Skip to main content
sharethis






นางอาแอเซาะ หะยีเจ๊ะมิง ชาวบ้านกานอ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ภรรยาของนายอับดุลอาซิ หะยีเจ๊ะมิง ที่ถูกศาลประเทศกัมพูชาตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาเป็นสมาชิกของขบวนการญามาอะห์ อิสลามิยะห์ หรือ เจ.ไอ. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ตนได้ร้องเรียนไปยังนายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ขอให้ช่วยเหลือสามีของตน หลังจากที่ศาลไทยพิพากษายกฟ้องนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ ข้อหาเป็นสมาชิกขบวนการ เจ.ไอ. เช่นกัน

 



นางอาแอเซาะ เปิดเผยว่า นายไกรศักดิ์รับปากจะถวายฎีกากษัตริย์นโรดมสีหมุนีของกัมพูชา ขอให้ย้ายสามีตนและนายมูฮำหมัดยาลาลูดิง มะดิง ชาวตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส นักโทษอีกคนเข้ามาคุมขังในคุกเมืองไทย แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ


 


นางอาแอเซาะ เปิดเผยอีกว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ตนได้เดินทางไปพบสามีและนายมูฮำหมัดยาลาลูดิง ซึ่งถูกจองจำที่คุกเพรซาร์ ในกรุงพนมเปญ พร้อมนายอิสมาแอล ชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นนักโทษในคดีเดียวกัน นายอิสมาแอลแจ้งให้ตนทราบว่า นายโอเซียนเทียน ที่ปรึกษานายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแจ้งว่า จะได้รับการอภัยโทษ


 


เนื่องจากบิดาของนายอิสมาแอลได้ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ส่วนคนไทยทั้ง 3 คน รัฐบาลไทยจะมารับกลับไป


 


นางอาแอเซาะ เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 นายไกรศักดิ์ ได้ยื่นหนังสือให้กษัตริย์นโรดมสีหมุนี ขอให้อภัยโทษแก่คนไทยทั้งสองแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงยืนถวายฎีกาขอให้ย้ายที่จองจำไปอีกครั้งหนึ่ง


 


สำหรับนักโทษไทยทั้งสอง เป็นอุสตาซชาวไทยที่ไปสอนศาสนาในโรงเรียนสอนศาสนาในกรุงพนมเปญ มาตั้งแต่ปี 2544 ถูกทางการกัมพูชาจับกุมข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นสมาชิกขบวนการเจ.ไอ. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ต่อมา ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547


 


นายจรัล เปิดเผยว่า ตนได้ช่วยเหลือโดยการนำภรรยาของจำเลยทั้ง 2 ไปพบกับสามีที่จำคุกอยู่ในเรือนจำในกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งทางการกัมพูชาให้เยี่ยมได้ถึง 2 วัน วันละ 8 ชั่วโมง


 


นายจรัล เปิดเผยต่อว่า ขณะเดียวกันตนไปพบกับกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย ทั้งในกัมพูชาและไทย เพื่อขอให้ช่วยเหลือคนไทยทั้งสองคน โดยเสนอให้ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนระหว่างนักโทษกัมพูชา ที่ถูกจำคุกอยู่ในประเทศไทย กับนักโทษไทยที่ถูกจำคุกอยู่ในกัมพูชา แต่เนื่องจากไทยกับกัมพูชายังไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้ จึงยังช่วยเหลืออะไรได้ไม่มาก


 


นายจรัล เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศของไทยกับของกัมพูชา กำลังเจรจาข้อตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษอยู่ เรียกว่าสนธิสัญญาการโอนย้ายนักโทษระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยมีหลักการว่าให้จำคุกก่อน 3 ปี จึงจะแลกเปลี่ยนได้ ขณะนี้มีนักโทษกัมพูชาถูกจำคุกในประเทศกว่า 1,000 คน


ส่วนนักโทษในกัมพูชามีไม่ถึง 100 คน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net