ภาษาอังกฤษด้อยกว่าเพื่อนบ้าน ไทยสลด!!…เจ็บใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ได้รับการยอมรับ  มีผู้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายทั่วโลก  ความสามารถทางภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตในการศึกษาและการทำงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในกลุ่มประเทศโลกที่สาม  ความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นปัจจัยซึ่งจะกำหนดโอกาสทางการแข่งขัน  ความได้เปรียบ  ไปจนถึงการได้รับความนับหน้าถือตาจากสังคมในบางกรณี 

 

การสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษในประเทศไทยปัจจุบัน  มีหลายมาตรฐานที่นำมาใช้ทดสอบ  บางส่วนเป็นมาตรฐานที่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากำหนดขึ้นมาเพื่อใช้วัดความรู้ของผู้ที่สมัครเข้าเรียนในสถานศึกษานั้น  ซึ่งแต่ละมาตรฐานจะได้รับการยอมรับมากน้อยแตกต่างกันไป  แต่หากพูดถึงมาตรฐานที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ  ในปัจจุบันมีอยู่ 3 มาตรฐานที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย  ได้แก่  Test  of  English  as  a  Foreign  Language  (TOEFL), Test  of  English  for  International  Communication  (TOEIC)  และ  International  English  Language  Testing  System  (IELTS)

 

ผลทดสอบระบุชัด  คนไทยมีความสามารถต่ำในการใช้ภาษาอังกฤษ

 

.ดร.อัจฉรา  วงศ์โสธร  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ(ศสษ.)  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)  เปิดเผยว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตของภาษาอังกฤษ  มีผลการเรียนและความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ  โดยข้อมูลจากอีทีเอส  (Education  Testing  Service : ETS)  แห่งสหรัฐอเมริกา  ผู้จัดการสอบโทเฟล(TOEFL)  ระบุว่าคะแนนเฉลี่ยโทเฟลจากการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างเดือน  ..  47 - มิ..  48  ของไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของอาเซียน  รองจากสิงคโปร์  ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย  พม่า  อินโดนีเซีย  เวียดนาม  และ  ลาว  ตามลำดับ  โดยไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 201 คะแนน  และลาวมีคะแนนอยู่ที่ 203 คะแนน  จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน  อย่างไรก็ตามลาวมีจำนวนผู้เข้าสอบเพียง 33 คน  ขณะที่ไทยมีผู้เข้าสอบถึง 9,262 คน

 

ทั้งนี้  การสอบโทเฟลเป็นการสอบภาษาอังกฤษเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการศึกษาต่อต่างประเทศ  ลักษณะของข้อสอบมีทั้งส่วนที่เป็นการฟัง  การอ่าน  การเขียน  และโครงสร้างภาษา  นอกจากนั้นอีทีเอสยังเป็นผู้จัดการสอบโทอิค(TOEIC)  ซึ่งเป็นการสอบภาษาอังกฤษเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการสมัครงานต่างประเทศ  เช่น  ด้านสายการบิน  โรงแรม  และ  ธนาคาร  เป็นต้น  ข้อสอบจะมีส่วนที่เป็นการฟังและหลักไวยากรณ์  มีคะแนนเต็ม 900 คะแนน  คะแนนเฉลี่ยโทอิคระหว่างปี 2547 - 2548  ของไทยเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน  รองจากฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และกัมพูชา  ตามลำดับ  โดยไทยมีคะแนน 524 คะแนน  ขณะที่กัมพูชามีถึง 606 คะแนน

 

ยิ่งไปกว่านั้น  คะแนนเฉลี่ยภาษาอังกฤษจากการสอบเอ็นทรานซ์ตั้งแต่การสอบในเดือน  มี..  2545 - มี..  4548  ไม่มีปีไหนที่มีคะแนนเฉลี่ยเกินร้อยละ 50  โดยในการสอบครั้งล่าสุดคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่เพียงแค่ร้อยละ 40.14  ทั้งที่ข้อสอบไม่ได้ยาก 

 

"สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษขาดความต่อเนื่อง  ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจจำเป็นต้องสอนภาษาอังกฤษโดยไม่ได้จบวิชาเอกด้านภาษาอังกฤษมาโดยตรง  ขณะเดียวกันหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาให้ความสำคัญกับวิชาการมากกว่าการนำไปปฏิบัติใช้ในการสื่อสารได้จริง"

 

เร่งรัดพัฒนาหลักสูตรแก้วิกฤต

 

รศ.อรุณี  วิริยะจิตรา  ที่ปรึกษา ศสษ.  กล่าวว่า ศสษ. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือน  ..  2546  เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรม  จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม  ประสานการฝึกอบรมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างประเทศ  รวมทั้งติดตามประเมินประสิทธิภาพของการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  ดังนั้นเมื่อประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตของความสามารถทางภาษาอังกฤษ  ศสษ. จะได้เร่งทำหลักสูตรการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่แตกต่างจากหลักสูตรที่มีใช้อยู่ในสถาบันต่างๆตรงที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงในการนำไปใช้งานได้จริงในแต่ละอาชีพ  เช่น  แพทย์  พยาบาล  มัคคุเทศก์  และพนักงานนวด  เป็นต้น  ทั้งนี้คาดว่าหลักสูตรจะแล้วเสร็จภายในปีนี้  หลังจากนั้นจะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่สนใจและมีความพร้อมด้านบุคลากร  นำหลักสูตรไปใช้เพื่ออบรมภาษาอังกฤษได้

"นอกจากนั้น ศสษ. ยังได้จัดทำมาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรม  เพื่อให้การฝึกอบรมด้านภาษาอังกฤษมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ  รวมทั้งศูนย์ยังให้บริการด้านภาษาอังกฤษ  เช่น  แบบทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ  และหลักสูตรการอบรมภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ  รวมทั้งได้รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านภาษาอังกฤษเสร็จเรียบร้อยแล้ว  รอการประชุมเพื่อยกร่าง  และทำประชาพิจารณ์  จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ศสษ.  ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้" 

 

นานาทรรศนะ : ชี้การสอบวัดระดับเป็นเพียงใบรับรองทางสถาบัน  ไม่อาจบอกได้ถึงความ

สามารถที่แท้จริง

 

ธีรพงษ์  ลัพธวรรณ์  หัวหน้ากองบรรณาธิการ  "Compass"  นิตยสารฉบับหนึ่งในเชียงใหม่ซึ่งตีพิมพ์สองภาษา  เป็นผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ทำงานในฐานะล่ามและนักแปลมาอย่างโชกโชน  กล่าวว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันการศึกษาของไทย  มักไม่ค่อยเอื้อประโยชน์ต่อการนำไปใช้จริงเท่าไรนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะวกวนอยู่กับหลักโครงสร้างภาษาและไวยากรณ์  ซึ่งบ่อยครั้งอาจพบว่าว่าคนไทยหลายคนมีความรู้ด้านหลักโครงสร้างและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษดีกว่าเจ้าของภาษาบางคนด้วยซ้ำ  แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ในการติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากเป็นความรู้ที่มาจากการท่องจำเป็นส่วนมาก  แต่ขาดทักษะจากการฝึกฝนเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริง

 

"แต่การสอบวัดระดับของบางมาตรฐานก็สามารถวัดความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษได้ส่วนหนึ่ง  แล้วแต่ลักษณะของแบบทดสอบด้วยว่าครอบคลุมทักษะสำคัญครบทุกด้านหรือไม่  แบบทดสอบที่เป็นปรนัยมากก็อาจวัดความสามารถที่แท้จริงได้ไม่ค่อยดีนัก  เพราะสามารถเดาคำตอบที่เป็นตัวเลือกได้  จากที่เคยทำงานเป็นล่ามมายอมรับเลยว่าไม่ได้ฟังรู้เรื่องทั้งหมด  และพบว่าคนแต่ละชาติที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา  จะมีรูปแบบการใช้ภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันออกไป  หาได้ยากที่จะใช้ภาษาอังกฤษได้เช่น

เดียวกับเจ้าของภาษา  อย่างคนสิงคโปร์ส่วนมากก็จะใช้ภาษาอังกฤษแบบสิงลิช  ซึ่งก็เป็นรูปแบบเฉพาะของชาวสิงคโปร์  คนไทยเองก็เป็นเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตามการใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริงเป็นประจำน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ"  ธีรพงษ์  กล่าว

 

นักศึกษาระดับปริญญาโทรายหนึ่งยืนยันว่า  โดยส่วนตัวแล้วเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร  ทั้งการฟัง  พูด  อ่าน  และเขียน  อยู่ในระดับที่พอใช้ได้  เคยสอบวัดระดับการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งใช้แบบทดสอบของมหาวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่  แต่สอบไม่ผ่านในครั้งแรกจึงต้องเข้าเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้  เมื่อเรียนจบหลักสูตรดังกล่าวและมาสอบใหม่จึงสอบผ่าน  แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วกลับพบว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของตนกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับพนักงานบริษัทรายหนึ่งที่เปิดเผยว่า  ตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาภาษาอังกฤษ  แต่งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาสักเท่าใด  ทำให้รู้สึกบ้างเหมือนกันว่าความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของตนถดถอยลงไป  "หลังเรียนจบมาตั้งใจไว้เหมือนกันว่าจะสอบโทอิคเก็บคะแนนไว้  เผื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับการทำงานในอนาคต  แต่ก็ยังไม่ได้ไปสอบเสียที  งานที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษมากนัก  ก็เลยลืมๆไปบ้างแล้วเหมือนกัน  แต่ก็พยายามหาโอกาสทบทวนและฝึกฝนอยู่เสมอ"

 

สันติภาพ  อินกองงาม  ศิลปินอิสระผู้มีผลงานแสดงในเวทีระดับนานาชาติมาหลายงาน  รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์พิเศษสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบสื่อ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  ภาษาอังกฤษที่คนไทยส่วนมากเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษเชิงสถาบัน  อ้างอิงอยู่กับหลักสูตรของสถาบันการศึกษาซึ่งค่อนข้างคับแคบและล้าหลัง  ในความเป็นจริงแล้วประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองทั่วโลกมีจำนวนมากกว่าประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา  และการใช้ภาษาอังกฤษโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษามักจะเป็นการใช้ในรูปแบบที่ผิดไปจากต้นตำรับ  สรุปคือมีคนใช้ภาษาในรูปแบบที่เรียกว่าไม่ถูกต้องมากกว่าคนที่ใช้ภาษาในรูปแบบที่ถูกต้อง  จึงเกิดความคลุมเครือขึ้นมาว่าควรยึดอะไรเป็นมาตรฐาน

 

"ก่อนหน้านี้ได้ไปลงเรียนหลักสูตรการเขียนเชิงวิชาการกับโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่งมา เพราะคาดว่าน่าจะช่วยให้เขียนรายงานในรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นทางการได้ดีขึ้น  แต่เมื่อเรียนจนจบหลักสูตรก็พบว่าเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแทบทั้งนั้น"  สันติภาพ  กล่าว

 

"ปัญหาของคนไทยอาจเป็นเพราะการเรียนภาษาอังกฤษจากภาษาไทย ทำให้เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง  ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วจึงมาเปลี่ยนให้เป็นภาษาอังกฤษทีหลัง ขาดการโต้ตอบด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  อีกประเด็นหนึ่งอาจมาจากการที่ระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยเอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นเชิงอภิปราย  เมื่อพูดคุยกับเจ้าของภาษาซึ่งมีเนื้อหาเชิงอภิปรายค่อนข้างสูง  ทำให้อาจสื่อสารกันได้ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าที่ควร  ความแตกต่างกันอย่างมากทางวัฒนธรรมก็อาจมีผลด้วยเช่นกัน"

 

อย่างไรก็ตามการนำความสามารถทางภาษาอังกฤษดังกล่าวของคนไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว-เขมร  หลายคนบอกว่าชวนให้รู้สึกถึงการเหยียดชาติพันธุ์ที่ยังคงครอบงำความคิดของคนไทยบางส่วนอยู่ไม่น้อย  ทั้งที่ในความเป็นจริงความเจริญกว่าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าประเทศไทยต้องเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆด้านแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกัน  การเรียนภาษาอังกฤษสู้เขาไม่ได้  ก็ใช่ว่าจะทำให้เราด้อยกว่าเขาไปเสียทุกเรื่อง.          

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท