Skip to main content
sharethis







 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ราษฎรอาวุโส เสนอ แนวคิด "สามเหลี่ยมดับไฟใต้" ระงับความรุนแรงเฉพาะหน้า รักษามวลชนโดย และสร้างสันติถาวร โดยสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นจริง

 



นายแพทย์ประเวศ วะสี รองประธานคณะอิสระเพื่อความสามานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) กล่าวว่าแนวทางดังกล่าวมีองค์ประกอบ 3 ประการต้องทำพร้อมกัน ได้แก่ การระงับความรุนแรงเฉพาะหน้า คือ การประกบให้ถูกตัวและถูกต้อง ซึ่งต้องมีการข่าวที่แม่นยำ การจับผู้ทำผิดจริงๆได้ การป้องปราม การให้ชุมชนมีส่วนร่วม และการสร้างชุดคุ้มครองหมู่บ้านที่อาจจำลองมาจาก พ.ต.ท.43


 


ประการต่อมาก็คือ การรักษามวลชน อาจกระทำได้โดยการนิรโทษกรรมคล้ายๆ กับการออก นโยบาย 66/2523 และไม่ให้มีการอุ้มโดยเด็ดขาด การสร้างการสื่อสารที่ดี การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง และพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาคมโลกและประชาคมอิสลาม


 


ส่วนองค์ประกอบสุดท้าย ได้แก่ การสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ ต้องทำโดยความเข้าใจและจริงใจ กระทำโดยการส่งเสริมการเคลื่อนไหวอิสลามกับสันติภาพในลักษณะองค์กร การสร้างกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ทั้งระบบ  ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าต้องสนับสนุนให้สภาทนายความและสื่อมวลชนเข้ามารับรู้ทุกครั้ง เมื่อมีการจับกุมดำเนินคดี


 


นอกจากนี้ ยังต้องเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น  ดำเนินกระบวนการสร้างความจริงและอภัยวิถี และสุดท้าย คือ การเปิดการเจรจากับแนวร่วม ซึ่ง นายแพทย์ประเวศ ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งใดๆก็ตาม ต้องยุติด้วยการเจรจา นอกจากนี้ต้องดึงมวลชนมาเป็นแนวร่วมให้ได้


 


"สงครามนี้เป็นสงครามจรยุทธ มีคนก่อการจำนวนน้อยซ่อนในแนวร่วม ในมวลชน ถ้ายกทัพใหญ่ไปรบจะแพ้ ต้องทำความเข้าใจสงคราม สงครามจรยุทธแพ้ชนะอยู่ที่มวลชน" นายแพทย์ ประเวศ กล่าว


 


นายแพทย์ประเวศ แสดงความวิตกด้วยว่า หากปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นานไปอาจมีการดึงกระบวนการจิฮาดจากต่างชาติเข้ามา จนลามสู่พระนคร และหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ประเทศจะเข้าสู่ยุคมืด


 


"นโยบายรัฐบาล คือ ชนวนอ่อนไหวที่สุดที่จะให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างไฟภายใน กับไฟภายนอกแม้แต่ การออก พรก. ฉุกเฉิน รัฐเองก็ต้องระวัง"


 


นายแพทย์ประเวศ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ช่วงเวลานี้ความรุนแรงพุ่งสูงด้วยว่ามาจาก การใช้นโยบายที่แข็งกร้าวของรัฐบาล เริ่มจาก การให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่นายกรัฐมนตรีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบางสังกัด จนตัดสินใจสั่งยุบ กองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร 43 (พตท.43) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อันเป็นเครื่องมือประสานความเข้าใจในพื้นที่ สิ่งที่ตามมาก็คือการอุ้ม จึงทำให้เกิดแนวร่วมตามมามากมาย


 


นายแพทย์ประเวศ ชี้อีกว่า ความรุนแรงจะแปรผันตามนโยบายรัฐ เช่น การใช้นโยบายที่ละมุนละม่อม ใน ช่วงสมัยรัชการที่ 6 และ ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ปัญหาความรุนแรงจะมีน้อย และมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างชัดเจน


 


แต่ในทางกลับกัน หากย้อนกลับไปดู สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ นโยบายช่วงนั้น มีความพยายาม จะ "กลืนชาติ" ทั้งที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองมานาน จนมีวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะ


 


นโยบายดังกล่าว มีการปกครองจากส่วนกลางเป็นหลัก เจ้าหน้าที่รัฐที่ส่งไปไม่เข้าใจคนในพื้นที่ และใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างมีอคติ จนความขัดแย้ง เช่น เหตุการณ์ "ดุซงญอ" เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2491 มีชาวมุสลิมเสียชีวิตไปประมาณ 400 คน


 


นโยบายปัจจุบันก็มีลักษณะเดียวกัน มีการปราบปรามด้วยความรุนแรง หลายกรณีอาจไปกระทบผู้บริสุทธิ์ ข่าวการอุ้มมีอย่างหนาหู  ผลที่ตามมาคือการเกลียดรัฐบาลมากขึ้น แต่ผู้ก่อความไม่สงบกลับมีผู้คุ้มครองมากขึ้น

เอกสารประกอบ

สามเหลี่ยมดับไฟใต้-ประเวศ วะสี

สามเหลี่ยมดับไฟใต้-ประเวศ วะสี-ฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net