กก.สิทธิฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวแม่อายถูกถอนสัญชาติ

"ปัญหากรณีการถอนสัญชาติชาวแม่อายทั้ง 1,243 คน สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด  มีสาเหตุหลักมาจาก ความเชื่อของกรมการปกครอง  และนายอำเภอแม่อายคนก่อน  ที่เชื่อว่าได้พิจารณาอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง  แต่ในความเป็นจริง  เมื่อพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริงแล้ว  ส่วนใหญ่เกือบทุกรายเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง" นายจรัล  ดิษฐาภิชัย  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.)  กล่าว

 

เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.ที่ผ่านมา  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์  และมหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่  ได้เดินทางไปพบกับชาวบ้านแม่อาย ที่วัดภาวนานิมิต ต.ท่าตอน  อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่ เพื่อหาแนวทางการทำงานต่อกรณีปัญหาสัญชาติของชาวแม่อาย ก่อนที่จะรอฟังคำตัดสินชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 8  ก.ย.นี้ 

 

นายจรัล  ดิษฐาภิชัย  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.)  กล่าวว่า  หลังวันที่ 8  ก.ย.นี้ ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาอย่างไร  ทาง กสช.พร้อมที่จะออกปกป้องคุ้มครองสิทธิต่างๆ  ที่ชาวบ้านทุกคนควรจะได้รับทั้งหมด  ไม่ว่าในเรื่อง สิทธิในการอยู่อาศัย  สิทธิในการอยู่อาศัย  การเดินทาง  อาชีพการงาน หรือการศึกษา  เพราะสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องอยู่ติดตัวไปทุกคน  ไม่ว่าจะมีสัญชาติ หรือไม่สัญชาติไทยก็ตาม  แต่รัฐต้องยึดถือสิทธิในความเป็นมนุษย์  ซึ่งชาวบ้านจะถูกละเมิด  ถูกจำกัดสิทธิอีกไม่ได้

 

"การเดินทางไปที่ อ.แม่อาย ในครั้งนี้  เป็นการมาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจชาวบ้านแม่อายที่ถูกถอนสัญชาติไทย  และมาตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมชี้แจงผลการแถลงของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า  คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด  ซึ่งไม่ได้เหมือนคดีอาญา  เพราะถึงแม้ว่าศาลปกครองจะตัดสินอย่างไร  ก็สามารถเดินเรื่องต่อไปได้  เช่น  จะทำการฟ้องคดี  หรือ จะยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย ตาม ม.7 ทวิ ซึ่งก็แล้วแต่การตัดสินใจของชาวบ้าน" นายจรัล กล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า  การนำเสนอข้อมูลปัญหาผลกระทบของชาวบ้านหลังการถูกถอนสัญชาติ  จะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของศาลหรือไม่อย่างไร  นายจรัล  กล่าวว่า จริงๆ  แล้ว  ศาลหรือผู้พิพากษานั้นจะต้องตัดสินไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  โดยดูจากข้อเท็จจริง  แต่ว่าศาลปกครองนั้น  มันแตกต่างไปจากศาลอาญา หรือศาลแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งการฟ้องทางศาล  นั้นมีข้อเสียคือ  ใช้เวลานาน  กว่าจะรู้ว่าใครแพ้ใครชนะ  ในส่วนการดำเนินการโดยอาศัยมาตรา 7  ทวิ  นั้นก็ใช้เวลานานเหมือนกัน  บางคนต้องใช้เวลานานถึง 5-10  ปี 

 

"กรณีปัญหาเรื่องสัญชาติของชาวบ้านแม่อาย  เป็นกรณีเดียว  ที่ต้องสูญเสียงบประมาณในการแก้ปัญหานี้ไม่ต่ำกว่า  10  ล้าน  เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในเรื่องนี้  มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปๆ  มาๆ  อย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม  สภาทนายความแห่งประเทศไทย  รวมทั้งนักวิชาการอีกหลายคณะ ซึ่งพยายามเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด  แต่ก็ยังไม่สำเร็จสักที"

 

นายจรัล  ยังกล่าวอีกว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด  มีสาเหตุมาจาก ความเชื่อของกรมการปกครอง  และนายอำเภอแม่อายคนก่อน  พิจารณาอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง  แต่ในความเป็นจริง  เมื่อพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริงแล้ว  ส่วนใหญ่เกือบทุกรายจะแพ้

 

"อีกประการหนึ่งคือ  เรื่องข้อกฎหมาย  เพราะมีการเสนอแนวความคิดที่ว่า  ให้เอากลับเข้าไปก่อน  แล้วค่อยถอนทีหลัง  ว่าค่อยตรวจสอบทีหลังว่าแต่ในทางปฏิบัตินั้นทำไม่ได้  เพราะไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินการได้  นอกจากนั้น  ยังมีการทุจริต  ซึ่งในความเป็นจริงชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ทุจริต  แต่กลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง" นายจรัล  กล่าว

 

หลังจากนั้น  นายจรัล  พร้อมคณะได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อเท็จจริงประเด็นเรื่อง การอยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่บ้านโป่งไฮ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่  หลังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร้องเรียน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท