Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 ก.ย. 48  ครม.มีมติร่วมมือกับศูนย์เตรียมรับภัยพิบัติเอเชีย  และแผนดำเนินการจัดตั้งหอเตือนภัยริมชายหาด  สร้างเครือข่ายวิทยุครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง เชื่อทันครบรอบ 1 ปี 26 ธ.ค.นี้ 


 


หลังประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติตามข้อเสนอของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  โดยนายสุรนันทร์  เวชชาชีวะ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้  และความตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำหรับการจัดการเตือนภัยซึนามิ


 


น.พ.สุรพงษ์  กล่าวว่า  นอกเหนือจัดตั้งหอเตือนภัยบริเวณริมชายหาด และหอกระจายข่าวในชุมชนแล้ว จะมีอีกหน่วยงานหนึ่ง ชื่อว่า Asian Disaster Perpareness Center หรือ ศูนย์เตรียมรับภัยพิบัติแห่งเอเชีย ซึ่งวันนี้มีการลงนามในเรื่องนี้ โดยทาง ADPC จะติดตั้งระบบเตือนภัยในทะเล ก่อนวันที่ 26 ธ.ค.เช่นเดียวกัน


 


"สำหรับเรื่องเกี่ยวกับกองทุนที่เรียกว่า Tsunami Regional Truss Fund กองทุนเพื่อจัดตั้งระบบเตือนภัยซึนามิในมหาสมุทรอินเดีย และเอเชียตะวันออก ซึ่งวันนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ UNS Cap กับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนโดยสมัครใจสำหรับการจัดการเตือนภัยซึนามิล่วงหน้าในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"  น.พ.สุรพงษ์  กล่าว


 


นอกจากนี้  น.พ.สุรพงษ์  กล่าวต่อไปว่า  หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้จะมีการลงนามเรื่องร่างความตกลงระหว่าง UNS Cap กับรัฐบาลไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 410 ล้านบาท จากงบกลาง เพื่อเป็นเงินในส่วนของประเทศไทยที่ใช้สมทบเป็นเงินตั้งต้นของกองทุน


 


ทั้งนี้  ในร่างความตกลงดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญๆ เช่น ในฐานะที่ไทยเป็นผู้บริจาคเงินตั้งต้นกองทุน จะทำให้ไทยมีสถานะเป็นสมาชิกตลอดไป และส่วนของ ADPC มีสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ถือว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไทยสนับสนุนให้มีบทบาทนำในการจัดตั้งระบบเตือนภัยซึนามิในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ขณะเดียวกันในส่วนของประเทศไทยคือ ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเห็นชอบโครงสร้างและอัตรากำลังของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย ส่วนบังคับบัญชา ส่วนปฏิบัติการ ส่วนวิชาการ และส่วนบริหาร ประกอบด้วยอัตรากำลังจำนวนทั้งสิ้น 277 คน


ทั้งนี้  ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ เป็นงบกลางประจำปี 2549 ตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2549 ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในวงเงินทั้งสิ้นกว่า 229 ล้านบาท


 


นายดนุพร  กล่าวต่อไปว่า "รัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เคยประสบภัย นั่นคือ เรื่องการเตือนภัยจะแจ้งให้เขาทราบอย่างไร โดยท่าน


สุรนันทน์ ได้เสนอให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเชื่อมต่อสัญญาณกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นแม่ข่ายในการเตือนภัยทางระบบวิทยุกระ


จายเสียงและระบบทีวีพูล ให้ดำเนินการครอบคลุมสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง โดยเฉพาะทีวีช่อง 11 และระบบเคเบิลทีวีทั้งหมด"


 


นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งการประชาสัมพันธ์ การจัดทำป้ายสื่อความหมายและจัดหลักสูตรฝึกอบรมและมีการดูงานให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงให้มีเรื่องซึนามิบรรจุไปในหลักสูตรของโรงเรียนอีกด้วย
       
อย่างไรก็ตาม  รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ที่ได้เสนอว่าโครงการต่างๆ ควรจัดทำให้เสร็จก่อนวันที่ 26 ธ.ค.นี้ เนื่องจากจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีซึนามิ ซึ่งประเทศไทยต้องแสดงความพร้อมในจุดนี้


 


นอกจากนี้  คณะรัฐมนตรียังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า  น่าจะมีการจัดตั้งระบบความสัมพันธ์ในท้องถิ่น หรือหอกระจายข่าวตามจุดต่างๆ เพราะหากว่า ระะบบเตือนภัยได้แจ้งให้คนชายหาดทราบ ก็ต้องมีระบบในท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านสามารถรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net