Skip to main content
sharethis

ประชาไท—8 ก.ย. 48       กรรมการกอส.ใต้ ระบุ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ตอกย้ำความหวาดกลัวของประชาชนในพื้นที่  เผยหลังประกาศใช้เพียง10 วัน  ผู้นำศาสนาอิสลามถูกยิงดับ 8 ราย  แต่ถูกปิดข่าวเงียบ  พร้อมแฉโรงเรียนสอนศาสนาปอเนาะถูกคุกคามไม่เว้นวัน แต่รัฐไม่เคยตรวจสอบ


 


วันนี้  นายอัฮหมัดสมบูรณ์  บัวหลวง  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เข้าชี้แจงในฐานะนักวิชาการที่ทำงานในพื้นที่  ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ  กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกรรมาธิการวิสามัญภาคใต้ เพื่อรายงานปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เผยหลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 10 วัน ผู้นำศาสนาเดี้ยง 8 ราย


 


"ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นคือ  ผู้นำศาสนาเหล่านี้เป็นจำเลยของรัฐมากกว่าผู้ก่อการร้ายหรืออย่างไร"  นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวขึ้น


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวว่า  หลังประกาศใช้พ.ร.บ.บริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ได้เพียง 10 กว่าวันเท่านั้น  มีผู้นำศาสนาอิสลามเสียชีวิตไป 8 ราย  แต่ไม่ได้เป็นข่าวโดยทางราชการน่าจะตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเป็นของจริงหรือข่าวลือ  ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้เกิดความกระจ่างแก่ประชาชน"


 


ทั้งนี้  ประเด็นข้างต้นเป็นการพูดที่หนาหูสำหรับประชาชนในพื้นที่  แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากหลังมีการใช้ พ.ร.ก.นี้ ได้มีเหตุระเบิดใน จ.นราธิวาส  ทำให้นักข่าวถูกห้ามไม่ให้ไปทำข่าว  และนักข่าวชาวต่างประเทศก็ถูกกักไม่ให้เข้าไปในพื้นที่  โดยมีการหน่วงเหนี่ยวถึง 2 ชั่วโมง


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์  กล่าวต่อไปว่า  "ไม่แปลกที่ 8 คนที่ตายไป  ชาวบ้านไม่มีความสงสัยเลยว่าเป็นการกระทำของใคร  เพราะจากการวิเคราะห์อย่างเป็นธรรมในพื้นที่  ถือเป็นเหตุการณ์ที่ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นน้อยมาก  เพราะเป็นการทำลายฐานชุมชน  รัฐต้องแสวงหาความเป็นจริงให้ประชาชน  แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับปล่อยปละละเลยไม่เคยเอาจริงเอาจัง"


 


อย่างไรก็ตาม นายอัฮหมัดสมบูรณ์  เห็นว่า  ผู้นำศาสนาได้มีการเสียชีวิตตั้งแต่  4 ม.ค. 2547 เป็นต้นมา  และยังคงเป็นความสงสัยของประชาชน  ในการที่รัฐไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว  แม้กรณีที่เกิดขึ้นกับคนไทยพุทธก็ตาม  ซึ่งกระบวนการก่อการร้ายในระดับพื้นที่ก่อนมีการใช้กฎหมายนี้ไม่ปรากฏถี่ดังในปัจจุบัน


 


2 เหตุการณ์ไฟใต้ เหนือธรรมชาติ?


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์  กล่าวว่า  "ในความรู้สึกของประชาชนเชื่อว่า การเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย  แต่น่าจะมีการวางแผนเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับคดีปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ที่ค่ายพัฒนาที่ 7 จ.นราธิวาส


 


ทั้งนี้  กรรมการกอส. อธิบายเหตุการณ์ว่า  เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547  ช่วงหลังเที่ยงคืนในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  มีการเคลื่อนย้ายปืนถึง 300 กว่ากระบอก  แม้มีทหารประจำอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม  แสดงว่าผู้ก่อการมีศักยภาพสูงมากที่ทำได้ขนาดนี้  เท่ากับว่ายกเลิกกำลังทหารไปได้เลย  ซึ่งความสามารถอย่างนั้นมันเหนือความเป็นจริง  หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเต็มรูปแบบ


 


"เช่นเดียวกับเหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่จ.ยะลา  เมื่อวันที่14 ก.ค.ที่ผ่านมา  แม้ว่าทางการจะมีการเตรียมการและเฝ้ามองอย่างระมัดระวัง  ผมเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธกว่า 30,000 นาย ใน 3 จ.ภาคใต้ ที่สามารถปกป้องความปลอดภัยได้  แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นซึ่งไม่เป็นธรรมชาติ  โดยในคืนนั้นเจ้าหน้าที่ไม่กล้าออกมาดับเพลิงเพราะถูกวางตะปูเรือใบ  นั่นเป็นเจตนาแอบแฝง  ผมว่าอ้างว่ากลัวไม่น่าจะใช่  เพราะเหตุการณ์ระเบิดใน 2-3 จุดใน จ.ยะลา  ถูกกระทำให้เหมือนเป็นธรรมชาติ"  กรรมการกอส. อธิบาย


 


จี้รัฐตรวจสอบยิงโต๊ะอิหม่าม-131 มุสลิม


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์ ชี้ 2 เหตุการณ์ บ่งสัญญาณการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ไร้ผล  เรียกร้องรัฐต้องตรวจสอบเพื่อความกระจ่างแก่ทุกฝ่าย


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์  มองว่า  กรณี นายสะตอปา ยูโซ๊ะ  โต๊ะอิหม่ามที่บ้านห้วยละหาน อ.สุไหงปาดี  จ.นราธิวาส  เสียชีวิต  ชาวบ้านได้ออกมาป้องกันตนเองโดยล้อมรอบหมู่บ้านโดยใช้ผู้หญิงและเด็กเป็นโล่กำบังไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไป  โดยตรงจุดนี้รัฐต้องใช้วิริยะปัญญาเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกรณีคน 131 คนที่หลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย


 


นอกจากนี้ นายอัฮหมัดสมบูรณ์  ชี้ว่า  โต๊ะอิหม่ามเป็นบุคคลที่มีความรู้  ซึ่งมักจะตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น  โดย 2 วันหลังจากที่โต๊ะอิหม่ามเสียชีวิตก็เกิดเหตุการณ์ 131คน หลบหนีเข้ามาเลเซีย และมีข่าวว่าจะเข้าไปอีก 100 คน ซึ่งรัฐต้องเร่งตรวจสอบในเรื่องนี้


 


"การเคลื่อนย้ายของ 131 คน บ่งบอกถึงการเคลื่อนย้ายเพื่อความปลอดภัย  ไม่ใช่ว่าไทยต้องไปบีบคั้นให้มาเลเซียส่งคนกลับ แต่ที่สำคัญสาเหตุที่หนีนั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่า  แต่รัฐบาลก็มักมีคำตอบอยู่แล้ว" กรรมการกอส. กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นายอัฮหมัดสมบูรณ์ เสนอความเห็นว่า สำหรับการคุกคามของเจ้าหน้าที่นั้นต้องยุติบทบาทการตรวจสอบลง  เพราะจะทำให้ประชาชนกังกลต่อความปลอดภัยมากขึ้น


 


"ปอเนาะ"  เหยื่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน


 


"หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เป็นการตอกย้ำความกลัวและความหวาดระแวงของเด็กๆ และผู้ปกครองในความปลอดภัยของชีวิตมากขึ้น" นายอัฮหมัดสมบูรณ์  กล่าว


 


ทั้งนี้  หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นร.ร.สอนศาสนาปอเนาะ  ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งเท่ากับเป็นตักศิลาของชุมชนมานับ 100 ปี  กำลังถูกทำลายมากขึ้น 


 


"ภาพนักเรียนที่ต้องนั่งยองๆ ขณะที่บนหัวมีทหารพร้อมอาวุธปืนร้ายแรง  เด็กๆ ถูกจับไปสอบสวน 5 คน นานกว่า 30 วัน  และยังมีผู้ปกครองแจ้งว่ามีนักเรียนระดับ 9-10 ได้หนีออกจากชั้นเรียนเพราะกลัวโดนเหวี่ยงแหไปด้วย"  กรรมการกอส. เล่าเหตุการณ์


 


ขณะที่ ร.ร.ในอ.ยะรัง  ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแนวร่วมการก่อการร้ายในทันที  เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างหลักฐานว่าพบภาษายาวี  แผนที่  ซึ่งนายอัฮหมัดสมบูรณ์  เห็นว่า "ที่จริงแล้วเป็นเรื่องพื้นๆ ไม่แตกต่างกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎ จ.ยะลา ซึ่งพบกางเกงทหาร  และหาว่าเป็นซ่องโจร  เท่ากับเป็นการทำของธรรมดาให้กลายเป็นหลักฐานสำคัญขึ้นมา"


 


 


เหตุการณ์ดังกล่าว  แสดงถึงความกังวลในความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นหลังประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารตั้งด่านอยู่บริเวณหน้าร.ร.มากขึ้น เท่ากับเป็นการกระทำที่ไม่ส่งเสริมความสมานฉันท์ปลอดภัยแต่อย่างใด


 


"ร.ร.จีฮาด  ถูกสั่งยุบโดยผู้ว่าฯ จ.ปัตตานี  ผมมองว่าการสั่งปิดนั้นเป็นเรื่องง่าย  แต่การคุ้มครองความรู้สึกของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นเรื่องใหญ่มาก  ขณะที่รัฐไม่เคยตระหนักด้านสังคมจิตวิทยาเลย  แต่กลับให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านดินแดนเป็นเป้าหมายหลัก" นักวิชาการในพื้นที่ ระบุ


 


อย่างไรก็ดี  นายอัฮหมัดสมบูรณ์ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า  "ความปลอดภัยในอนาคตของประชาชนอยู่ในความมืดมาก  เจ้าหน้าที่เห็นรูด้วงตามต้นไม้  ก็มองว่าเป็นรูกระสุน  เห็นต้นไม้โน้มก็ว่าเป็นสถานที่ฝึกยิงปืนไปหมด"


 


ความกลัวที่รัฐหยิบยื่นให้


 


"รัฐต้องเข้าใจว่าตอนนี้เกิดวิกฤตความศรัทธาของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ  เช่น  ชาวบ้านกลัวไม่กล้าออกไปตัดยาง  และเมื่อมีทหารเข้ามาในพื้นที่ทำให้ชาวมุสลิมยิ่งกลัวกันมากขึ้น"  นายอัฮหมัดสมบูรณ์  ชี้แจง


 


ขณะที่ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ได้ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือใน จ.ยะลา  โดยมีทหารประจำอยู่ทุกซอกซอย  แต่กลับมีการยิงกันตายมากที่สุด  ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแม้มีทหารเต็มไปหมด  แต่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยได้เลย  เท่ากับว่ามีทหารมากยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวมากขึ้น


 


"ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ มีการตั้งด่านเกือบทุกเช้า  แม้คนไม่เคยทำความผิด  เมื่อเห็นทหารมาวนเวียนอยู่ก็กลัวแล้ว  พราะชาวบ้านเขาก็กลัวถูกเก็บเหมือนกัน"  นักวิชาการในพื้นที่  เผยข้อมูล


 


"เมื่อ กอส. เข้าไปตรวจในเรือนจำ  ผมเห็นความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น โดยพบว่ามีผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกแจ้งข้อหากลับถูกโซ่ตรวน  ซึ่งเป็นภาพที่กระทบจิตใจพอสมควร  โดยได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขในส่วนนี้แล้ว  แต่ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด  โดยความรู้สึกรวมๆ แล้วหลังจากที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศใช้  ทำให้ประชาชนรู้สึกหนักหน่วงในความปลอดภัย  สับสนในการจัดการของรัฐบาล  ซึ่งน่าจะสร้างความวุ่นวายเกิดมากขึ้นอีกหรือไม่"  นายอัฮหมัดสมบูรณ์  ตั้งคำถาม


 


แฉ รุนแรงเพราะรัฐหลงทาง


 


"ผมเข้าใจว่ารัฐวางยุทธวิธีแก้ปัญหาหลงทางมาโดยตลอด  โดยไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง  ผมเห็นว่า 20% เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย  นอกนั้น 80% เป็นการสวมรอยทั้งสิ้น"  นายอัฮหมัดสมบูรณ์  แสดงความเห็น


 


ทั้งนี้  ยังได้กล่าวต่อไปว่า  ไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐ  ตั้งแต่ต้นมาผิดทางในการที่มองว่าปัญหาเกิดจากการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด  โดยละเลยมิติด้านการศึกษา  เศรษฐกิจ  และสังคม ซึ่งเป็นมิติที่ยิ่งใหญ่กว่าการแยกดินแดนด้วยซ้ำไป


 


"รัฐจะลงยึดพื้นที่ให้มากที่สุด  เช่น  กรณีการตายของโต๊ะอิหม่าม  ที่บ้านห้วยละหาน  เนื่องจากเพราะความเข้าใจในส่วนของรัฐว่าจะต้องเข้าไปคุมพื้นที่ให้ได้  แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ก็จะบอกว่าหมู่บ้านนั้นถูกยึดจากผู้ก่อการแล้ว เป็นต้น"  นายอัฮหมัดสมบูรณ์  อธิบาย


 


อย่างไรก็ดี  นายอัฮหมัดสมบูรณ์ มองว่า "รัฐต้องตระหนักว่าคนในพื้นที่อยากเห็นสันติเกิดขึ้น  ซึ่งต้องอาศัยความใกล้ชิดเป็นแบบส่วนตัวหรือแนวราบ  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่นล้มเหลวค่อนข้างสิ้นเชิง  ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ใช้กลไกท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ต่อเหตุการณ์นี้เลย  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง"


 


ชี้ ใบปลิววันศุกร์ เตือนสติรัฐ  


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์  กล่าวอีกว่า  สำหรับใบปลิวหยุดวันศุกร์นั้น  เป็นการทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำที่สอดรับกับบางกลุ่มต่อการทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชน  เท่ากับเป็นช่องทางการต่อสู้ของผู้ก่อการ  ซึ่งน่าจะเป็นการเตือนสติรัฐบาลได้ประการหนึ่งว่ามีความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงต่อการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน


 


"การประกาศให้หยุดกิจกรรมในวันศุกร์นั้น  น่าจะเป็นสิ่งทำให้รัฐบาลนิ่งคิดและหาทางออกในการแก้ปัญหาจริงๆ และต้องมองว่าการต่อสู้โดยใช้พลังประชาชนเป็นสิ่งที่ได้ผลและรัฐไม่สามารถปฏิเสธได้  โดยเหตุการณ์นี้น่าจะกระตุ้นให้รัฐบาลนำแนวทางสันติวิธีมาใช้มากกว่าอย่างอื่น  แต่ว่าการโต้ตอบของรัฐบาลดูจะไม่ส่งเสริมทางสันติวิธีมากนัก  เห็นได้ชัดว่าทหารเต็มไปหมดแต่ชาวบ้านก็ยังไม่กล้าออกมาขายของ"  กรรมการกอส.เผยมุมมอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net