นานาทัศนะนักวิชาการ : กรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อีก 1เดือน ชุมชนป้อมมหากาฬ อีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนาเมืองจะถูกไล่รื้อให้ออกไปจากพื้นที่ หลังจากที่ต่อสู้ยืดเยื้อเพื่อยืนยันสิทธิในการอยู่อาศัยบนพื้นที่เดิมมากว่า 13 ปี โดยเมื่อวันที่ 31 ..ที่ผ่านมา ทาง กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ทำการประชุมคณะกรรมการปรองดอง เพื่อหารือถึงวิธีการดำเนินการไล่รื้อตามกำหนดการใน เดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งหารือถึงกระบวนการเยียวยาชุมชนหลังถูกไล่รื้อไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทาง กทม. กำลังทำให้เกิดขึ้นกลับขัดแย้งกับวิธีการคิดอีกชุดหนึ่งของเหล่านักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศหลายสถาบัน และต่างพากันแสดงความคิดเห็นเมื่อทราบว่า ชุมชนนี้กำลังจะถูกรื้อไปจริงๆ

 

หรือแม้แต่นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเอง ก็รู้สึกขัดแย้งกับนโยบายไล่รื้อ ของกทม.เอง หลังจากลงพื้นที่ในชุมชน ก็ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวผ่านสื่อออกมาแต่ นายอภิรักษ์ ก็ไม่ได้ใช้อำนาจโดยชอบธรรมที่มีเข้ามาจัดการปัญหานี้ด้วยตัวเอง จึงทำให้นโยบายไล่รื้อดำเนินต่อไป 

 

ก่อนถึงวันไล่รื้อ "ประชาไท" จึงขอทบทวนถ้อยคำจากผู้ว่าฯที่มีต่อชุมชนป้อมมหากาฬและคำทัดทานต่างๆจากนักวิชาการหลายๆท่านต่อ กทม.  เพื่อนำ เสนอวิธีคิดด้านการ "รักษา" ชุมชน เพื่อชั่งน้ำหนักกับความคิด "ไล่รื้อ" ของ กทม.  ไปสู่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนโดยเป็นที่ยอมรับในทุกฝ่าย อย่างไม่ขัดแย้งกันดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมานคร กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ชุมชน ป้อมมหากาฬ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 

"ก็เป็นแง่มุมบางส่วนของทางประวัติศาสตร์ที่ทางชุมชนได้อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง คิดว่าเป็นเรื่องที่ทางตัวแทนชุมชนได้นำเสนอและอยากให้พิจารณาว่า ชุมชนจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครยังไง ผมได้เรียนไปว่าจะพิจารณาในมุมตรงนี้ด้วย แต่ว่าบางส่วนก็มีเรื่องข้อกฎหมายที่พิจารณาโดยศาลปกครองสูงสุด แต่จะพยายามพิจาณาหาทางออกร่วมกัน ...

 

...ผมเองจะรวบรวมข้อมูลที่ทางชุมชนได้นำเสนอว่าตรงไหนที่เป็นวิถีชีวิตของคนดั้งเดิมที่มีความเชื่อมโยงขึ้นมา หรือแม้อาจจะเป็นบางส่วนที่เพิ่มเติมหรือทยอยเข้ามาอยู่ใหม่ ก็อาจจะแยกแยะว่าใครได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนป้อมมหากาฬ คิดว่าคงต้องพัฒนาใหม่อยู่แล้ว

 

เพียงแต่ว่า ถ้ามันเป็นในเรื่องที่สามารถอนุรักษ์ในเชิงของวิถีชีวิต รวมทั้งในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารเชิงประวัติศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่อยากจะขอหารือต่อกับอาจารย์หลายท่านที่ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ไว้ จะเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา  แต่ว่าก็เรียนว่าจริงๆแล้วก็มีคำตัดสินของศาลปกครอง ซึ่งผมเองก็ต้องหารือในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ว่าตรงนี้จะมีโอกาสในการที่ร่วมหารือกับทางตัวแทนชุมชน"

 

นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต นักวิชาการจาก คณะสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์

 

"เรื่องกฎหมายมีหลายแง่มุมแล้วแต่ว่าจะตีความ ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้ว ป้อมฯ จะเสียเปรียบก็เสียเปรียบทางด้านกฎหมาย แต่ว่ามันก็มีประเด็นในแง่กฎหมาย ซึ่ง กทม. เองก็ไม่ชัดเจนว่าประเด็นกฎหมายที่เขาพูด เขาเข้าใจ เป็นประเด็นที่ถูกต้องหรือเปล่า

 

เพราะเราก็เห็นหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ กทม.พูดเรื่องกฎหมายมันไม่ถูก เพราะฉะนั้น ในการแปลความด้านกฎหมายคือประเด็นหนึ่ง ถ้าเผื่อ ทาง กทม. ต้องการที่จะหาแง่มุมด้านกฎหมาย เราเคยเสนอไปแล้วว่าทำไมไม่ตั้งคณะกรรมการ เอานักกฎหมายของ กทม. มาคุยกับนักกฎหมายของชุมชน เอานักกฎหมายที่เป็นสถาบันมาด้วยก็ได้ อย่างเช่นสภาทนายความ มาคุยในเรื่องนี้ว่าที่คุณคิดมันถูกหรือเปล่า

 

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า การแก้ปัญหาชุมชนมันพึ่งกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ การดำเนินการทางด้านรัฐศาสตร์ควรจะเข้ามาด้วย เพราะถ้าใช้กฎหมายอย่างเดียวมันก็เข้าข้างข้าราชการ แล้วก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไร มันยุติปัญหา แต่ไม่ได้แก้ปัญหา

 

อีกประเด็นที่คิดว่าสำคัญ คือ อำนาจการตักสินใจ กระบวนการตัดสินใจของคนที่เป็นผู้บริหาร กฎหมายมีจริง แต่เรื่องการตัดสินใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมไม่ได้หมายความว่าละเมิดกฎหมายนะ แต่หมายความว่าใช้กระบวนการตัดสินใจเพื่อพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องเอากฎหมายมาแบกันอย่างเดียว

แล้วอย่าลืมอย่างนึงว่า ผู้ว่า กทม. มีสถานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นจะต้องไปฟังรัฐบาลทุกอย่าง มีของเขตอำนาจการตัดสินใจพอสมควรทีเดียวในเรื่องนี้ ผมอยากเห็นผู้ว่าฯ ใช้ความเด็ดเดี่ยวตรงนี้

 

มีอีกนิดนึง คือว่า เราได้ไปเซ็นสัญญาให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่างประเทศเยอะแยะ แล้ว กทม.เองก็มีโครงการอย่างเช่น ฮิวแมนไนท์ บางกอก แต่ว่าก็ยังมีความคิดในเรื่องการไล่รื้อ มันแปลว่าอะไร อนุสัญญา อิสตันบูล เดคคาเรชั่น ก็มีอยู่ในเรื่องของการอัพเกรดสลัม แล้วก็มีอีกมากมายก่ายกอง แปลว่าเราก็ได้แต่สัก เซ็นๆไปงั้น ให้สัตยาบันไปงั้น แต่ถึงเวลาจริงๆก็ไม่ได้สนใจ นี่ในแง่ของประชาคมสากลต่างประเทศเขาก็มองอยู่ เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย เรื่องคนจนเมือง เรื่องอะไรต่างๆเหล่านี้ "

 

นางสาวกนกรัตน์ เลิศชูสกุล นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

"คือตัวอย่างของเคสป้อมฯ เปรียบเทียบกับชุมชนอื่นๆที่ปัจจุบันกำลังถูกไล่รื้ออยู่ คิดว่า ป้อมฯเป็นปราการด่านแรก ในพื้นที่เขตเกาะรัตนโกสินทร์ ถ้าภายใต้รัฐธรรมนูญ และฐานความเชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็พยายามบอกจะสร้างชุมชนแห่งการคิดร่วมกัน คือป้อมเป็นตัวอย่างที่ประชาธิปัตย์เอง พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญมาก

 

เพราะว่า นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ถ้าเราจะมาคุยกันเรื่องภาคประชาสังคมก็ดี การเมืองอย่างมีส่วนร่วมก็ดี นี่คือตัวอย่างจริงๆ แล้วที่เราเคยบอกว่าประชาชนไม่ตื่นตัว ประชาชนไม่มีจิตสำนึก ประชาชนไม่มีพัฒนาการการมีส่วนร่วม ประชาชนไม่พร้อม แต่นี่คือตัวอย่าง เมื่อประชาชนพร้อม

เนี่ย หน่วยงานทางการเมือง ระบบราชการจะปรับตัวยังไง

 

คือถ้าทำให้เคสของป้อมฯเป็นเคสตัวอย่างได้ เรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเด็นนี้ทุกคนกำลังหาว่าโมเดลของการมีส่วนร่วมที่เป็นจริงได้มันเป็นยังไง เคสป้อมฯเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมากถ้าเมืองไทยจะเริ่มคิด เหมือนอย่างที่ บราซิล ที่ปอเตอเรเก่ หลายคน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวก็ไปศึกษาว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของเทศบาลที่ให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ จะเป็นยังไง

 

คือถ้าผลักดันป้อมเป็นตัวอย่างการมีส่วนร่วมในการวางผังเมือง บอกได้เลยว่า กรุงเทพฯจะกลายเป็นตัวอย่างของโมเดลในการมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองที่น่าสนใจมาก ถ้ากทม. ไม่ฉลาดพอที่จะหยิบเคสนี้มาเล่น ถือว่า กทม. ทำพลาดตั้งแต่เริ่มต้น ในการแก้ไขปัญหาชุมชนกรุงเทพ

 

อีกเรื่องคือ เรื่องอุทยานแห่งการเรียนรู้ ถ้ารัฐบาลพยามส่งเสริม ทีเค พาร์ค คือที่นี่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้จริงๆนะ นักเรียนวชิราวุธ ลงมา นิสิตปริญญาโท นิสิตปริญญาตรี พื้นที่นี้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าพูดถึงชุมชนกับการมีส่วนร่วมการดูแลสวน ถ้ารัฐบาลอยากส่งเสริมุชมชนกับการเรียนรู้ทางการเมือง ที่นี่ถือว่าเป็นที่ที่นักศึกษาลงมามากมาย แล้วสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของเด็กได้เยอมากในเรื่องการเมืองการมีส่วนร่วม "

 

ผศ.จิรภา วรเสียงสุข นักวิชาการ จากคณะสังคมวิทยามานุษยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

"ถ้าจะมองรูปธรรมจริงๆ  การใช้สวนในทางผิดๆเกิดขึ้นแล้ว มีข้อมูลยืนยันว่ามีการใช้สวนในทางผิดๆในตอนกลางคืน โดยที่ไม่มีคนดูแลเป็นอย่างไร ดังนั้นเราโชว์รูปธรรมตรงนี้เห็นเราก็จะเห็นว่าจริงๆแล้วมีคนอยู่มันปลอดภัยและมันได้ใช้ถูกทางกว่าเยอะมาก

 

อีกอย่างคือรัฐบาลท้องถิ่นเวลามองการพัฒนา มองในแง่ความสวยงามเชิงกายภาพ แต่ความจริงแล้ว 13 ปีที่ชุมชนสู้มา เป็นศักยภาพ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หายากมาก พัฒนาขึ้นมาขึ้นมาขนาดนี้แล้วเป็นทรัพยากรที่พัฒนาขึ้นมา เมื่อพูดถึงเรื่องเมืองน่าอยู่ อันนี้เป็นทรัพยากรที่เราต้องการไม่ใช่หรือ

 

ในเรื่องเมืองน่าอยู่ คือคนมีศักยภาพ ในการดูแลตนเอง และดูแลสภาพแวดล้อมของตนเองได้ ทำไมรัฐไม่มองในลักษณะนี้บ้าง"

 

.ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

 

"ผมคิดว่า กทม.สามารถทำให้มีเคสที่จะตัดสินใจว่าชุมชนแบบไหนมีคุณค่าที่ควรรักษา คิดว่าน่าจะเริ่มจากชุมชนป้อมมหากาฬได้ เพราะว่า ป้อมมหากาฬแสดงให้เห็นว่ามีคุณค่า สามารถเป็นรูปแบบที่ใช้กับเกาะรัตนโกสินทร์ได้ด้วย

 

สำหรับผมเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าราชการยอมให้ชาวบ้านป้อมมหากาฬอยู่ต่อ ชุมชนอื่นจะคิดว่าทำไมเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วย แต่ว่าในความจริง ผมไม่คิดว่าชุมชนหลายแห่งอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ถ้าเขาเริ่มด้วยป้อมมหากาฬ ก็จะสามารถบอกมีชุมชนหลายแห่งที่สามารถอยู่ได้ ชุมชนหลายแห่งที่ไม่ควรอยู่

 

ปัญหาคือข้าราชการคิดในปัญหาของนโยบายนามธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของประชาชนแต่ถ้าเขาคิดแต่ละกรณีแยกกัน ก็พิจารณาว่ากรณีนี้เป็นแบบไหน ก็จะสั่งนโยบายแบบมีเนื้อหาจากประสบการณ์ของประชาชน

 

สิ่งที่สำคัญวันนี้คือ ท่านผู้ว่าฯมองชุมชนที่มีสุขภาพ มีคนดี มีความร่วมมือ ชุมชนส่วนใหญ่มาฟังเขา มาคุยกับเขา เขาจะรู้ตรงนี้ว่าเป็นชุมชนที่มีคุณค่าสูงมาก ถ้าเขาปรับเปลี่ยนวิธีสร้างนโยบายและเริ่มคิดในปัญหาของสังคมโดยเฉพาะ ป้อมมหากาฬเป็นเริ่มต้นที่จะดีมาก สิ่งที่สำคัญในเวลานี้คือให้เขาเข้าใจว่าคำปรึกษาของเจ้าหน้าที่ อาจจะไม่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ เขาไม่รู้จักชุมชน มองว่าชุมชนเป็นสิ่งที่รบกวนเขา เขาไม่เข้าใจ ไม่อยากเข้าใจ

 

เพราะฉะนั้นจะต้องให้ ผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯที่แท้จริง เขาจะต้องใช้อำนาจเป็นผู้ว่าที่แท้จริง คิดว่าเป็นโอกาสอันดี ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ ผมจะยกตัวอย่างที่เข้มแข็งมาก คิดว่าไม่มีชุมชนเข้มแข็งกว่าชุมชนป้อมมหากาฬ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมรู้ว่าราชการส่วนใหญ่อ่านกฎหมายในมุมมองของเขา แล้วมีมุมมองว่าเขารู้จักกฎหมาย ประชาชนไม่รู้จักกฎหมาย ดังนั้นนักวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายจะต้องเริ่มพูดถึงความหมายหลากหลายว่า อ่านอย่างต่างกันได้ คิดว่าเป็นจุดสำคัญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท