Skip to main content
sharethis


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-24 ส.ค.48       ชลประทานที่ 1 ยังยืนยันคำสั่ง "ทักษิณ" รื้อฝายล้านนา 3 แห่งทันทีหลังน้ำลด พร้อมทั้งสร้างฝางยางให้เสร็จภายในเวลา 2 ปี ขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำบุกค่ายกาวิละและสำนักงานชลประทานที่ 1 หลังทหารบอกปัดไม่ทราบเรื่อง


 



นายสมบูรณ์  บุญชู  ประธานคณะกรรมการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน  ส่วนที่ 2  พร้อมตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ  ฝายท่าวังตาล  และฝายหนองผึ้ง  เดินทางมายื่นหนังสือต่อตัวแทนทหารค่ายกาวิละ อ.เมือง  จ.เชียงใหม่เพื่อขอคัดค้าน  กรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ออกมาสั่งให้มีการรื้อฝายทั้ง  3  แห่งเพื่อสร้างฝายยางแทน  โดยอ้างว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่นั้น   หลังทราบข่าวว่า  จะมีการรื้อฝายทั้ง  3  แห่ง  โดยมีการขอใช้กำลังของชุดทหารจากค่ายกาวิละ  จ.เชียงใหม่ในการดำเนินการ


 


พ.ท.อโณทัย  ชัยมงคล  เสนาธิการทหาร  ตัวแทนทหารจากค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่  ได้ออกมาพบกับตัวแทนชาวบ้าน  พร้อมกับกล่าวยืนยันว่า  ทางค่ายกาวิละไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่ได้รับรู้เรื่องนี้มาก่อนว่าจะมีการนำกำลังทหารไปทำการรื้อฝายดังกล่าว  และได้แนะนำให้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง


 


หลังจากนั้น  ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด  ได้พากันไปที่สำนักงานชลประทานที่ 1  จ.เชียงใหม่  เพื่อเข้าพบผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1  จ.เชียงใหม่  เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการรื้อฝายทั้ง  3  แห่ง


 


ซึ่ง นายแสงรัตน์  เบญจพงศ์  ผอ.ชลประทานที่ 1  จ.เชียงใหม่  ได้ออกมาพบและกล่าวว่า  ตอนนี้บท


บาทหน้าที่ของสำนักงานชลประทานที่ 1  ก็คือ  ทำตามนโยบายของรัฐบาลและต้องดำเนินงานไปตามขั้นตอนคือ  จะต้องมีการสำรวจสิ่งกีดขวางในลำน้ำปิง  ซึ่งคิดว่า  หลังจากน้ำลด ก็จำเป็นต้องมีการรื้อฝายนั้นทิ้ง  โดยชลประทานจะเป็นตัวหลักที่รับผิดชอบในการวางแผนในการดำเนินการรื้อ  ส่วนการรื้อฝายนั้น  อาจจะขอกำลังจากทหารชุดพัฒนาเข้าไปดำเนินการ  และในกรณีเรื่องมวลชนชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านไม่ให้มีการรื้อฝายนั้น  ก็คงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าดูแล  เพราะฉะนั้น  ต่างฝ่ายต่างต้องทำหน้าที่ของตนไป


 


ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1  จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า  หลังจากมีการรื้อฝายทั้ง  3  แห่งแล้ว ก็คงจะเร่งดำเนินการสร้างฝายยางทันที  เนื่องจากถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน  ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการสร้างฝายยางนั้น  จะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด  2 ปี  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันหรือไม่


 


อย่างไรก็ตาม  นายสมบูรณ์  บุญชู  ประธานคณะกรรมการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน  ส่วนที่ 2  ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่า  ฝายทั้ง  3  แห่ง  ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่  เพราะว่าฝายดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับถนนประมาณ  4  เมตร   และหากมีการรื้อฝายทั้ง  3  แห่งทิ้ง  เชื่อว่าพี่น้องชาวบ้านทั้ง  204  หมู่บ้าน  ซึ่งมีพื้นที่ในการทำการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจากฝายทั้ง  3  แห่งนี้ ทั้งหมด  30,000  กว่าไร่  จะต้องได้รับผลกระทบ ขาดแคลนน้ำใช้อย่างแน่นอน 


 


"เพราะเราอยู่ท้ายน้ำ จำเป็นต้องใช้ระบบเหมืองฝายเหล่านี้  ซึ่งหากรัฐต้องการสร้างเขื่อน  สร้างฝายยางเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ก็ควรจะไปสร้างเขื่อนสร้างฝายในพื้นที่หัวน้ำ ในแถบพื้นที่ อ.แม่แตงเพื่อลดการชะลอไม่ให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่  ไม่ใช่จะมาสั่งรื้อฝายของชาวบ้านเช่นนี้"  นายสมบูรณ์  กล่าว


 


ทั้งนี้  มีรายงานแจ้งว่า วัตถุประสงค์ของการรื้อฝายโบราณทั้ง  3  แห่งทิ้ง เพื่อการทำฝายยางตรงบริเวณหน้าวัดป่างิ้ว  อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นั้น  ก็เพื่อเป้าหมายที่แอบแฝง  ซึ่งอาจไม่ได้ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม  และเกษตรกรผู้ใช้น้ำทั้ง  3  อำเภอ  ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง  แต่อาจเน้นเป้าหมายในรูปแบบการท่องเที่ยวทางเรือของกลุ่มผู้ประกอบกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวบางกลุ่มเท่านั้น  โดยเอาสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่มาเป็นข้ออ้าง  ซึ่งขณะนี้  ยิ่งทำให้ชาวบ้านเกิดไม่น่าเชื่อถือและเกิดความเครียดระแวงอย่างหนัก


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net