กรมชลฯ คุย แผนเตือนน้ำท่วมก่อน 1 วัน ได้ผล

ประชาไท - 16 ส.ค.48   คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้รับทราบความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในภาคเหนือ ตลอดจนความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการ ดังนี้

 

1. กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานจังหวัดได้แจ้งเตือนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทราบเป็นการล่วงหน้าประมาณ 1 วัน รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสถานีวิทยุในพื้นที่ เกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ระยะเวลาที่น้ำจะท่วมล้นตลิ่ง ทำให้จังหวัดมีการเตรียมความพร้อม ลดความเสียหายได้ระดับหนึ่ง

 

2. กรมชลประทานได้ส่ง รองอธิบดีกรมชลประทาน (นายละเอียด  สายน้ำเขียว) รับผิดชอบการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประสานงานการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

 

3. กรมชลประทานได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาด 6 - 12 นิ้ว จำนวน 80 เครื่อง ไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการเร่งระบายน้ำแก้ไขปัญหา

 

4. จากเหตุการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ มีผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญมีปริมาณ เพิ่ม

ขึ้น (วันที่ 11 - 14 สิงหาคม 2548) รวม 459 ล้าน ลบ.. คือ เขื่อนภูมิพล 97 ล้าน ลบ.. เขื่อนสิริกิติ์ 252 ล้าน ลบ.. เขื่อนแม่งัด 52 ล้าน ลบ.. เขื่อนกิ่วลม 34 ล้าน ลบ.. และเขื่อนแม่กวง 24 ล้าน ลบ.. จากสถานการณ์นี้คาดว่าจะมีน้ำไหลลงอ่างฯ รวม 920 ล้าน ลบ.. ทั้งนี้เขื่อนดังกล่าวยังสามารถรองรับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้โดยไม่มีปัญหา (ขณะนี้น้ำในเขื่อนแต่ละแห่งมีประมาณร้อยละ 30 - 70 ของความจุแต่ละเขื่อน)

 

5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจและรายงานความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานจากการสำรวจเบื้องต้น (ยังไม่ครบทุกพื้นที่) มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 6 จังหวัด 33 อำเภอ 140 ตำบล พื้นที่การเกษตรประสบภัย 142,805 ไร่ ด้านพืช เกษตรกร 4,243 รายพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 141,420 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 7,281 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 153,744 ตัว ด้านประมง เกษตรกร 3,246 ราย พื้นที่คาดว่า จะเสียหาย 678 ไร่ 735 บ่อ

 

6. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยด้านการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.moac.go.th

 

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด  ดังนี้

 

1.  ได้มีวิทยุแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2548  เพื่อให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์น้ำท่วม ฉับพลันตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน

 

2.  ได้เกิดสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ของภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2548 โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วัดได้ 200.3 มม. เป็นเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม อ.ปางมะผ้า และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ อ.เชียงดาว อ.แม่แตง และ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ โดยในวันที่  14 สิงหาคม 2548 ที่สะพานนวรัฐ จ.เชียงใหม่ วัดได้สูง 4.90 เมตร (ระดับวิกฤต 3.70 เมตร) สูงกว่าระดับวิกฤต 1.20 เมตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจของเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นบริเวณกว้าง

           

3.  สรุปสถานการณ์และความเสียหาย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2548 เวลา 07.00 น.) ดังนี้

3.1  พื้นที่ประสบภัย  จำนวน 6 จังหวัด 32 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ 115 ตำบล 420 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ลำปาง  น่าน  แม่ฮ่องสอน  และพะเยา (สถานการณ์รุนแรง 2 จังหวัด  คือ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า และ จ.เชียงใหม่ ที่ อ.เชียงดาว  อ.พร้าว  อ.แม่แตง  อ.เมืองฯ  อ.สารภี)

 3.2   ความเสียหาย  1)  ด้านชีวิต  ประชาชนเสียชีวิต 6 คน (จ.แม่ฮ่องสอน 4 คน  จ.เชียงใหม่  จ.ลำปาง 1 คน)              สูญหาย 13 คน  บาดเจ็บ 39 คน  เดือดร้อน 58,474 คน   2)  ด้านทรัพย์สิน  สะพาน 44 แห่ง  ถนน 18 สาย  พื้นที่การเกษตร 7,825 ไร่

 

4.  การสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือ

4.1  เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2548  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์และความเสียหายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ดังนี้

            1)  ให้จังหวัดเชียงใหม่  เทศบาลนครเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมวางกระสอบทรายเพิ่มเป็นคันกั้นน้ำและเร่งการระบายน้ำผ่านคลองแม่ข่า พร้อมเร่งการสูบน้ำออก

            2)  สำหรับฝายหินทิ้ง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณหน้าค่ายกาวิละและบริเวณหน้าร้านอาหารนางนวล ซึ่งกีดขวางลำน้ำปิง เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าฝายหินทิ้ง การที่จะรื้อถอนเป็นไปด้วยความลำบาก  ดังนั้น เมื่อระดับน้ำปิงลดระดับแล้ว ให้ดำเนินการปรับรื้อถอนเป็นฝายยางถาวร โดยให้สามารถปรับระดับสันฝายได้ตามความเหมาะสมของระดับน้ำ

            3)  ให้กรมทางหลวงเร่งซ่อมแซมทางหลวงแผ่นดินสาย 1095 ช่วงแม่มาลัย-แม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนี้มีสะพานถูกกระแสพัดพังขาด จำนวน 4 แห่ง โดยให้เร่งสร้างสะพานแบรี่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2548 เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไป-มาได้

            4)  ให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนระดมเครื่องจักรกลในการรื้อเศษซากต้นไม้ กิ่งไม้ และดินโคลนในบริเวณเขตเทศบาลตำบลปาย โดยให้ระดมเครื่องจักรกลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีปัญหาให้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ความช่วยเหลือ

            5)  นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะ         ผู้ว่าราชการจังหวัด CEO รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในทุก ๆ ด้าน และมอบหมายให้รัฐมนตรี     ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช) จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ และปฏิบัติหน้าที่อำนวยการและประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในการสนับสนุนช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบภัย

 

ทั้งนี้  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะสำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนได้ประสานการให้ความช่วยเหลือกับจังหวัดที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดส่งชุดกู้ภัย จำนวน    30 นาย เดินทางไปร่วมสนับสนุนค้นหาผู้สูญหาย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2548 เวลา 15.00 น. รวมทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย ได้เข้าไปอำนวยการสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่                   

 

นอกจากนี้ในส่วนกระทรวงคมนาคมยังเร่งซ่อมแซมเส้นทางสายต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งตั้งศูนย์บัญชาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และอำนวยความสะดวกเส้นทางการจราจรต่าง ๆ โดยมีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (นายสุพจน์  คำภีระ) เป็นประธาน และเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท