จะผลิตอย่างเดียว แบบรวดเร็วและมหาศาลเพื่อรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ ทำให้เราเป็นห่วงมาตรฐานแพทย์มาก"พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการบริหารแพทยสภากล่าวในที่ประชุมอนุกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา


 


พ.ญ.เชิดชู ระบุว่า สถิติการลาออกของแพทย์ตั้งแต่ปี 2544-2547 รวม 4 ปี จำนวนแพทย์ในระบบที่ผลิตได้ 3,823 คน ลาออกไป 2,012 คน คิดเป็น 52%


 


โดยการวิจัยของแพทยสภา พบว่า สาเหตุประการสำคัญ เพราะทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บังคับให้แพทย์ใช้ทุนรัฐบาล  ทั้งที่นักศึกษาแพทย์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเรียนเอง แต่รัฐบาลก็อ้างว่าได้ลงทุนไปในคณะแพทยศาสตร์อย่างมหาศาล ทั้งนี้ ก็เพื่อบังคับให้แพทย์อยู่ในระบบราชการ มีสัญญาผูกพันประมาณ 3 ปี หากใครไม่รับราชการก็ต้องใช้ทุน 400,000 บาท โดยไม่เคยคำนึงเลยว่ารัฐบาลก็อุดหนุนนักศึกษาในคณะอื่นเหมือนกัน แต่ในกรณีของนักศึกษาแพทย์ ระหว่างศึกษานั้นต้องรักษาคนไข้ ต้องเข้าเวรไปด้วย โดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ รวมทั้งต้องทำการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับวงการแพทย์ของประเทศ


 


นอกจากนี้พ.ญ.เชิดชูกล่าวว่า ค่าตอบแทนของแพทย์ในระบบราชการปัจจุบันก็ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับภาระรับผิดชอบ ทางแพทยสภาพยายามผลักดันเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นให้ค่าตอบแทนหลักแสน และมีอิสระ มีความสบายใจด้วย


 


"รัฐมนตรีสธ.ท่านก่อนรับปากจะเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ในระบบราชการให้ได้ 60% ที่ภาคเอกชนให้ เราไม่ขอขนาดนั้น ขอแค่ 30,000 ก็ยังไม่ได้ ค่าตอบแทนการเข้าเวรก็ต่ำมาก บางแห่งแพทย์เข้าเวรทุกคืน 15 วันได้แค่ 2,000 บาท"


 


"พอเราทำเอฟทีเอ รับคนไข้ญี่ปุ่นหรือชาติอื่นๆ เข้ามา โรงพยาบาลเอกชนก็จะยิ่งเฟื่องฟู และยิ่งดูดบุคล การทางการแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐออกไปมากขึ้น คนที่เหลืออยู่ก็ต้องแบกภาระหนักมากกว่าที่หนักอยู่แล้วหลายเท่า สุดท้ายก็คงทนไม่ได้" กรรมการบริหารแพทยสภากล่าวพร้อมทั้งระบุว่า หากต้องการให้ประชาชนที่ยากจนได้รับการดูแลทางการแพทย์ดี ก็ต้องสร้างแรงจูงให้แพทย์และพยาบาลอยากบริการประชาชน โดยการให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและจัดระบบโรงพยาบาลให้มีการจัดสรรที่ถูกต้องเพื่อลดภาระของแพทย์ที่แบกรับมากเกินไป


 


พ.ญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า ในขณะที่การดูแลและสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ พยาบาลอยู่ในระบบยังมีปัญหามาก รัฐกลับมุ่งเน้นการผลิตเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าและบริการกับต่างประเทศ จนกระทั่งขณะนี้มีการเปิดการเรียนการสอนที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน


 


"ก่อนจะไปทำเอฟทีเอ เมดิคอลฮับ และอีกสารพัดฮับ เราแก้ปัญหาพื้นฐานของเราหรือยัง" พ.ญ.เชิดชูกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net