คำถามฝากนายกรัฐมนตรีไทยไปญี่ปุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังเดินทางไปประเทศญี่ป่นในวันพรุ่งนี้ ให้ทบทวนและยกเลิกข้อตกลงการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐ กิจไทยญี่ปุ่น(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement, JTEPA) เรื่องการยอมรับให้เปิดเสรีบริการการแพทย์ โดยยินยอมให้คนญี่ปุ่นที่ป่วย มารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยได้โดยสามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายญี่ปุ่นในอัตรา 70 % 

ข้อตกลงนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลาย "ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย ที่จำเป็นต้องใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ" ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาคุณภาพ เพื่อช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลรักษาจากรัฐ ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

พร้อมเสนอให้มีการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร รวมทั้งการปฏิรูปแนวความคิดต่อบริการสาธารณสุข ที่จะต้องไม่คำนึงถึงกำไรสูงสุดจากการให้บริการ

 

การเดินหน้าอย่างเต็มพิกัดในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี เพราะเหตุผลที่ได้ยินซ้ำซากอยู่เกือบตลอดเวลาว่า "เราจะส่งทุเรียน มังคุด ไปขายกับคนเป็นพันล้านคนแทนที่จะเป็นเพียงคนไทย 63 ล้านคน" "อะไรที่ปลูกสู้เขาไม่ได้ก็ต้องเลิกปลูก" หรือบอกว่า "เราจะได้กินแอปเปิ๊ล พีช ราคาถูก"

 

ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเพียงด้านเดียว ว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรี มีเพียงการลดภาษีนำเข้าส่งออกเท่านั้น แต่หลายประเทศที่รัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงไปแล้วนั้นได้ครอบคลุมด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น การเงินการธนาคาร การลงทุน การบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น และที่เพิ่งจะตกลงไปเมื่อต้นเดือนสิงหา คมที่ผ่านมา กับประเทศญี่ปุ่นได้รวมถึงการเปิดเสรีการบริการจำนวน 65 สาขาย่อย รวมถึงบริการโรงพยา บาล รัฐบาลไม่ได้คิด หรือ คิดเอาแต่ได้ ทำให้ขาดความรอบคอบ ในการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับ "เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วย การผลิตยาใช้เองภายในประเทศ"

 

การที่รัฐบาล นายกทักษิณ ต้องการเปิดเสรีการบริการด้านสุขภาพ เป็นทิศทางหลักของนโยบาย การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub) เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ ทันตกรรม สปา หรือนวดแผนไทย และขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการในนามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งนโยบายทั้งสองด้านนี้ (Dual Policy) ต่างต้องใช้ทรัพยากรบุคคลกลุ่มเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยังมีความขาดแคลน หมอ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ อีกมากเป็นพิเศษ

 

คนไทยเดือนร้อนแน่ๆ จากนโยบายที่รัฐต้องการทำ เขตการค้าเสรี ไทย ญี่ปุ่น

1.      ผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ

การที่รัฐจะเปิดเสรีบริการสุขภาพ นั้น จากผลการวิจัยการให้บริการทันตกรรมในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการให้บริการกับชาวต่างชาติ พบว่า หากคาดการณ์ว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการทันตกรรมร้อยละ 5 จะทำให้มีชาวต่างประเทศใช้บริการทันตกรรม มากถึง 72,671 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยว 1,453,426 คน และเมื่อพิจารณาจากศักยภาพด้านทันตกรรมที่มีอยู่ ทั้งจากจำนวนเก้าอี้ทำฟันและชั่วโมงที่ใช้ต่อคนไข้หนึ่งคน ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตสามารถรองรับคนไข้ทำฟันได้เพียง 60,840 คน ซึ่งหากสนับสนุนให้มีชาวต่างประเทศมาใช้บริการเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของคนไทยแน่นอน[1]

 

2. ผลกระทบต่อการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่น ๆ

หากมีคนไข้จากต่างประเทศมากขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการไหลของแพทย์จากภาครัฐ โดยเฉพาะชนบทเข้าสู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ดังการศึกษาของน..ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย และ ดร.ครรชิต สุขนาค ที่พบว่า "การเปิดการค้าเสรีด้านบริการ จะทำให้แพทย์หลั่งไหลไปสู่ภาคเอกชน การลงทุนผลิตแพทย์สูญเปล่าไปถึง 420-1,260 ล้านบาทต่อการรับผู้ป่วยต่างชาติ 1 แสนคนต่อปี

ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์น้อยมาก ประมาณ 27,000 คนที่ยังเป็นแพทย์ หรือแพทย์หนึ่งคนต่อประชาชนประมาณ 2,400 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา... ถ้าเอาชาวต่างชาติเข้ามารักษามากในขณะที่แพทย์ไทยยังไม่พอจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์แน่นอน คือ โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ที่ทำงานเอกชน และในเมื่อมีผู้ป่วยที่เอกชนมาก แพทย์ที่ทำงานให้ภาครัฐก็จะลาออก... ใครจะดูแลผู้ป่วย 30 บาท และใครจะเป็นครูแพทย์?![2]

 

3. ผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล

1.       ข้อเสียที่อาจจะพบเห็นกันได้ชัดเจนทุกคน คือ การต้องรอหรือเข้าคิวในการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพราะมีจำนวนคนรับบริการที่เพิ่มขึ้น

2.       การเข้าไม่ถึงบริการในกลุ่มโรคที่ไม่มีความเร่งด่วน โดยอ้างเหตุผลบุคลากรไม่เพียงพอ เช่น สัดส่วนจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการในระบบอาจจะน้อยลงเพราะต้องให้บริการชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ดังที่เริ่มเป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น การใส่เล็นส์ตาเทียมในผู้สูงอายุ อาจจะต้องรอมากกว่า 3-6 เดือน

 

 

ข้อเสนอต่อเรื่องนี้

ต้องทบทวนการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งหมด

 

1.       ให้มีกระบวนการการดำเนินการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ต้องผ่านขั้นตอนของรัฐสภา และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง

2.       ต้องมีการศึกษาถึงผลได้และผลเสียในการทำและไม่ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ,การกระจายของรายได้จากการเปิดเสรีบริการสุขภาพ

3.       จะต้องรีบดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพดังนี้

3.1.      การปฏิรูประบบบริการ งบประมาณและทรัพยากร  การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการโดยตรง หรืออย่างน้อยจัดสรรให้โดยตรงกับระดับจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพที่เป็นธรรมและเพิ่มการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลของรัฐ

3.2.      การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดมาตรฐานเดียวในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการรักษา คุณภาพยา ในหน่วยบริการระดับต่าง ๆ ของกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหมด เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ประกันสังคม 30 บาทรักษาทุกโรค  เป็นต้น

3.3.      การปฎิรูปแนวคิดด้านสุขภาพ"บริการสาธารณสุข ไม่เป็นไปเพื่อแสวงกำไรสูงสุดในเชิงธุรกิจ" ดังเช่นมติขององค์การสหประชาชาติ ให้การทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคสำคัญบางด้าน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เป็นสินค้ามนุษยธรรม ที่ต้องไม่มีการทำกำไรสูงสุดหรือ

3.4.      การพัฒนาความเข้มแข็งของผู้บริโภคและองค์กรต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้ดูแลตนเองเพิ่มขึ้น

3.4.1.         การสนับสนุนให้ชุมชนหรือท้องถิ่น มีระบบพัฒนาบุคลากรสุขภาพในระดับท้องถิ่นของตนเอง

3.4.2.         การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ การตัดสินใจด้านนโยบายในปัจจุบัน นับว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 57 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย ซึ่งนับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 8 ปี ยังไม่มีการดำเนินการให้มีกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค

3.5.       การรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเืนื่อง  เช่น การรายงานสถานการณ์การกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับสาธารณชน

3.6.       นำเข้าบุคลากรทางการแพทย์ มาให้บริการในประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยชาวต่างประเทศ ที่ใช้บริการอยู่แล้วจำนวนมากในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้บริการของคนไทย 





[1] รศ.ดร ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา และคณะ ,เอกสารประกอบการสังเคราะห์ประเด็น ประชุมสมัชชาสุขภาพ ว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบายการค้าเสรี


[2] นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ "บทความส่องโลกส่องสุขภาพกับแพทยสภา" มติชน กันยายน  2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท