เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ตอนที่ 1 - สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ตราชูนี้ดูเที่ยง                  บ่มิเอียงจริงไหมหือ

ขวาซ้ายเท่ากันหรือ                       รึจะหย่อนอยู่ข้างไหน

เพ่งดูตราชูตั้ง                               ข้านี้ยังมิแน่ใจ

ที่เที่ยงนั้นเพียงใด                         ที่ว่าไม่ แค่ไหนกัน

                นายผี

 

การสู้รบระหว่างฟากความคิด "ปราบให้สิ้น" กับ "สิทธิมนุษยชน" ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นขับเคี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน

 

"คณะทำงาน" หลายชุดถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตามแนวทางที่หลากหลายและบางคณะถูกยุบทิ้งไป โดยคำอธิบายว่าเพื่อความสอดคล้องกับสถานการณ์

 

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำหน้าที่ "แก้ปัญหา" ท่ามกลางคำถามเรื่อง "ประสิทธิภาพ" และการ "ให้กำลังใจ"

 

ความหลากหลายในคณะกรรมการสมานฉันท์เองก็อาจเป็นดัชนีชี้ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

 

ประชาไทมีโอกาสสนทนากับดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ซึ่งกำลังพยายามนำเสนออีกมุมมองหนึ่ง เป็นมุมมองที่พยายามหาต้นตอของปัญหาและวิธีแก้ไข....เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่า อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นกระบวนการที่อำนวยความยุติธรรมได้จริงหรือไม่...และที่จริงแล้ว อาจไม่ใช่คำถามเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น

                                                         

---------------------

 

ประชาไท          ขอให้อาจารย์มองเรื่องกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน รวมทั้งในภาคใต้

 

ดร. กิตติพงษ์     ต้องมองว่าปัญหาความรุนแรงในลักษณะที่เกิดขึ้นในภาคใต้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย คือมันอาจจะเกิดความรุนแรงประปรายบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดนี้ ไม่ถึงขนาดที่เราเห็นอย่างเป็นรายวัน

 

เรื่องการบังคับใช้กฎหมายของทางการไทยนั้น ก็ต้องกล่าวว่าไม่มีประสบการณ์ในการเข้าไปบังคับใช้กฎหมายในสภาพที่มีลักษณะเฉพาะแบบภาคใต้

 

ประการแรกคือเราไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้ เหตุการณ์ที่เรียกว่าก่อการร้ายในภาคใต้ถือได้ว่ามีลักษณะเฉพาะซึ่งต่างจากการก่อการร้ายในส่วนอื่นในโลก เช่น ในลอนดอน ในนิวยอร์กก็ไม่

 

เหตุการณ์ในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะ เพราะว่าประชาชน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายมลายู พูดภาษามลายูคล่องกว่าภาษาไทยพื้นเมืองด้วยซ้ำ และอยู่ในที่นั้นมาเป็นเวลายาวนาน มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน มีความภาคภูมิใจ

 

เพราะฉะนั้นต้องมองว่าปรากฏการณ์ในพื้นที่ภาคใต้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทย ประเทศไทยไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน นี่คือข้อสังเกตข้อแรก

 

ข้อที่สองก็คือว่า กระบวนการยุติธรรมของเราโดยภาพรวมแม้กระทั่งในพื้นที่อื่นๆด้วย ก็เป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะคุ้นเคยในการใช้อำนาจมาเป็นเวลายาวนาน คือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นอาชญากรรมเกิดขึ้น ก็จะมีบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประเทศที่พัฒนาไปแล้วก็จะคำนึงเรื่อง สิทธิส่วนบุคคล เรื่องการใช้กฎหมายซึ่งต้องระวังอย่างจริงจัง

 

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมา มีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นมาโดยตลอด อาทิเช่น ใช้อำนาจที่รุนแรงเกินสมควร การดำเนินการต่างๆซึ่งเป็นไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมายโดยแท้ แม้ในขณะนี้ก็ตาม มันมีปัญหามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาที่ภาคใต้เกิดขึ้น ก็ย่อมมีกลุ่มคนซึ่งไม่เข้าใจสิ่งที่ผมพูดตอนแรก และคุ้นเคยกับการใช้แนวทางแบบเดิม ตรงนั้นก็คือต้นเหตุของปัญหา

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ก็คือ ปัญหาปกติที่เกิดขึ้นตลอดมาในกระบวนการยุติธรรมซึ่งคุ้นชินกับแนวทางในการดำเนินการแบบเดิมและนำไปสู่การใช้อำนาจโดยไม่ชอบและไม่ได้คาดคิดว่ามันจะขยายผลมาถึงขนาดนี้ได้

 

 

 

อาจารย์กำลังเน้นที่กระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนหรือเปล่า

 

ความจริงมองทั้งกระบวนการ แต่กระบวนการสอบสวนสืบสวนไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นกระบวนการแรกที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ประชาชนมีปัญหาเรื่องความไม่คุ้นเคยกับประบวนการยุติธรรม เช่น เรื่องของการไปติดต่อราชการ ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น การไต่สวนการตาย ญาติพี่น้องตัวเองตายแท้ๆ ก็มีหมายศาลเรียกก็ให้ไปไต่สวนการตายที่ศาล ซึ่งเป็นการไต่สวนการตายของญาติของตัวเองซึ่งอาจจะเสียชีวิตไปโดยพนักงานอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ คนที่ไปที่ศาลเองก็ยังไม่รู้เลยว่าไปในฐานะอะไร ไม่เข้าใจ จะถูกจับรึเปล่า ไปเป็นจำเลยรึเปล่า จะถูกดำเนินคดีหรือ ประชาชนไม่เข้าใจข้อหา

 

ปัญหานี้เกิดจากมิติของสภาพพื้นที่ มิติของการไม่เคยให้ความสำคัญ และเคยชินกับการใช้วิธีคิดแบบเดิม รัฐเข้าไปใช้อำนาจ เป็นเรื่องของพื้นที่การสืบสวนสอบสวนอาจทำให้ก่อปัญหา

 

มันเริ่มจุดนี้และขยายผลเพราะมันมีเชื้อเยอะแยะในพื้นที่ ความไม่ยุติธรรมที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน และสิ่งที่เราก็ทราบกันอยู่จึงเกิดปัญหาลุกลามไป

 

ทีนี้พออยู่ในจุดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมต้องดูว่าคนเข้าใจหรือไม่ ถ้าเข้าใจก็ต้องมองว่าในสถานการณ์แบบนี้ต้องยกระดับมาตรฐานกระบวนยุติธรรมให้สูงกว่าปกติ  เพื่อสร้างความไว้วางใจ

 

ส่วนคนที่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่าเวลาอย่างนี้ต้องเพิ่มอำนาจใช้ให้เด็ดขาด ซึ่งก็ถือว่าเป็นหวังดีทั้งสองฝ่าย ผม พยายามมองมองแบบไม่ได้เป็นนักการเมือง พยายามมองในจุดที่ทั้งสองฝ่ายมองในมุมของตัวเอง ก็อยากให้สองฝ่ายเข้าใจกัน ทำอย่างไรจึงแก้ปัญหาตรงนี้ได้

 

 

แล้วนำมาสู่สิ่งที่อาจารย์นำเสนอต่อกอส.อย่างไร

                  

ใน กอส. สิ่งที่ผมรับผิดชอบมาคือเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีจุดยืนค่อนข้างชัดเจนว่าเราจะยกระดับกระบวนการยุติธรรมพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม เพราะเราไม่ได้มองว่าเป็นการปัญหาอาชญากรรมปกติ แต่เป็นการสลายเงื่อนไขการสร้างแนวร่วมของผู้ที่ไม่หวังดี

 

ถ้าเรามองตามนั้นการใช้กระบวนการยุติธรรมซึ่งผู้ไม่หวังดียั่วยุให้เกิด เขาก็หวังผลว่าจะใช้กระบวนยุติธรรมหรืออำนาจรัฐไปเปะปะกระทบคนนั้นคนนี้ ก็ขยายผลสร้างแนวร่วมได้

 

ฉะนั้นจุดยืนของ กอส. และจุดยืนของคณะศึกษามองว่าเราต้องทำตรงข้าม เราต้องมองว่ากระบวนการยุติธรรมตรงนี้ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมให้มากที่สุด เพื่อที่การบังคับใช้กฎหมายจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่

 

คนที่เป็นกลางๆ ซึ่งเป็นไทยมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่มานานจะได้ไม่รับผลกระทบไปด้วย และก็จะได้มองว่ากฎหมายต้องเข้าไปจัดการ คนที่สร้างปัญหา แต่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมเข้าไปแก้ปัญหาแล้วกระทบคนที่ไม่รู้เรื่อง ไปสร้างความไม่พอใจให้คนที่เขาไม่ได้มีแนวคิดเข้าข้างผู้ก่อปัญหาแต่ถูกกระทบไปด้วย และอาจทำให้เขาเอาใจออกห่างไปเลย จุดยืนเราอยู่ตรงนั้น

 

ก็เข้าไปทำร่วมกับทางคณะศึกษาวิจัยร่วมกับดร. จุฑารัตน์ (เอื้ออำนวย-คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็เข้าไปศึกษาโดยลงไปในพื้นที่ด้วย พูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง ทำโฟกัสกรุ๊ปด้วย ศึกษาเอกสารทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้

 

ตรงนี้ก็เป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ เราไม่มีข้อมูลยืนยัน ฟังฝ่ายหนึ่งพูดแบบหนึ่ง อีกฝ่ายก็พูดอีกแบบหนึ่ง เราก็พยายามประเมิน ตั้งแต่ฝ่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้ก็หวังจะได้ข้อเท็จจริงที่ยืนยันในสภาพการณ์

 

ผมเชื่อว่าการลงไปในพื้นที่ ในสภาพของข้อเท็จจริง ฝ่ายที่บังคับใช้กฎหมายก็ย่อมมองว่าเกิดปัญหาแยกดินแดนแล้วนะ ต้องเข้าไปใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนทำไมกันตอนนี้ ต้องเปิดโอกาสให้กฎหมายทำความสงบเรียบร้อยให้ได้ ก็มีมุมมองนี้อยู่จริง

 

ในขณะที่คนที่ลึกซึ้งกับปัญหาก็จะมองว่าทำแบบนี้ยิ่งเข้าทางฝ่ายตรงข้ามสิ ยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามขยายผลได้มากกว่าเดิม เราก็เห็นปัญหานี้อยู่จริง และเมื่อเราเข้าพบเจอสถานการณ์เช่นนี้ เราก็ต้องเสนออย่างเป็นระบบ ว่าเราควรต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง

 

 

พอจะบอกได้หรือไม่ว่า ผลรวมและข้อเสนอคร่าวๆต่อรัฐบาลเป็นอย่างไร

 

ผมเองยังไม่ได้อ่านงานวิจัยที่สรุปมากนัก นี่เป็นความเห็นของผม เพราะผมเป็นที่ปรึกษาและผู้บังคับทิศทางการวิจัย

 

ในมุมผมมอง ประการแรกต้องยกระดับกระบวนการยุติธรรมอย่างที่พูดไปแล้ว ประการที่สองคิดว่าต้องสร้างความเป็นเอกภาพของการบังคับใช้กฎหมายให้ชัดเจน อาจจะทำได้สองทางคือทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเข้าใจตรงกันทุกเรื่อง

 

หรือไม่ก็อาจจะต้องปรับเลย ก็คือมีหน่วยพิเศษ มีผู้รับผิดชอบชัดเจนจะเป็นใครก็แล้วแต่ เข้าไปดูอย่างเบ็ดเสร็จ หมายความว่าทีมงานที่เข้าไปดูการบังคับใช้กฎหมายต้องเข้าใจตรงกัน คือไม่ใช่ว่าทีมงานที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายไม่รู้เลยว่ามุสลิมเขาคิดยังไง หรือว่ามีปัญหามายาวนานอย่างไร ส่งคนจากข้างนอกเข้าไปไม่รู้เรื่องอะไรเลย...ปัญหามีแน่นอน

 

การที่มีหน่วยเฉพาะหรืออบรมคนที่อยู่เดิมให้เข้าใจปัญหาตรงนี้เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นจะมีทั้งประเด็นเรื่องของเอกภาพของการปฏิบัติ

 

สมมติว่ามีหลายหน่วยเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างตำรวจพื้นที่ ตำรวจในระดับชาติ ทหาร ดีเอสไอ ภาครัฐพยายามดำเนินการอยู่แล้ว แต่ว่าจากมุมมองที่เข้าไปมันมีความจำเป็นที่เร่งด่วนอะไร ในเชิงการศึกษาวิจัยพบว่าจะต้องมีเอกภาพชัดเจน เพราะถ้ามีเอกภาพมันกำหนดนโยบายได้ นโยบายมันเป็นยุทธศาสตร์ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่การบังคับกฎหมายในกรณีทั่วไป ไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นก็ทำเหมือนปกติหมด โดยไม่คำนึงว่าคือกับดักหรือเปล่า คือการสร้างความแตกแยกหรือเปล่าเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงภาพใหญ่หรือเปล่า สำคัญมาก จะทำโดยวิธีอะไร จะทำโดยวิธีเอาคนมาฝึกอบรมด้วยผู้บังคับบัญชาที่ชัดเจน หรือโดยมีหน่วยพิเศษก็ได้ เอกภาพก็จะมีตั้งแต่ระดับนายใหญ่ที่สั่งการ จนถึงผู้ปฏิบัติในพื้นที่ถ้าเข้าใจตรงกันหมด

 

 

ในส่วน พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็มีการอธิบายเช่นกันว่า เป็นการบูรณาการกฎหมาย และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้ใน พรก. จะถือว่าเป็นสร้างเอกภาพในการปฏิบัติการได้หรือไม่

 

เรื่องพ.ร.ก. ขอพูดตอนท้ายเพราะเดี๋ยวเป็นจะประเด็น เพราะ พ.ร.ก. มีประเด็นในเรื่องของความเหมาะสมในวิธีการในการออก การที่จะนำไปใช้จริง ก็มีการวิจารณ์เยอะแล้วผมเป็นผู้ปฏิบัติ อยากให้เหตุการณ์มันดีขึ้นเดี๋ยวอาจจะพูดเรื่องนี้อีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าในมุมของผมมองว่าการที่ไม่มีเอกภาพในการใช้กฎหมายมันส่งสัญญาณไม่ถูกต้อง ว่าเอ๊ะ! คดีนั้นคนที่ดำเนินการเข้าใจเรื่องพวกนี้หรือยัง สอดคล้องกับภาพใหญ่ของประเทศในการแก้ปัญหาหรือไม่

 

เรื่องนี้สำคัญมาก เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่เข้าใจปัญหาหรือยัง มองตรงยุทธศาสตร์ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างกระจ่างหรือยัง หรือมองว่าคือการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ซึ่งมันจะโยงไปถึงข้อสังเกตที่ผมพูดแต่แรก เพราะฉะนั้นเอกภาพมันต้องเกิด และมีความเข้าใจพอสมควรในสายการบังคับบัญชา

 

ส่วนที่สอง พอจะช่วยได้บ้างในเรื่องความห่วงใยพี่น้อง กองกำลังจะ Task Force (ปฏิบัติภารกิจ) ผมไม่อยากใช้คำว่ากองกำลัง มันดูรุนแรง คือ คนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหน่วยนี้จะ Task Force อะไรก็แล้วแต่ มันน่าจะมีมิติของเรื่องการดูแลผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้เกี่ยวข้องไปในทีเดียวกัน

 

อย่างเช่นถ้าเรามองเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายที่จะไปทำอะไรกระทบกับผู้ต้องสงสัย ก็ต้องมองฝ่ายผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยด้วย ว่าเขาควรที่จะต้องได้รับการให้หลักประกันที่ดี ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ทั่วทั้งประเทศในขณะเดียวกัน

 

ในเวลานี้ทั่วทั้งประเทศเราทำไม่ได้ แต่เราสามารถทำได้ในสามจังหวัดภาคใต้ ถ้าเรามองว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องลักษณะพิเศษ Task Force ตรงนี้ก็ต้องมีมิตินี้ด้วย การส่งหน่วยลงไปทำก็ต้องมองว่า การจับกุมเขาทำตามหลักประกันพื้นฐานซึ่งควรกระทำหรือยัง

 

ความจริงตรงนี้ไม่ได้เรียกร้องมาก เพียงทำตามหลักประกันสากล เพียงแต่ว่า พื้นที่อื่นๆเราก็แบบไทยๆ ทำมายังไงก็คุ้นไปอย่างนั้น ไม่ได้มองเรื่องสิทธิพื้นฐานของบุคคลเป็นเรื่องใหญ่...ตรงนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเอาบทเรียนเป็นสิ่งเรียนรู้เพื่อจะปรับประเทศ

 

คือไม่ใช่ว่าเราไม่ได้อะไรจากการนี้ เพราะฉะนั้น เอกภาพในการปฏิบัติก็จะโยงไปถึงมิติในเรื่องของความเข้าใจในเรื่องของผลกระทบ เข้าใจในเรื่องของการที่ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิ์ในการต่อสู้คดี สิทธิ์ในการประกันตัว การได้ทนายความเหมาะสมการได้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างดี ถ้าสมมติว่าคนทั้งระบบที่เป็น Task Force เข้าไปแบบนี้เนี่ย ก็เชื่อว่าถ้าทำก็จะตัดข้อครหาในเชิงว่าทำไปเป็นอะไร ข้อมูลอะไร เกิดอะไรขึ้น ก็เป็นจุดที่คิดว่าเราคงต้องไปนำเสนอ

 

ฟังดูอาจไม่มีอะไรใหม่ แต่ถ้าลองเข้าไปในพื้นที่จริงๆ หรือคุยกับคนเกี่ยวข้องก็จะเห็นความแปลกแยกของสองความคิดนี้ ชัดเจน คนบังคับกฎหมายก็จะมีความเครียด เพราะเขาฆ่ารายวัน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เกิดความไม่พอใจ คนที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนก็พูดไป ก็มีคนโต้ว่าคนพูดก็มาอยู่เองสิ ไปแก้เองสิ นี่คือความไม่เข้าใจ ถ้ามองว่านี่คือยุทธศาสตร์ในการเอาชนะผู้ไม่หวังดีก็ต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเกิดสิทธิมนุษยชนจ๋ากันตอนนี้ นี่คือยุทธศาสตร์ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม มันคือสงครามแย่งชิงประชาชน เป็นแนวคิดต้องเอาชนะเพื่อความสงบสุข ในกรอบความคิดตรงนี้ถ้าดำเนินไปได้ เรื่องปลีกย่อยก็ไม่ยากนัก ถ้าเห็นตรงกันในประเด็นหลักๆ ที่ผมพูด

-------------------


บทกวีของ "นายผี" อดีตอัยการผู้บ่ายหน้าสู่แนวป่า แต่งไว้หลายสิบปีผ่านมา.....กระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมได้เพียงใด ก็ยังคงเป็นคำถามที่เบื่อหน่ายไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี "ข้อสอบใหญ่" ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ทบทวนถึงกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผ่านมา มองในแง่ดี ข้อสอบใหญ่จากภาคใต้ ก็อาจเป็นโอกาสสำหรับการ "เปลี่ยนไปในทางที่ดี" ของกระบวนการยุติธรรมในทุกพื้นที่ของไทยได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท