Skip to main content
sharethis

ปี2502-2507                   กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการโดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง         เพื่อเจรจาจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดิน และทรัพย์สินด้านหลังป้อมมหากาฬตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2502 ซึ่งมีที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 21 แปลง และทางกรุงเทพมหานครสามารถติดต่อขอซื้อที่ดินได้ 2 แปลง ในปี พ.ศ.2503 และปี พ.ศ.2507


ปี2515                           ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดซื้อที่ดินบริเวณหลังป้อมมหากาฬ อำเภอพระนคร" มีเทศมนตรีเทศบาลนครหลวง เป็นประธาน คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการเจรจาจัดซื้อที่ดินซึ่งในขณะนั้นเหลือจำนวนที่ดินอีก 19 แปลง และอาคารอีกจำนวน 44 หลัง และสามารถซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 8 แปลง (รวมที่ซื้อไว้เดิมอีก 2 แปลง เป็น 10 แปลง) อาคารจำนวน 8 หลัง ต่อมากระทรวงการคลังได้มอบที่ดินให้เทศบาลเพิ่มอีก 1 แปลง จึงยังคงเหลือที่ดินที่จะต้องเจรจาจัดซื้ออีกจำนวน 10 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 36 หลัง


ปี2527                           มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนป้อมมหากาฬเป็นครั้งแรก โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 1 ปี คณะกรรมการชุดแรกมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 7 คน โดยมี นายบุญช่วย (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นประธานชุมชน


ปี2532                           กรุงเทพมหานครได้ส่งนักศึกษาเข้ามาในชุมชนประมาณ 10 คน เพื่อมาสำรวจ            พื้นที่ และบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนอย่างละเอียด ภายในระยะเวลา 5 วัน


ปี2535                           ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะทำ


การเวนคืนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะ และอนุรักษ์โบราณสถาน ในการดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โดยได้ทำการสำรวจ และประเมินราคาที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้ตรงตามราคาที่เป็นจริง ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาราคาค่าทดแทนที่ดิน และอาคารที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนั้น ซึ่งสามารถเจรจาทำความตกลงกับเจ้าของที่ดินที่เหลือทั้งหมด 10 แปลงได้ ส่วนอาคารสิ่งปลูกสร้างในช่วงนี้ มีจำนวนเพิ่มจากเดิมเป็น 92 หลัง ซึ่งก็สามารถเจรจาทำความตกลงกับเจ้าของได้ทั้งหมดเช่นกัน โดยเจ้าของที่ดินได้รับเงินค่าทดแทนไปครบถ้วน 100% ส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของเกือบทั้งหมดได้ทยอยทำสัญญา และรับเงินค่าทดแทนงวดแรกจำนวน 75% สำหรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 25% กรุงเทพมหานครได้นำฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ซึ่งในส่วนนี้จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อเจ้าของอาคารได้ทำการรื้อถอนอาคาร และสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว คงมีเจ้าของอาคารเพียง 2 นาย ที่ไม่ได้มาทำความตกลง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน


1 ตุลาคม 2536                สำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ลงชื่อนายชวนหลีกภัย นายกรัฐมนตรี


ปี 2536                          กรุงเทพมหานครส่งจดหมายแจ้งให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬไปรับเงินค่าทดแทน อาคาร โดยค่าทดแทนอาคารจะอยู่ระหว่างรายละ 5 หมื่นบาท ถึง 5 แสนบาท


                                    ถ้าชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ยอมรับค่าเวนคืนภายใน 3 วัน จะนำรถมาไถให้หมดทั้งชุมชน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวชุมชนจึงยอมรับเงินค่าเวนคืนงวดแรกจำนวน 75% บางส่วนมีที่อยู่รองรับที่ดีแล้ว จึงรับ 100%แล้วรื้อถอนบ้านออกไปอยู่ที่อื่น


ปี2536-2537                   กรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะทำงานรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และได้ส่งตัวแทนของชุมชน และการเคหะแห่งชาติเข้าเป็นคณะทำงานด้วย                     


ปี 2538                          ชาวบ้านในชุมป้อมมหากาฬทำสัญญา และรับเงินค่าทดแทนเกือบทั้งหมด คงมีเพียงเจ้าของอาคาร 2 รายที่ไม่ได้มาทำความตกลง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน 100% แล้วเช่นกัน


ปลายปี 2538                   การเคหะแห่งชาติลงมาในชุมชนเสนอที่ดินของการเคหะฯ ที่ถนนฉลองกรุง เขตมีนบุรี เพื่อจัดเป็นสถานที่รองรับการรื้อย้ายของชาวบ้านในชุมชน มีชาวบ้านจำนวน 44 รายยื่นความจำนงตกลงที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในที่ดินของการเคหะ ในจำนวน 44 รายนี้ 14 รายได้ทำสัญญาดาวน์บ้านตามโครงการของการเคหะฯ ส่วนที่เหลืออีก 30 รายยังขอดูท่าที การเคหะฯ แจ้งว่าในอนาคตระบบสาธารณูปโภคทุกอย่างจะพร้อม


ปี2539                           14 ตุลาคม ปี 2539 พระราชกฤษฎีกาเวนคืนเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 4 ปีได้หมดอายุความลง ระยะเวลาผ่านไป ชาวบ้านในชุมชนไปดูที่ดินในโครงการของการเคหะฯ ที่ฉลองกรุง พบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวยังไม่มีการพัฒนาในระบบสาธารณูปโภค ประกอบกับความไม่พร้อมของชุมชนที่จะต้องย้ายไปอยู่อาศัยจากวิถีชีวิตแบบเดิม


ปี2540                           ชาวบ้านในชุมชนเข้าไปคุยกับทางการเคหะแห่งชาติเพื่อให้การเคหะฯ ลงมาดูแล หลังจากนั้นการเคหะฯ กลับลงมาในชุมชนอีกครั้งพร้อมด้วยแผนผังโครงการที่ฉลองกรุง เพื่อให้ชาวบ้านได้เลือกจับจอง โดยทางการเคหะฯ สัญญาว่าสาธารณูปโภคจะพร้อมทันที่ที่ชาวบ้านเข้าไปก่อสร้างบ้านในพื้นที่


ปลายปี2540                    การเคหะฯ แห่งชาติเปลี่ยนสถานที่ส่งเงินผ่อนชำระค่าผ่อนดาวน์จากเดิมที่ธนาคารทหาร สาขาราชดำเนิน เปลี่ยนมาเป็นที่การเคหะฯ มีนบุรี


ปี2541                           ชาวบ้านในชุมชนกลับเข้าไปดูที่ดินในโครงการของการเคหะฯ อีกครั้งปรากฏว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านถ่ายรูปพื้นที่ของโครงการฯ แล้วนำกลับเข้ามาปรึกษาหารือกันภายในชุมชนถึงปัญหาการไม่พัฒนาของโครงการดังกล่าว ประกอบกับความไม่พร้อมของชาวบ้านในชุมชนที่จะต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปไกลจากวิถีชีวิตในแบบเดิม ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้เริ่มมีการติดต่อประสานงามความช่วยเหลือจากชุมชนศิริอำมาตย์   ซึ่งประสบกับปัญหาการเวนคืนที่คล้าย


คลึงกัน เริ่มมีคนจากคลองเตย จากสถาบันพัฒนาชุมชนเมือง (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในปัจจุบัน) เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการต่อสู้


ปี2538-2541                   ชาวบ้านในชุมชนยื่นเรื่องต่อทางกรุงเทพมหานครขอผ่อนผันระยะเวลาการรื้อย้ายไว้ชั่วคราว โดยหยิบยกเอาปัญหาเรื่องการศึกษาของบุตรหลานในชุมชนเป็นเหตุผลในการขอผ่อนผัน


กลางปี 2541                   สถาบันพัฒนาชุมชนเมือง และองค์กร NGOs ต่างๆ ได้เข้ามาให้ความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน


ปลายปี 2541                   ชาวบ้านจัดทำผังบ้านของชุมชนแบบที่ 1 ร่วมกับสถาปนิกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมทั้งเสนอผังชุมชนกับทางกรุงเทพมหานครร่วมกับชุมชนอีก 7 ชุมชน


ปี2542                           มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาใหม่ทดแทนคณะกรรมการชุมชนชุดเดิมภายหลังจากที่ชุมชนถูกถอนสภาพออกจากการเป็นชุมชนโดยทางสำนักงานเขตพระนคร  เมื่อปี 2534 คณะกรรมการชุมชนชุดใหม่   ประกอบไปด้วยคณะกรรมการทำงานจำนวน 11 คน และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ 9 คน ซึ่งกรรมการทั้ง 2 ชุดดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี


2 มีนาคม 2542                เกิดคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ชุดแรกภายใต้คำแนะนำของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมี นางนงลักษณ์ วรมหาคุณ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม ในปีเดียวกันนี้ชุมชนป้อมมหากาฬได้ข้อสรุปแนวความคิดขอแบ่งพื้นที่เช่าในการปลูกสร้างบ้าน พร้อมทั้งได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อกรุงเทพมหานคร ในระหว่างนั้นทางชุมชนได้ทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ตามแผนข้อเสนอที่ได้ยื่นเอาไว้ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มเข้ามาทำข่าว


ปี2543                           นายพิจิตร รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นประกาศ   แนวความคิด "คนสามารถอยู่คู่กับคลองได้" ชุมชนจึงได้ทำโครงการพัฒนา "คนอยู่ร่วมกับคลอง" ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมคูคลอง นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ เข้าเยี่ยมดูรายละเอียดชุมชน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นพร้อมทั้งรับข้อเสนอการขอแบ่งปันพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นต่อมานางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ได้เสนอที่ดินอีกแปลงในพื้นที่บางแวก เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ให้เป็นพื้นที่รองรับการรื้อย้ายของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬปฏิเสธข้อเสนอ เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก โดยยังคงยื่นยันในข้อเสนอเดิม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวชาวบ้านในชุมชนมีการจัดสัมมนาในเวทีต่างๆ


 


ปลายปี 2544                   นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และองค์กร NGOs ต่างๆ เริ่มเข้ามาในชุมชนเพิ่มมากขึ้น


กุมภาพันธ์ 2546               กรุงเทพมหานครติดป้ายประกาศแจ้งกำหนดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในชุมชนชาวบ้าน 104 รายยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาอำนาจในการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนของกรุงเทพมหานคร ในบริเวณพื้นที่โครงการระยะที่สอง ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ปี2535 ศาลปกครองกลางรับพิจารณาวินิจฉัย พร้อมทั้งสั่งระงับการรื้อย้ายไว้ชั่วคราว 30 วัน


12 พฤษภาคม 2546          ตัวแทนชุมชนส่งจดหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาแก่คณะกรรมมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอร้องให้คณะกรรมการชุดนี้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ


16 พฤษภาคม 2546          คณะกรรมมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติย้ำเตือนรัฐบาลไทยให้ทำตามสนธิสัญญานานาชาติ และหยุดการใช้ความรุนแรงในแผนการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ


31 พฤษภาคม 2546          จัดเวทีการสัมมนา "ทางแพร่งแห่งการพัฒนา" ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      


25 สิงหาคม 2546             จัดเวทีการสัมมนา "สิทธิชุมชนป้อมมหากาฬกับการเมืองเรื่องการท่องเที่ยว อนาคตตัวแสดงนอกภาครัฐในกระบวนการนโยบายสาธารณะ" ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กันยายน 2546                 ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษายกฟ้อง ชาวบ้านในชุมชน 91 ราย ยื่น


อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด


14 มกราคม 2547             ชาวบ้านในชุมชนพบกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครในประเด็นการเข้าปรับปรุงพื้นที่โครงการระยะที่หนึ่ง จำนวน 2 ไร่


20 มกราคม 2547             กองทัพบกตามการว่าจ้างของกรุงเทพมหานครเข้าปรับพื้นที่ตามโครงการระยะที่หนึ่ง


25 มกราคม 2547             ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬจัดกิจกรรมส่งมอบสวนให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อเถิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 6 รอบ


21-22 กุมภาพันธ์ 2547     ชาวบ้านจัดสัมมนาภายในเพื่อทบทวนปัญหา และแนวทางตลอด


ระยะเวลาที่ผ่านมา ที่จังหวัดระยอง


12  สิงหาคม  2547           กรุงเทพมหานคร เปิดสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ (ไม่เป็นทางการ)


4 พฤศจิกายน  2547         เปิดประชุมเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร" และพิจารณาข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยผู้ว่าฯ นายอภิรักษ์กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ 1 ชุด เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและไม่มีนโยบายไล่รื้อ


2  ธันวาคม  2547             กรุงเทพมหานครได้เปิดประชุมครั้งที่ 1 โดยมีคณะกรรมการชุดใหม่ ร่วมประชุมพร้อมเสนอชุมชนนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อันประกอบด้วย ชุมชนเพชรคลองจั่น ชุมชนโรงหวาย ชุมชนหลวงวิจิตร ชุมชนป้อมมหากาฬ ( 4 ชุมชนนำร่องในพื้นที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร) และกรณีชุมชนอื่นๆ


 


ปีพ.ศ. 2548


1  กุมภาพันธ์  2548          นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกิติศักดิ์  สินธุวณิชรองเลขาธิการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในกรุงเทพมหานคร ณ  ห้องรับรองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร


24  มีนาคม  2548            ชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) จัดเวทีอภิปราย เวทีสังคมสนทนา เรื่อง "ความลวงของความจริง ตอน ชุมชนแถลง กำแพงฯ พูด"โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรุงเทพมหานครหลายหน่วยงานร่วมด้วย       


29  มีนาคม  2548            ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ยื่นหนังสือต่อประธานในการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ท่านรองผู้ว่าฯ เพ็ญศรี  พิชัยสนิธ เพื่อติดตามผลและขอให้เปิดประชุม


23 พฤษภาคม  2548         ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมผู้แทนจากชุมชนต่างๆ ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชนกรุงเทพมหานคร  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครเปิดประชุมเพื่อติดตามผลถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย


22  มิถุนายน  2548          ความพยายามครั้งที่ 3 ที่ชุมชนพยายามติดตามผลเรื่องการยื่นหนังสือเพื่อขอเปิดประชุม


26  กรกฎาคม  2548         ความพยายามครั้งที่ 4 ที่ชุมชนพยายามติดตามผลเรื่องการยื่นหนังสือเพื่อขอเปิดประชุม


2  สิงหาคม  2548            เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เข้ามาชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมปิดหนังสือประกาศ จากกรุงเทพมหานคร เข้าสำรวจชุมชน เพื่อประเมินราคา  ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายให้กับชุมชน โดยอ้างถึงมติคณะกรรมการปรองดอง


8  สิงหาคม  2548            กรุงเทพมหานครเปิดประชุมร่วมกับคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อประชุมหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามข้อเสนอที่ชุมชนได้ยื่นไป


                                                แต่ปรากฎว่า กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพมหานครได้สรุปว่าชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าเป็นมติคณะกรรมการปรองดอง


18  สิงหาคม  2548           เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครหลายหน่วยงาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 นาย เข้าพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสำรวจประเมินชุมชน ทั้งนี้ชุมชนฯ ได้อธิบายถึงข้อเสนอและหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ซึ่งผู้ว่าฯ ได้แต่งตั้ง แต่ในกระบวนการเจรจากลับล้มเหลว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่รับฟังเหตุผลและเข้าดำเนินการสำรวจชุมชนทันที  ดังนั้น ชุมชนจึงยินยอมให้ดำเนินการ โดยเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครได้ทำการปิดประกาศจากกรุงเทพมหานครว่าจะเข้ามาทำการรื้อย้ายชุมชนตั้งแต่เดือนตุลาคม  พ.ศ. 2548  เป็นต้นไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ


ทั้งนี้ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬได้ยื่นแถลงการณ์ การหยุดไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล


24  สิงหาคม 2548            ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากนั้น ผู้ว่าฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พร้อมคณะทำงานได้เดินทางเข้าพบปะกับพี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬ ณ ชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อรับฟังปัญหาและทิศทางแก้ไข โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2548


 



 


                                   


 


                       


 






* รวบรวมสรุป และเรียบเรียงจากเอกสารต่างๆ พร้อมทั้งคำสัมภาษณ์จากแกนนำชุมชนบางคน โดย น.ส.วิภาพรรณ ศิริพรรคชัย (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net