Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการสัมมนาเรื่อง สงขลา : ศูนย์กลางยางพาราโลก จัดโดยจังหวัดสงขลาร่วมกับศูนย์วิจัยยางสงขลา มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการใน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนองค์กรชาวสวนยาง


 



 


นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ตัวแทนบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (บริษัทร่วมทุน 3 ชาติ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) บรรยายเรื่อง ประโยชน์ของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราว่า สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน จนถึงปี 2549 มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพาราในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไม่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2547 มากนัก เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง ตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย


 


นายเยี่ยม กล่าวว่า สภาพดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราของจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมัน ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้ราคายางพาราในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.62 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคายางสังเคราะห์อยู่ที่กิโลกรัมละ 1.61 ดอลล่าร์สหรัฐ


 


"ยกเว้นราคาน้ำมันปรับตัวสูงจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ถึงจะทำให้ราคายางพาราตกอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้บริษัทร่วมทุนฯ เอง จึงไม่ต้องการให้ราคายางพาราสูงเกินไป เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ขณะนี้ผู้บริโภคยางพาราในกลุ่มประเทศยุโรป กำลังศึกษาวิจัยและพัฒนายางยังเคราะห์อยู่ด้วย ถ้าราคายาง


พาราสูงเกินไป ผู้บริโภคจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทน" นายเยี่ยม กล่าว


 


นายชัยรัตน์ ถาวโรฤทธิ์ ผู้จัดการส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ บรรยายเรื่องทิศทางตลาดยางในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ปริมาณความต้องการยางแผ่นรมควันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยมีปัจจัย 3 ประการ คือ กฎหมายแรงงานในประเทศยุโรป ที่ห้ามแรงงานแบกของเกินกำหนด เช่น ห้ามแรงงานยกของเกิน 32 กิโลกรัม ซึ่งอาจถูกนำมาเป็นเงื่อนไขไม่รับซื้อยางได้


 


นายชัยรัตน์  กล่าวว่า ประการต่อมา คือ เครื่องจักรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพารารุ่นใหม่ รองรับยางแท่งมากกว่ายางแผ่นรมควัน เพราะฉะนั้น ความต้องการยางแผ่นรมควันจึงลดลงไปด้วย ประการสุดท้าย คือ วิถีชีวิตของเกษตรกรที่ไม่นิยมทำยางแผ่น แต่นิยมขายน้ำยางข้นมากขึ้น เพื่อความคุ้มค่าในการใช้แรงงาน ส่วนความคุ้มค่าระหว่างการปลูกปาล์มน้ำมันกับยางพารานั้น ปาล์มน้ำมันต้องการน้ำมากกว่ายางพารา และต้องทำสวนขนาดใหญ่จึงจะคุ้มทุน


 


นายสมพร บรรยายพิเศษเรื่องจังหวัดสงขลาเอื้อต่อธุรกิจยางพาราอย่างไรว่า ขณะนี้สำนักงานวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสงขลา กำลังจัดตั้งศูนย์ข้อมูลยางพารา มีภารกิจรวบรวม วิเคราะห์ วิจัย และจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราทุกด้าน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกของจังหวัดสงขลา เพราะฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนายางพารา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net