Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รู้จักโพแทสเซียมคลอเรต


 


โพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารที่เกษตรกรนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไยทั้งในและนอกฤดูกาล แต่ปัญหาที่สำคัญคือ สารดังกล่าวเป็นสารตั้งต้นของวัตถุระเบิดร้ายแรง และอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ หากการใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายได้จากการระเบิด เมื่อถูกการกระแทก หรือลุกติดไฟในที่จำกัด ดังเช่น เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานอบแห้งลำไยที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  การใช้สารดังกล่าวมีการขออนุญาตซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันมีการอนุโลมให้เกษตรกรใช้และครอบครองสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมโดยตรง แต่เนื่องจากมีการใช้สารดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการครอบครองโพแทสเซียมโดยเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งยากต่อการควบคุมและป้องกัน จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเมื่อกลางปี 2542


 


รู้ใช้อย่างปลอดภัย


 


งานวิจัย "การพัฒนาการเร่งดอกลำไยที่มีโพแทสเซียมคลอเรตเป็นองค์ประกอบหลักในรูปแบบที่ปลอดภัยและสะดวกในการใช้ของชาวสวนลำไย" โดยดร.สมคิด พรหมมา ศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.เป็นการพัฒนาสูตรผสมที่มีโพแทสเซียมคลอเรตเป็นองค์ประกอบโดยไม่มีคุณ สมบัติในการเป็นวัตถุระเบิดหรือติดไฟด้วยการผสมสารถ่วงชนิดต่างๆเพื่อให้สารผสมโพแทสเซียมคลอเรตที่ได้หมดสภาพหรือความสามารถในการระเบิดโดยใช้วิธีทดสอบการระเบิดที่เป็นมาตรฐาน  ตลอดจนไม่สามารถแยกบริสุทธิ์สารนี้ได้อีกโดยวิธีกล


 


การประกอบสูตรสารผสมโพแทสเซียมคลอเรตชนิดปลอดภัยจากการระเบิดนี้สามารถทำได้ใน 4 ลักษณะคือ ชนิดผง, ชนิดเม็ด ชนิดละลายน้ำและชนิดละลายน้ำรวมแร่ธาตุอาหาร และทดสอบการระเบิดของสูตรทั้ง 4 เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามเมื่อทราบถึงส่วนผสมต่าง ๆ แล้ว ได้ทำการ ศึกษาถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย เช่น วิธีการเตรียมโพแทสเซียมคลอเรต ชนิดของเครื่องผสม การผลิตสารผสมขั้นต้น เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสูตรต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยที่สุดในรูปแบบต่าง ๆ คือ แบบผงไม่ละลายน้ำ แบบผงละลายน้ำ แบบผงละลายน้ำผสมแร่ธาตุ และแบบเป็นเม็ดสำหรับหว่าน


 


"เมื่อพัฒนาสูตรสำเร็จแล้ว ได้มีการทดลองใช้ในสวนของเกษตรกร 3 ราย จำนวน 125 ต้น และได้ผลดี โดยวัดจากการออกช่อ การติดผล และคุณภาพผลเมื่อเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงทดลองซ้ำกับเกษตรกรอีก 9 ราย จำนวน 290 ต้นและวัดผลในเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์และออกแบบสอบถามทัศนคติกับเกษตรกรผู้ใช้  และวัดในเชิงปริมาณโดยวัดการออกดอก ความยาวช่อ และการติดผลพบว่า เกษตรกรมีความพอใจ และต้องการใช้ต่อไป โดยมีเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงให้ความสนใจและต้องการซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ต้องการให้มีหน่วยงานควบคุมคุณภาพ และมีราคาไม่แพงกว่าโพแทสเซียมคลอเรตบริสุทธิ์ที่มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท  โดยเกษตรกรมีความพอใจสารผสมรูปแบบผงละลายน้ำมากที่สุด รองลงมาคือรูปแบบเม็ด เพราะสะดวกในการใช้ โดยละลายในน้ำและรดเพียงรอบเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบหว่านต้องมีการรดน้ำจนกว่าเม็ดจะละลายหมด นอกจากนั้น การใช้ในรูปแบบละลายน้ำยังพบว่าทำให้ออกดอกมากกว่า ช่อดอกยาวกว่า และติดผลมากกว่า"


 


ดร.สมคิด กล่าวว่า เกษตรกรในแถบ อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และอ.แม่ทา อ.เมือง จ.ลำพูน ที่ได้ทดลองนำสารเร่งดอกลำไยชนิดที่ปลอดภัยไปใช้ต่อเนื่องและได้ผลดี จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ห้าเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรใกล้เคียงได้เรียนรู้ ทำให้มีความต้องการสารที่ปลอดภัยมากขึ้นในวงกว้างและเรียกร้องให้มีการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุด และติดต่อให้ผู้วิจัยผลิตสารผสมเพื่อใช้ในระยะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ออกจำหน่าย 


 


ผลการวิจัยนี้ได้ถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและควบคุม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการยุติให้เกษตรกรครอบครองสารบริสุทธิของโพแทสเซียมคลอเรตและส่งเสริมให้เอกชนมากกว่า 1 ราย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสารผสมดังกล่าวในรูปแบบคล้ายปุ๋ย เพื่อดำเนินการผลิตภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม และยกเลิกการควบคุมลักษณะยุทธ์ปัจจัยสำหรับสารผสมที่ปลอดภัย โดยมีการควบคุมคุณภาพให้อยู่ในมาตรฐานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในรูปแบบที่ปลอดภัยจากการระเบิด


 


รู้คำนึงถึงสุขภาพ


 


นอกจากจะทราบถึงวิธีนำสารโพแทสเซียมคลอเรตมาใช้อย่างปลอดภัยแล้ว แนวทางในการศึกษาถึงผลกระทบของการใช้สารดังกล่าวในกรณีผู้บริโภคก็เป็นสิ่งจำเป็น โดย รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาเรื่อง "การประเมินความเป็นพิษของผลลำไยที่ได้จากการใช้สารโพแทสเซียมเป็นสารเร่งการออกดอก" พบว่าสารสกัดจากลำไยอบแห้งมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเม็ดเลือดได้ในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่ลำไยสดไม่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดเหมือนลำไยอบแห้ง  "การวิจัยนี้ทำใน 2 ส่วนคือ 1.นำผลลำไยสดที่ทราบแหล่ง


ที่มาชัดเจนแน่นอนว่ามาจากสวนที่ไม่มีหรือมีการใช้โพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารเร่งดอก นำมาอบแห้งเองในห้องปฏิบัติการ และ2.นำลำไยอบแห้งที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมาทำการทดลอง ซึ่งผลปรากฏว่า ลำไยอบแห้งจากทั้ง 2 แหล่งสามารถทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้และมะเร็งเม็ดเลือดในหลอดทดลองได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าเนื้อลำไยอบแห้งอาจพัฒนาเป็นสารต้านมะเร็งได้ แต่ควรต้องมีการศึกษากลไกการเหนี่ยวนำก่อน"


 


การทดลองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารสกัดที่ได้จากลำไยที่มีการใช้โพแทสเซียมคลอเรต พบว่าสารสกัดจากลำไยสด  แสดงแนวโน้มถึงความสามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็ง(มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ตายด้วยรูปแบบของการทำลายตนเองแบบอะพอพโตซิส (Apoptosis) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้การกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดตายนั้น พบในสารสกัดด้วยน้ำจากลำใยที่ใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตทางราก 4 กรัม ต่อตารางเมตร และสารสกัดด้วยเอธานอลของลำไยที่ใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตทางรากความเข้มข้น 16 กรัมต่อตารางเมตร และเมื่อนำลำไยอบแห้งมาทดสอบได้พบว่าสารสกัดจากลำไยอบแห้งมีฤทธ์ทำลายทั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ดีขึ้น


 


ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบผลของสารสกัดจากลำไยสด ต่อการยับยั้งหรือการส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็ง ด้วยการทดสอบในสัตว์ทดลอง นั่นคือหนูขาวพันธุ์ Wistar ให้ได้รับสารสกัดจากลำไยทุกๆวันเป็นเวลา 4-16 สัปดาห์ ไม่พบว่ามีความผิดปกติต่อเซลล์ลำไส้ใหญ่ของหนูขาว   แต่พบว่าการให้สารสกัดจากลำไยที่ใช้โพแทสเซียมคลอเรตทางรากขนาด 8 กรัมต่อตารางเมตร และใช้ทางใบขนาด 2000 ppm ร่วมกับสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นระยะเวลานานถึง 16 สัปดาห์ สามารถเพิ่มปริมาณรอยโรคที่เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่พบการเพิ่มขนาดของรอยโรคของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแสดงว่าในสารสกัดลำไยอาจส่งเสริมเมแทบอลิซึมของสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น 


 


ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า "ถ้าหากเราสามารถศึกษาเพิ่มเติมถึงฤทธิ์การยับยั้งการเกิดรอยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ของสารสกัดจากลำไยแห้งในสัตว์ทดลอง และวิจัยถึงกลไกการยับยั้งการเกิดมะเร็ง ที่เกิดจากสารสกัดจากลำไยแห้งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคลำไยอบแห้ง เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ อีกทั้งการพัฒนางานวิจัยเพื่อแยกสารสกัดที่ได้จากลำไยอบแห้งออกมา เพื่อใช้ในการผลิตสารยับยั้งมะเร็งที่สกัดจากธรรมชาติ ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ลำไยภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง" เมื่อจะมีการใช้สารโพแทสคลอเรตในสวนลำไยกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ หน่วยงานต่างๆ จึงกังวลกับผลกระทบของการใช้สารโพแทสคลอเรตต่อผลผลิตลำไย  ต่อผู้บริโภคลำไยและต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและการระเบิดของสารโพแทสคลอเรต  ซึ่งได้เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อวันที่  19 กันยายน 2542 ทำให้มีคนตาย 36 คน ปัญหาเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าลำไยสดและอบแห้งได้ การหาข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเตรียมข้อมูลชี้แจงในกรณีที่มีการอ้างเพื่อการกีดกันทางการค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น 


 


รู้จัดการสิ่งแวดล้อม


 


เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน สกว.จึงมีงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเกษตรกรนำสารโพแทสเซียมคลอเรตไปใช้โดยมีงานวิจัย  "ผลกระทบของการใช้สารคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้สารคลอเรต" โดย รศ.สมชาย องค์ประเสริฐ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาและพบว่า สารโพแทสเซียมคอลเรตมีการสลายตัวในดินเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเท่านั้น โพแทสคลอเรตจึงสลายตัวในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงได้เร็วกว่าในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้การใช้สารโพแทสคลอเรตโดยการราดทางดินในอัตรา 4 เท่าของอัตราการใช้ที่แนะนำ ไม่มีผลต่อสมบัติใดๆ ของดิน (อัตราการราดทางดินที่แนะนำเมื่อ พ.ศ. 2542 คือ 10 กรัมต่อตารางเมตรของดินที่ทรงพุ่ม หรือประมาณ 200 กรัมต่อต้นขนาดทรงพุ่ม 6 เมตร)และความเข้มข้นของโพแทสคลอเรตที่ถือว่าไม่มีผลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในดินคือ กระทบต่อการอยู่รอดของไส้เดือนดินและวัฏจักรไนโตรเจนในดินคือ 50 มก./กก. และผลการติดตามโพแทสคลอเรตตกค้างในสวนลำไยที่มีการใช้คลอเรต 2 - 3 ครั้งด้วยอัตรา 1-2 เท่าของคำแนะนำ 25 สวนในช่วงปี พศ. 2542-2543 พบว่า ภายใต้การจัดการสวนของเกษตรกร  โพแทสเซียมคลอเรตในดินลดลงเหลือไม่เกินระดับที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายใน 2-3 เดือนหลังจากราด  และภายในเวลา 1 ปีโพแทสเซียมคลอเรตจะสลายตัวหมดจากดิน


 


รศ.สมชาย กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบการใช้สารโพแทสคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยพบว่า การใช้โพแทสเซียมคลอเรตของเกษตรกรมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นเฉพาะในแนวราดโพแทสเซียมคลอเรตเท่านั้น  แต่ไม่มีผลกระทบระยะยาว ทำให้ความกังวลต่อผลกระทบของการใช้โพแทสเซียมคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยหมดไป 


 


การนำสารโพแทสเซียมคลอเรต มาใช้ประโยชน์ในลำไย เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากเรารู้เท่าทันและนำมาใช้อย่างถูกวิธี นอกจากจะปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภคแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลลำไยไทย เกิดเป็นมาตรฐานผลไม้ที่ปลอดภัย เพื่อก้าวสู่ตลาดโลกได้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net