ปัญหาการหลุดรอดและแพร่กระจายของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมไปในสิ่งแวดล้อม

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่อง ปัญหาการหลุดรอดและแพร่กระจายของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมไปในสิ่งแวดล้อม

________________________________

 

            ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการทดลองมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมทนทานโรคจุด      วงแหวนระดับแปลงในภาคสนาม ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ ส่วนแยกพืชสวน จังหวัดขอนแก่น และได้มีการตรวจสอบยืนยันโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตร ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗ ว่า มะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระที่จำหน่ายออกไปจากสำนักวิจัยฯ ดังกล่าว และมะละกอที่ปลูกในแปลงของเกษตรกรในพื้นที่หลายจังหวัด เป็นเมล็ดพันธุ์มะละกอที่มีการปนเปื้อนมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความสำคัญต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าปัญหาดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในหลายมิติ ทั้งในด้านสิทธิเกษตรกร สิทธิ      ผู้บริโภค สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา โดยได้มีการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นลำดับ

            อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร้องเรียนต่อ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบยังมิได้ดำเนินงานจัดการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ ยังพบการปลูกมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในหลายพื้นที่ เช่น จ.กำแพงเพชร จ.ระยอง เป็นต้นคณะกรรมการฯ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบกรณีการหลุดรอดและแพร่กระจายของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ในสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความจริงและถูกต้อง อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป    ผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมี ดังนี้

. ผลการตรวจสอบเรื่องการแพร่กระจายมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม

            คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้เก็บตัวอย่างใบและเมล็ดมะละกอจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ๖ ราย จาก ๔ จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง จ.มหาสารคราม จ.ชัยภูมิ และ จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งสิ้น ๓๑ ตัวอย่าง เมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลการตรวจพบว่ามีมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมจำนวน ๑๑ ตัวอย่าง จาก ๓๑ ดัวอย่าง ใน ๔ จังหวัด ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ในขณะนี้ยังมีการเพาะปลูกมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ในแปลงเกษตรกรหลายจังหวัด ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.๒๕๐๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๒

. ผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของกรมวิชาการเกษตร

            กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการทดลองมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมทนทานโรคจุดวงแหวนระดับแปลงในภาคสนาม ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ ส่วนแยกพืช จังหวัดขอนแก่น และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งได้มีประกาศให้พืชดัดแปลงพันธุกรรม เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติกักพืช

             เมื่อเกิดปัญหาการหลุดแพร่กระจายมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมในช่วงปี ๒๕๔๗ กรมวิชาการเกษตรได้ทำการเก็บตัวอย่างมะละกอในหลายพื้นที่ และต่อมาได้ประกาศยอมรับว่ามีการ    หลุดรอดแพร่กระจายของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีการทำลายต้นมะละกอในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ๘๓ ราย ที่ตรวจพบการปนเปื้อน และได้ทดลองจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรทั้ง ๘๓ ราย ในอัตราต้นละ ๔๐ บาท และต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๒ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบการหลุดรอดของมะละกอดัดแปรพันธุกรรม และคณะกรรมการศึกษาคำขอสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา

            จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ในประเด็นนี้ พบว่า

            ๒.๑ คณะกรรมการทั้ง ๒ คณะมีการประชุมไปเพียง ๑ ครั้ง ในช่วงปลายปี ๒๕๔๗ และมิได้มีการเรียกประชุมอีกเลยจนถึงบัดนี้ และยังไม่มีผลการตรวจสอบหรือข้อสรุปใดๆ จากคณะกรรมการทั้งสองคณะดังกล่าวอีกด้วย

            ๒.๒ จากบัญชีรายชื่อเกษตร แสดงให้เห็นว่ามีเกษตรกรกว่า ๒,๖๐๐ รายที่ได้รับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอแขกดำท่าพระไปจากส่วนแยกพืชสวนขอนแก่น ซึ่งอยู่ในข่ายเสี่ยงที่จะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ปนเปื้อนมะละกอ GMOs

            แต่จากการสุ่มเก็บตัวอย่างมะละกอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จากเกษตรกรที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเกษตรกรทั้ง ๖ รายที่สุ่มเก็บตัวอย่างไม่เคยได้รับการติดต่อหรือดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้มีความตระหนักและดำเนินการแก้ไขจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

            ๒.๓ จากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากส่วนแยกพืชสวนขอนแก่นบางรายมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้มีการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์มะละกอที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน GMOs ออกไปทั่วประเทศ และในกิจกรรมการฝึกอบรมเกษตรกรหรืองานนิทรรศการเกี่ยวกับการเกษตร หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้ามะละกอแขกดำท่าพระ  แจกให้กับประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก โดยมิได้มีการบันทึกปริมาณและพื้นที่ที่ได้แจกจ่ายไป

            ๒.๔ ปัญหาการหลุดแพร่กระจายของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่ปนเปื้อนไปกับมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระ เกิดขึ้นจากความบกพร่องของกรมวิชาการเกษตร มิได้มีสาเหตุมาจากเกษตรกร แต่การเยียวยาปัญหาโดยการจ่ายเงินค่าชดเชยให้เกษตรกรในอัตราต้นละ ๔๐ บาท นับว่าเป็นมาตรการดูแลเยียวยาที่ไม่เหมาะสมและเป็นธรรม

            ๒.๕ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้มีหน้งสือขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องนี้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ โดยกำหนดเวลาให้ตอบภายในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เมื่อครบกำหนดเวลาได้มีหนังสือทวงถามอีก ๒ ครั้ง แต่จนถึงบัดนี้ซึ่งได้เลยจากกำหนดเวลามา ๒ เดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมิได้จัดส่งข้อมูลใดๆ ให้กับคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒

            ๒.๖ การที่กรมวิชาการเกษตรขาดความตระหนัก ขาดความเอาใจใส่อย่างเพียงพอต่อการแก้ไข    จัดการปัญหาการหลุดแพร่กระจายมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมนี้ ทำให้ขณะนี้ปัญหาขยายวงกว้างออกไปและยากต่อการเยียวยาแก้ไข นอกจากนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องจากผู้เสียหายได้ว่ากรมวิชาการเกษตรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.๒๕๐๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๒

 . ข้อเสนอต่อการจัดการปัญหาและการเยียวยาความเสียหาย

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

            .๑ การจัดการกับมะละกอ GMOs ที่อยู่ในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร

๓.๑.๑ ให้มีการทำลายมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ที่ปลูกอยู่ในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรและมะละกอที่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายมะละกอ GMOs ออกไปกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยต้องดำเนินการตามวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามหลักวิชาการ

๓.๑.๒ รัฐบาลต้องมีการชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม

            .๒ การสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

            กรณีการแพร่กระจายพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ออกไปในสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทดลองเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เคยมีกรณีเกิดขึ้นกับฝ้ายบีทีในปี ๒๕๔๒ แต่จนถึงบัดนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่สามารถอธิบายและสรุปผลการสอบสวนของปัญหาดังกล่าวได้ โดยที่มีรายงานจากหลายฝ่ายให้ข้อมูลตรงกันว่า พื้นที่ปลูกฝ้ายส่วนใหญ่ของไทยในปัจจุบันเป็นฝ้ายบีที ในกรณีมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีสภาพการณ์เดียวกันกับกรณีฝ้ายบีที ดังนั้น จึงจะต้องเร่งรัดผลักดันการแก้ไขจัดการปัญหาโดยเร็ว มีการสอบสวนลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องนี้ รวมถึงผู้ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาด้วย

            ๓.๓ ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

            ควรเร่งพัฒนาระบบกฎหมายของไทยเพื่อให้เท่าทันกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก GMOs กฎหมายสำคัญที่ควรมีก่อนมีการทดลองในแปลงทดลอง/ระดับไร่นา หรือให้มีการปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ กฎหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยยึดหลักความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด (Strict Liability) และ กฎหมายป้องกันการผูกขาดที่มีประสิทธิผล เนื่องจากสินค้า GMOs เป็นสินค้ากึ่งผูกขาด มีผู้แข่งขันน้อยราย มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

            ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำกฎหมายควรประกอบด้วยผู้แทนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักการ     มีส่วนร่วมและโปร่งใส โดยมีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะอย่างกว้างขวางทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

            ๓.๔ ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

            ประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเป็นปัญหาที่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นในอนาคต

            ๓.๕ การจดสิทธิบัตรมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา

            เนื่องจาก ในขณะนี้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับมะละกอของไทยหลายรายการในประเทศสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศ โดยนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาและนักวิจัยต่างประเทศ ถ้ามีการอนุมัติสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีสิทธิบัตรคุ้มครองยีนไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ (หมายเลข ๒๐๐๓๐๑๗๒๓๙๗) จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมของไทยในอนาคต เป็นอุปสรรคและจำกัดโอกาสในการวิจัยมะละกอทนทานโรคไวรัสจุดวงแหวน และอาจสร้างปัญหาด้านการค้าต่อประเทศไทย ถ้ามีการส่งมะละกอของไทยที่มีคุณลักษณะตรงตามกับที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรเข้าไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้

            ดังนั้นจะต้องเร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาคำขอสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหา ข้อสัญญาความตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ (MOU) ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล และในกรณีที่เนื้อหาสัญญาไม่ได้ให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม ควรมีการยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับมะละกอของไทยในสหรัฐฯ และในประเทศต่างๆ ที่เป็นตลาดส่งออกมะละกอของไทยโดยเร่งด่วนต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลและข้อเสนอแนะในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกร รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 ๕ กันยายน ๒๕๔๘

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท