เวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง การเสริมสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การพัฒนาสันติสุขแบบบูรณาการโดย นพ. ประเวศ วะสี     

 

เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา   คือแนวทางตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว    การพัฒนาให้เกิดสันติสุขท่ามกลางความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่  จำเป็นต้องพัฒนาแบบบูรณาการบนพื้นฐานชุมชนเข้มแข็ง  โดยฟื้นและสร้างทุนทางสังคมซึ่งได้แก่ ทุนอันมาจากพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ทุนจากการเข้าถึงหัวใจของศาสนา ทุนที่ได้จากการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงทุนจากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ จะต้องบูรณาการโครงสร้างที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดพลังการขับเคลื่อนตามแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ โครงสร้างที่เป็นภาคความรู้ได้แก่กลุ่มโต๊ะครู กลุ่มครูสอนศาสนา  ภาคประชาสังคมได้แก่กลุ่มโต๊ะอิหม่าม และภาคการเมืองได้แก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หากโครงสร้างทั้ง 3 ภาคส่วนเชื่อมรวมพลังกัน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ เช่น ทำให้เกิดแผนแม่บทชุมชนบูรณาการ ก็จะทำให้เกิดสันติสุขได้ทางหนึ่ง

การพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ คนไทยจะต้องมีหลักคิด 4 เรื่องคือ เรื่องแรกจะต้องเปลี่ยนคำถามของสังคมไทย จากจะทำอย่างไรจึงจะรวยเป็นจะทำความดีได้อย่างไร เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการดำเนินชีวิตสู่แนวทางที่ถูกต้อง เรื่องที่สองคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความรักความเอื้ออาทรต่อกัน เรื่องที่สามคือจะต้องเชื่อว่าพลังจากชุมชนเข้มแข็งจะขับเคลื่อนสังคมได้ จะต้องทำให้พลังในแนวราบขยายเพิ่มมากขึ้นเสริมพลังในแนวดิ่งที่มีอยู่เดิม และเรื่องสุดท้ายคือ จะต้องพยายามกันขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เริ่มจากเครือข่ายเล็กๆขยายออกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

กลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการบูรณาการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการจัดเวทีในระดับต่างๆ และต้องสร้างกลไกหรือช่องทางการเชื่อมประสาน ถักทอ กับภาคส่วนต่างๆ

 

ประสบการณ์และข้อเสนอ ในการเสริมสร้างสันติสุขของเครือข่ายภาคประชาสังคม

            ประสบการณ์และข้อเสนอในการเสริมสร้างสันติสุข ของเครือข่ายประชาสังคมต่างๆมีดังต่อไปนี้

เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง (วศิน สาเมาะ) ซึ่งทำงานในพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาแบบบูรณาการ จะต้องมีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะตามวิถีชีวิตมุสลิม  และใช้กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา อันได้แก่

·         อิมบาดัต คือ  การเข้าถึงหัวใจของศาสนา และใช้ พิธีกรรมทางศาสนาสู่ชุมชนมุสลิมเป็นสุข

·         สร้างเศรษฐกิจชุมชนมุสลิมที่เข้มแข็ง เช่นการสร้างเสริมอาชีพบนฐานท้องถิ่น และการมีกองทุนซากาต

·         ด้านสังคมวัฒนธรรม เช่น วางกฎกติกาชุมชน มีการตัดสินข้อถกเถียงทางศาสนา โดยมีสภาซูรอ และการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้มากขึ้น

·         ด้านการศึกษา  ควรสร้างศูนย์วิถีชีวิตชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

นอกจากนี้จะต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการสู่ชุมชนเป็นสุขโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

เครือข่ายครูเพื่อชุมชน (กรีฑา แดงดี)  เห็นว่ามี 2 แนวทางสำคัญในการทำงานของเครือข่ายครูคือ

แนวทางแรกเป็นการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรครู  ณ สถานการณ์ปัจจุบันต้องเร่งสร้างขวัญกำลังใจ ควบคู่กับการพัฒนา โดยเรียกร้องให้รัฐมีความเข้าใจ และมีความจริงใจ ต่อการป้องกันชีวิตแก่บุคลากรครู โดยมีระบบการรักษาความปลอดภัยและสร้างแรงจูงใจ เช่นการจัดสวัสดิการ ค่าตอบแทน เงินเสี่ยงภัย และให้ความมั่นคงในอาชีพ เช่น การบรรจุเป็นข้าราชการ

แนวทางที่สองเป็นการสร้างความเข้มแข็งของระบบการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งมีองค์ประกอบที่ต้องพัฒนาแบบบูรณาการใน 3 ส่วนที่สำคัญเชื่อมโยงกัน คือ  ครู  นักเรียน และ ชุมชน  โดยใช้การจัดการการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิถีศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งต้องปรับหลักสูตรและกิจกรรม นอกจากนี้จะต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อวิถีศาสนา เช่น การจัดห้องละหมาดที่สมบูรณ์ในโรงเรียน

 

เครือข่ายวิชาการเพื่อชุมชน (นุกูล รัตนดากุล) สะท้อนให้เห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ธรรมชาติของภาคใต้ ซึ่งจะคงอยู่อย่างยั่งยืนได้ ชุมชน ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่ว่าปลาไม่มีวันหมดจากน้ำ นกไม่มีวันหมดจากฟ้า หากศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า  ดังนั้นการยึดมั่นในหลักศาสนาจะเป็นแนวทางในการรักษาทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้จากการศึกษาแผนที่ภูมิปัญญาอ่าวปัตตานี พบว่าพื้นที่แหล่งนี้เต็มไปด้วยองค์ความรู้ เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญเช่นกัน  หากสามารถใช้ภูมิปัญญาและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นฐานการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตวิญญาณ เพื่อป้องกันการเบียดเบียน ป้องกันการครอบงำจากฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดี ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ภาคใต้เกิดสันติสุข

 

เครือข่ายองค์กรมุสลิมเพื่อสันติภาพ (มุกตาร์ กีละ)  เชื่อว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อให้รู้จักและสัมพันธ์กัน  จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจ ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของตนเอง และของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   ปัจจุบันพบว่าแม้แต่คนในพื้นที่ยังมีความเข้าใจในวิถีอิสลามที่แท้จริงแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมซับซ้อนขึ้น เช่น บทบาทเพศหญิงถูกกดขี่ คุณภาพของคนในพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้ถูกชักจูงได้ง่าย

ที่ผ่านมาสังคมในชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมที่ใช้ความเห็น หรือการสอนโดยขาดองค์ความรู้ ขาดข้อมูลที่แท้จริง ทำให้การบริหารบ้านเมืองและการแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก   การจัดโครงสร้างการแก้ปัญหาวนเวียนแบบเดิม แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น โครงสร้างกอ.สสส.จชต. ต้องสร้างโครงสร้างใหม่ และต้องเชื่อว่าความรุนแรงไม่เคยนำมาสู่ซึ่งสันติสุข

นอกจากนี้  ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เห็นพ้องกันว่า

หากวันนี้มุสลิมในประเทศไทยจะหาแนวทางหรือจะคิดทำอะไรเพื่อประเทศและสังคมให้เป็นสังคมที่เดินไปด้วยกันกับสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมเพื่อนบ้าน  จำเป็นต้องหันหน้ามาคุยกัน  ต้องมีการสื่อสาร พูดคุยกับผู้นำทั้งหลายเพื่อขยายความสมานฉันท์

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (คนึง นวลศรี) เชื่อมั่นว่าการใช้หลักธรรมพุทธศาสนาจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงการสร้างกำลังใจ  สร้างความเข้มแข็งรวมพลัง  สร้างเครือข่าย โดยควรมีพื้นที่ เวที สำหรับการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ท่านพระครูอุดม ธรรมทร วัดปิยาราม ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง ได้ให้ความเห็นว่า พี่น้องชาวพุทธพร้อมจะยืนเคียงข้างกับพี่น้องไทยมุสลิม สร้างสรรค์ความดีให้เกิดขึ้นกับแผ่นดินนี้ โดยจะรักษาแผ่นดินนี้ไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ท่ามกลางหลากหลายวัฒนธรรม เพราะถ้ามีเพียงวัฒนธรรมใด วัฒนธรรมหนึ่ง เชื่อได้ว่าจะไม่สวยงาม คนเราจะอยู่คนเดียวบนโลกไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกัน เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สมัครสมานสามัคคีกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง (โกเมศ ทองบุญชู) ที่ผ่านมาแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองถือเป็นวิจัยชุมชน  และเป็นแผนชีวิตชุมชน     เป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนมาเรียนรู้  กำหนดทิศทางร่วมกัน การเสริมสร้างสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ชุมชนต้องเข้มแข็งและต้องสร้างแผนชีวิตชุมชน

 

ประสบการณ์และข้อเสนอ ในการเสริมสร้างสันติสุขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 ฝ่ายผู้กำหนดและกำกับนโยบาย (รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ : ดร. จิราพร บุนนาค)  แสดงให้เห็นถึงแนวคิดใหม่เรื่องความมั่นคงคือการยอมรับความจริงการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม การเคารพ ให้เกียรติในความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่

 กลไกการแก้ปัญหา คือ ต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัย สร้างความเป็นเอกภาพของหน่วยงานระดับสูง

ผ่านช่องทางวัฒนธรรม  ตัวอย่างการปฏิบัติเช่น โต๊ะอิหม่าม 1654 มัสยิด เสนอตั้งวิทยาลัยโต๊ะอิหม่าม และให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

ฝ่ายความมั่นคง (พลตรี พงศักดิ์ อินทรวงศ์ศักดิ์ รองแม่ทัพภาค 4 เลขาธิการกอ.สสส.จชต.)  ชี้แจงว่าที่ผ่านมากอ.สสส.จชต.มีการเปลี่ยนโครงสร้างบ้าง แต่หลักใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง  นโยบายการดำเนินงานยังยึดหลักการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  มีการดำเนินงานในหลายด้านพร้อมๆกับงานความมั่นคง เช่น การพัฒนาแผนงานการศึกษาสามัญและปอเนาะ การสร้างความเข้าใจ โดยใช้การสื่อสารมวลชน จัดทำโครงการตำบลสานสัมพันธ์ ด้านความมั่นคง ความปลอดภัย  มีการประชุมร่วมกันกับกลุ่มต่างๆเช่นกลุ่มครู ด้านงบประมาณมีการจัดงบสนับสนุนจังหวัดชายแดน

นอกจากนี้ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน พันตำรวจเอกสมพงศ์ ขอนแก่น ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า   การทำงานสมานฉันท์ที่ผ่านมา เกิดความสมานฉันท์เพียง 2 ฝ่าย คือฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายชุมชนที่สมานฉันท์กันอยู่แล้ว แต่ฝ่ายที่ก่อเหตุร้ายไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถหยุดการปฏิบัติการความรุนแรงได้ ทุกวันนี้การดำเนินงานใช้หลักศาสนานำตลอด และพบว่าบางพื้นที่ มีการสร้างภาพ การดำเนินนโยบายกับการปฏิบัติยังไม่สอดคล้องกัน ยังมีปฏิบัติการที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน เช่นการ ควบคุมตัวเกิน 7 วัน นอกจากนี้ยังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ

 

            ฝ่ายสาธารณสุข (นพ.สุวัตร เทียนทองผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข,นพ.สมชัย ธงวัฒนะวิระยา, นพ.มารุต จิระเศรษฐศิริ) กระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นทำงานในเรื่องการรักษาพยาบาล ปฏิบัติงานอย่างเป็นกลาง สถานพยาบาลให้บริการผู้ป่วยเหมือนกันหมด ไม่ว่าผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ทำความเสียหายก็ตาม ที่ผ่านมาจะดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขพร้อมกับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต เนื่องจากคุณภาพชีวิตของ 3 จังหวัดนี้ไม่ทัดเทียมกับในภูมิภาคอื่น ๆ  การรักษาพยาบาลขณะนี้เน้นทางด้านจิตใจ โดยมีจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิต เป็นศูนย์สุขภาพจิตที่ 15  แยกมาจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 รับผิดชอบ 3 จังหวัดโดยตรง

ปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง เช่นแพทย์ศัลยกรรม และการให้บริการสาธารณสุขบางด้านไม่สามารถทำได้เช่น งานส่งเสริมสุขภาพในชุมชน และ ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยหนักในเวลากลางคืน    การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ถือเป็นเรื่องอันดับแรกของกระทรวงสาธารณสุข และมีการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังพยายามสร้างเครือข่ายสาธารณสุขเช่นสร้างกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน ชมรมสร้างสุขภาพ ชมรมผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน

 

ฝ่ายปกครองในพื้นที่ (คุณวินัย ครุวรรณภัทร  ปลัดจังหวัดยะลา)  ชี้แจงว่า การดำเนินงานในอันดับแรกคือการสร้างเอกภาพต่าง ๆ ในทุกระดับ ทั้งเอกภาพทางความคิดในการแก้ปัญหา เอกภาพในการปฏิบัติ นอกจากนี้พยายามสื่อสารให้สังคมภายนอกและต่างประเทศ เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เท่าเทียมกัน มีสิทธิ เสรีภาพ มีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน  ในด้านสังคมจิตวิทยา พยายามปรับวิธีคิด ความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนเพื่อหาทางสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ คุณชาญวิทย์ วัชยางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกิจกรรมของจังหวัดปัตตานีที่ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยใช้ฐานคิดอยู่บนความหลากหลายของวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และเชื่อว่าความยั่งยืนของวัฒนธรรมตรงนี้ จะต้องผสมผสานเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนาทั้งสามส่วนคือพุทธ มุสลิม และคริสต์ ให้ได้ ส่วนการทำงานจะต้องร่วมกันจาก 3 ภาคส่วนคือพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทั้งระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

 

จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น นำไปสู่ข้อสรุปเบื้องต้นในการเสริมสร้างสันติสุข ดังต่อไปนี้

o        เป้าหมายคือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนา ร่วมคิด ร่วมทำ แก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีของท้องถิ่น เพื่อการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในพื้นที่พหุวัฒนธรรม

o        ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการ ควรดำเนินงานในหลายด้านพร้อมๆกับงานความมั่นคง งานพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น

·   ส่งเสริมให้มี สภาซูรอ  เป็นการใช้กลไกของผู้นำชุมชน

·   ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา  ปรับหลักสูตรการเรียนทางศาสนาในโรงเรียนสามัญ  การจัดกิจกรรมละหมาดที่สมบูรณ์ในโรงเรียน

·   ส่งเสริมการพัฒนาชุมชน โดยการใช้แผนแม่บทชุมชน

·   สร้างเครือข่ายปฏิบัติการในชุมชน

o        กลไกการขับเคลื่อนข้อเสนอให้เป็นจริง   ต้องมีมาตรการเฉพาะหน้า

·   การส่งเสริมสร้างขวัญกำลังใจ

·   การปฏิบัติการที่สอดคล้องกับการนโยบาย

·   การสร้างเอกภาพของการแก้ปัญหาในระดับต่างๆ

·   การสื่อสารมวลชน

·   การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

·   การเชื่อมโยงกับภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณ  การจัดการงบประมาณตามแผนแม่บทชุมชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท