Skip to main content
sharethis

"ทางเครือข่ายผู้ใช้ยาฯ จำเป็นต้องดำเนินการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ ในวันที่ 25 ส.ค.ศกนี้ เวลา 13.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" นายเสรี จินตกานนท์ ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ระบุ


 


นายเสรี กล่าวถึงการออกมาคัดค้านโครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียฯ ว่า เพราะที่ผ่านมาทางคณะผู้วิจัยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของทางคณะทำงานติดตามการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ฯ เลย  ทั้งไม่พยายามที่จะหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของโครงการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ฯ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมตามที่ทางคณะทำงานมีความเป็นห่วงและดำเนินการเรียกร้อง


           


"ที่ผ่านมาทางคณะทำงานฯ ได้พยายามที่จะบอกถึงความห่วงใย และจุดยืนที่ชัดเจนว่าพวกเราไม่มีเจตนาในการที่จะคัดค้านการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ฯ  ตรงกันข้ามพวกเรากลับต้องการสนับสนุน และอยากเห็นการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ฯ ครั้งนี้ เป็นการพัฒนารูปแบบการศึกษาวิจัยฯ และการให้บริการป้องกันการติดเชื้อฯ และดูแลรักษาเอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีด โดยใช้แนวคิดการลดอันตราย และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ใช่การศึกษาวิจัยฯ ที่มุ่งหวังแต่เพียงผลของการศึกษาวิจัยฯ โดยไม่คำนึงถึงชีวิต อันตราย และความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของผู้ร่วมโครงการ" นายเสรี จินตกานนท์ ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ระบุ


 


ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาฯ ยังแสดงความกังวลถึงการทดลองวิจัยฯ นี้ว่า ไม่ได้เกิดจากความหวังดี หรือความห่วงใย ต่อการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีดอย่างที่ทางคณะผู้วิจัยและทีมงานกล่าวอ้าง เพราะหากทีมวิจัยมีความห่วงใยต่อการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีดจริง ทำไมที่ผ่านมาไม่มีการนำมาตรการลดอันตราย รวมทั้งการแจกเข็มและอุปกรณ์ในการทำความสะอาดมาใช้ เพราะเป็นมาตรการที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อฯ และเป็นมาตรฐานในการทำงานป้องกันที่หน่วยงานเอดส์แห่งสหประชา


ชาติ และองค์กรอนามัยโลกแนะนำไว้


 


และถึงแม้ว่าหากการศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จ ยาทิโนโฟเวียร์ฯ สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวีได้ ผู้ใช้ยาชนิดฉีดที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับยาเป็นเวลาหนึ่งปี ส่วนผู้ใช้ยาคนอื่นๆ  ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี/เอดส์ ประชาชนคนไทย จะเข้าถึงยาทิโนโฟเวียร์ได้อย่างไร  เนื่องจากยาทินอฟโฟเวียร์มีราคาแพง เพราะมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ คณะทำงานฯ จึงมองไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ใช้ยาชนิดฉีดจะได้รับนอกเหนือจากการได้รับยาหนึ่งปีของผู้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งไม่เห็นประโยชน์ที่สังคม และประเทศชาติจะได้รับจากการทดลองในครั้งนี้อีกด้วย


           


"ที่ผ่านมาการตอบข้อเสนอฯ ของคณะผู้วิจัยแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ ในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้ยาชนิดฉีดจริง  เพราะปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้อยู่ที่การหาซื้อเข็มได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ตัวกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลที่ขาดความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา และปฏิบัติกับผู้ใช้ยาเหมือนอาชญากร ผู้ใช้ยาชนิดฉีดส่วนใหญ่จะไม่พกพาเข็มไปด้วย เพราะหากตำรวจตรวจค้นตัวแล้วพบเข็มฉีดยา ก็จะได้รับโทษหนักกว่าไม่พบเข็ม อีกทั้งต้องดิ้นรนในการหาเงินเพื่อมาซื้อยา เวลาได้เงินมาก็หมดไปกับการซื้อยา ไม่มีเงินพอหรือคิดที่จะซื้อเข็มฉีดยา การกล่าวอ้างถึงจำนวน 98% ของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทดสอบวัคซีนฯ สามารถหาเข็มและกระบอกฉีดยาได้จึงไม่มีความหมายใดๆ เพราะการหาซื้อได้ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อมาใช้ หรือจะไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน"


 


ถึงแม้ว่าคณะทำงานและคณะผู้วิจัยได้มีการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์หลายครั้ง คณะผู้วิจัยและทีมงานยังมีความคิดเห็นว่า โครงการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ฯ เป็นโครงการที่ดีมีมาตรฐาน ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่คณะทำงานมีความกังวล จนในที่สุดก็มีข้อตกลงร่วมกันที่จะมีคณะทำงานที่เป็นตัวแทนมาจากส่วนต่างๆ รวมทั้งตัวแทนของทีมวิจัยเพื่อทบทวนกระบวนการทดลองวิจัยทั้งหมด  โดยมีกรอบการทบทวนดังนี้ 1.การให้ข้อมูลอาสาสมัครที่จะยินยอมเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจอย่างแท้จริง 2. การคุ้มครองอาสาสมัครที่ถูกคัดกรองออกจากการเป็นอาสาสมัคร 3. การคุ้มครองอาสาสมัครที่ติดเชื้อในระหว่างการทดลองวิจัย และ4. การการมีส่วนร่วมของชุมชน


 


"คณะทำงานทบทวนฯ นัดประชุมกันในวันที่ 27 มิถุนายน 2548ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นทบทวนในข้อที่ 1 และจากการทบทวนก็พบว่ามีปัญหามากมาย โดยเฉพาะวิธีการทาบทามอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งใช้วิธีโทรศัพท์ตามจากประวัติผู้ที่เคยมารับบริการ ณ ศูนย์เมธาโดนที่เปิดรับอาสาสมัคร ฯ  และในวันนั้นประเด็นข้อที่ 1 ก็ไม่สามารถทบทวนได้ทั้งหมด  โดยทางทีมวิจัยก็ยังคงตอบเหมือนกับทุกครั้ง คือบอกว่าระบบหรือกระบวนการทดลองวิจัยที่มีอยู่เดิมนั้นดีที่สุด  เป็นมาตรฐานที่สุด และท้ายที่สุดทางคณะทำงานก็มีข้อเสนอว่าควรชะลอโครงการไว้ก่อน  ก่อนที่คณะทำงานทบทวนฯ จะมีการทบทวนให้เสร็จสิ้นทุกกระบวนการทั้ง 4 ข้อ จึงจะสามารถเริ่มโครงการได้  ซึ่งในขณะเดียวกันก็เปิดรับอาสาสมัครและจ่ายยาไปพร้อมกันด้วย  การทบทวนจะมีประโยชน์อย่าง ไร  หากผู้วิจัยไม่มีความจริงใจที่จะทำงานร่วมกันกับเรา คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นร่วมกันในการที่จะคัดค้านโครงการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ฯ ไม่ให้มีการศึกษาวิจัยฯ ต่อไปจนถึงที่สุด เนื่องจากประเด็นปัญหาทางด้านจริยธรรมตามที่ทางคณะทำงานฯได้เคยนำเสนอที่ผ่านมา" นายเสรี กล่าวในตอนท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net