Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฝนตกทั่วฟ้า…เสียหายถ้วนหน้า


 


เชียงใหม่ยับเยิน..เหตุเพลินหยุดยาวไม่ทันตั้งตัว  


 


น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้  รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี…


 


ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 .  ของเช้าวันที่ 14 สิงหาคม  ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ระดับน้ำค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จากช่วงเช้าที่เอ่อท้นแค่สองฝั่งแม่น้ำปิง  ผู้สื่อข่าวหลายสำนักโทรศัพท์สอบถามไปยังศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบน  และได้รับแจ้งว่าปริมาณน้ำแม่น้ำปิงจากตอนเหนือจะเดินทางเข้าถึงตัวเมืองสูงสุดในเวลาประมาณ 15.30 .และจะทรงอยู่เช่นนั้นประมาณตอนเย็นแล้วจะเริ่มลดลง  แต่ในห้วงเวลาเดียวกันสถานการณ์น้ำท่วมกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสองฝั่งแม่น้ำปิง  ลามไปยังตัวเมืองชั้นใน  ที่แม้จะห่างจากแม่น้ำประมาณ 1 กิโลเมตร  ก็เริ่มมีน้ำท่วมฉับพลับในตอนเที่ยง และขึ้นมาถึงระดับเอวเมื่อเวลาประมาณ 14.00 . 


 


สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆทำให้โรงเรียนสำคัญแทบทุกโรงเรียนในตัวเมืองโทรศัพท์ผ่านรายการวิทยุแจ้งงดการเรียนการสอนในวันจันทร์  บางโรงเรียนขอหยุดไม่มีกำหนด  ในเวลาเดียวกันนั้นรถติดบนถนนทุกสายไม่เว้นแม้กระทั่งถนนสายซุปเปอร์ไฮเวย์ที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม  เกิดกระแสข่าวลือว่าเขื่อนที่อำเภอเชียงดาวแตก  แต่ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง  กระทั่งตลอดคืนวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม  ระดับน้ำก็ยังคงไม่ลดลง  พื้นที่ตัวเมืองครึ่งหนึ่ง  มีน้ำท่วมรถผ่านไม่ได้  ในบางหมู่บ้านมีน้ำท่วมระดับอก  อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหายหมด


 


ระดับน้ำยังท่วมขังตลอดทั้งคืนวันอาทิตย์ และเริ่มมีรายงานอย่างเป็นทางการว่าน้ำในแม่น้ำปิงเริ่มลดลงแล้วช้าๆ ในช่วงเช้า  อย่างไรก็ตามระดับน้ำของแม่น้ำปิงสูงเกินระดับอันตราย  คือ 4.20 เมตร  เป็นระดับวิกฤต  แต่ที่ขึ้นสูงสุดคือ 4.90 เมตร  ทำให้เมืองทั้งเมืองยังจมอยู่ในน้ำ  จนแม้เวลาบ่ายของวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม  เมืองทั้งเมืองยังคงเป็นอัมพาต  ในขณะที่ภาครัฐที่เริ่มตั้งหลักได้ในช่วงเช้าวันจันทร์  ได้เริ่มตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่เป็นระบบมากขึ้น  โดยก่อนหน้านั้นการช่วยเหลือเป็นไปแบบไม่เต็มที่มากนัก  ปัญหาหลักหนึ่งคือไม่มีพาหนะ  คือ  เรือท้องแบน  ส่วนรถขนาดใหญ่ต้องใช้รถของทหารเป็นหลัก  ทำให้ในช่วงเช้าวันจันทร์ยังมีโทรศัพท์จากประชาชนตามชุมชนต่างๆ ร้องเรียนผ่านรายการวิทยุว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ  ขาดน้ำและอาหารเป็นจำนวนมาก


 


จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม  สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย  น้ำในแม้น้ำปิงลดลงต่ำกว่าริมตลิ่ง  ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วม  และในหลายจุดแม้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงจะลดลงแล้ว  แต่ยังคงมีน้ำท่วมขัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนช้างคลานและถนนเจริญประเทศ  ผู้คนต่างเร่งรีบเก็บกวาดทำความสะอาดร้านค้าและบ้านเรือน  โดยเฉพาะย่านธุรกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่อย่างไนท์บาร์ซาร์  ซึ่งมีรายงานว่าในคืนเดียวกันนั้นร้านค้าก็เริ่มทยอยเปิดทำการกันแล้ว  แม้ว่าบรรยากาศจะเป็นไปอย่างเงียบเหงาก็ตาม


 


จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้น  พบว่าการที่น้ำจากแม่น้ำปิงไหลเข้าท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่หลายจุด  โดยเฉพาะจุดสำคัญที่เป็นย่านการค้าที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่  เช่น  ไนท์บาซาร์  ตลาดวโรรส  ตลาดต้นลำไย  และ  ถนนช้างคลาน นั้น ทำให้จังหวัดเชียงใหม่สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล  คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านบาท  ชั้นใต้ดิน-ล็อบบี้ 20 โรงแรมหรูกลางเมืองพังเสียหายยับเยิน  บ้านเรือนแถบตะวันออกของแม่น้ำปิงเสียหายกว่า 5 พันหลัง  ผู้ประกอบการย่านไนท์บาซาร์กว่า 200 รายขาดทุนกันถ้วนหน้า


 


เชียงรายโดน 5 อำเภอ  ตัวเมืองรอดฉิวเฉียด


 


เริ่มตั้งแต่วันที่  14  ..  48  มีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอแม่สรวยและอำเภอเวียงป่าเป้า  ทำให้น้ำในแม่น้ำลาวไหล่บ่าเข้าท่วมหลายพื้นที่ของทั้งสองอำเภอ  และน้ำยังได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอแม่ลาวและอำเภอเมืองเชียงรายที่เป็นพื้นที่ลุ่ม   แม่น้ำลาวมีระดับน้ำสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.30 เมตร  และได้เริ่มไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หลายหมู่บ้านของตำบลป่าอ้อดอนชัย  ตำบลสันทราย  และตำบลท่าสาย  อำเภอเมืองเชียงราย  รวมทั้งตำบลบัวสลี  และตำบลจอมหมอกแก้ว  อำเภอแม่ลาว  และตำบลเวียงเหนือ  อำเภอเวียงชัย  มีบ้านเรือนและโรงเรียนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลาวถูกน้ำท่วมนับพันหลังคาเรือน  ต้องขนย้ายข้าวของเครื่องใช้มาอยู่บนถนนพหลโยธินที่น้ำท่วมไม่ถึง


 


สรุปความเสียหายพบว่ามีน้ำท่วม 5 อำเภอ คือ  อำเภอเวียงป่าเป้า  อำเภอแม่สรวย  อำเภอพาน  อำเภอแม่ลาว  และ  อำเภอเทิง  มีราษฎรเดือดร้อน 4,039 ครัวเรือน  จำนวน 11,985 คน  พืชไร่ถูกน้ำท่วมรวม 1,756 ไร่  นาข้าว 5,136 ไร่ ถนนเสียหาย 21 สาย  คอสะพาน 2 แห่ง  เฉพาะพื้นที่ อำเภอแม่สรวย พบว่าได้รับความเสียหายกว่า 12,427,500 บาท  อย่างไรก็ตามพื้นที่ตัวเมืองเชียงรายไม่ถูกน้ำท่วมแต่อย่างใด


 


พะเยาหนักสุดในรอบ 10 ปี 


 


ในพื้นที่ ตำบลดงเจน  ตำบลห้วยแก้ว  และ  ตำบลแม่อิง กิ่งอำเภอภูกามยาว  บ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมกว่า 1,400 หลังคาเรือน  พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก   ส่วนที่ อำเภอดอกคำใต้  น้ำได้ท่วมหลายหมู่บ้านในพื้นที่  ตำบลดอกคำใต้  ตำบลคือเวียง  และ  ตำบลศรีดอนชุม  นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านายชัยรัตน์  บุญยัง  อายุ 27 ปี  บ้านเลขที่ 65  หมู่ 1  ตำบลดอนศรีชุม  อำเภอดอกคำใต้  ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตระหว่างการเก็บขนย้ายข้าวของหนีน้ำท่วมเมื่อเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคม  สำหรับในพื้นที่ ตำบลบ้านสระ  ตำบลเชียงม่วน  และ  ตำบลบ้านมาง  อำเภอเชียงม่วน  พื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างหนัก  รวมทั้งถนนและสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่ 3  ตำบลนาปรัง  และ  หมู่ 9  ตำบลออย  คอสะพานทรุดทำให้ต้องสร้างทางเบี่ยงขึ้นมาแทน


 


สถานการณ์น้ำท่วม 9 หมู่บ้านใน  ตำบลดงเจน  พบว่ามีระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร  นับว่าเป็นการท่วมหนักครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี  เนื่องจากเป็นน้ำป่าไหลหลากทะลักมาจากดอยร่องปอที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองกับกิ่งอำเภอภูกามยาว  ซึ่งน้ำที่ทะลักเข้ามาได้พัดพากิ่งไม้แห้งและตะกอนดินเข้ามาในหมู่บ้านด้วย   นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าโครงสร้างการทำถนนของแขวงการทางพะเยาในพื้นที่เทศบาลตำบลดงเจนไม่มีการวางระบบท่อระบายน้ำที่เหมาะสม  ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน  น้ำระบายได้ช้า  ประชาชนจึงต้องเร่งเก็บข้าวของหนีน้ำ ส่วนหนึ่งเก็บไม่ทันเพราะน้ำมาเวลากลางคืนที่ทุกคนหลับสนิท  อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายอย่างมาก


 


ลำปางตาย 1  สูญห้าล้าน


 


รายงานผลการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท  โดยมีราษฎรได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ  15 ตำบล  742 ครัวเรือน  ได้แก่  อำเภอแจ้ห่ม  อำเภอเมืองปาน  และ  อำเภอวังเหนือ  ซึ่งในพื้นที่อำเภอแจ้ห่มมีพื้นที่ประสบภัย 6 ตำบล  ราษฎรได้รับผลกระทบ 290 ครัวเรือน  มีผู้เสียชีวิตจากการถูกกระแสน้ำพัดพา 1 ราย  คือ นายทองสุก  ไปเวศน์  ราษฎรบ้านวังสัก  หมู่ที่ 10  ตำบลแจ้ห่ม


 


ส่วนในพื้นที่อำเภอวังเหนือ  ได้รับผลกระทบ 8 ตำบล  อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนราษฎรที่ได้รับผลกระทบ  และเขตอำเภอเมืองปานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 ตำบล  3 หมู่บ้าน  ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,725 คน  นอกจากนั้นยังมีสะพานเสียหาย 4 แห่ง  ถนนถูกตัดขาด 2 สาย  พนังกั้นน้ำ 3 แห่ง  ฝาย 3 แห่ง  ตลิ่งพัง 1 แห่ง  และเสาไฟฟ้าเสียหาย 1 แห่ง


 


น่านโชคดีไม่มีเสียชีวิตหรือสูญหาย


 


หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ  พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 38 ตำบล  127 หมู่บ้าน  ใน 9 อำเภอ  กับ 1 กิ่งอำเภอ  ไม่มีผู้สูญหายหรือเสียชีวิต  โดยความเสียหายที่พบส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนและอาคาร  ถนนเสียหายและชำรุด 20 สาย  สะพาน 7 แห่ง  คอสะพาน 6 แห่ง  ฝาย 4 แห่ง  ลำเหมือง 16 แห่ง  ผนังกั้นน้ำ 1 แห่ง  พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 9,242 ไร่  และบ่อปลาอีก 110 บ่อ  รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 15 ล้านบาท.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net