Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ่ายวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 "มูฮำหมัด ดือราแม" ผู้สื่อข่าวประจำศูนย์ข่าวภาคใต้ของ "ประชาไท" เข้าไปที่โรงพักสะบ้าย้อย เพื่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงที่เกิดเหตุนองเลือดพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ก่อนที่จะถูกค้นและเชิญตัวไปสอบปากคำเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง


 


"กรณีสะบ้าย้อย" ซึ่งเกิดในช่วงเช้ามืดวันเดียวกันกับเหตุนองเลือดที่มัสยิดกรือเซะ บริเวณหน้าศูนย์ บริการประชาชน สภ.อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมจำนวน 19 คน โดยพบศพผู้เสียชีวิตในร้านอาหารสวยนะจำนวน 15 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กหนุ่มที่มาจาก ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 17 คน และเป็นสมาชิกทีมฟุตบอลประจำหมู่บ้านสูโส๊ะ ต.ธารคีรี 


 


ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 19 คน ต่างติดใจสงสัยว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจทำเกินกว่าเหตุ เนื่องจากสภาพศพของผู้เสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่หนีไปจนมุมในร้านอาหาร มีลักษณะคล้ายถูกยิงในระยะประชิด


 


ขณะที่สาเหตุที่จูงใจให้เด็กหนุ่มกลุ่มนั้นไปร่วมขบวนก่อการฯ กับผู้เสียชีวิตในที่อื่นๆ รวม 100 กว่าคน  ยังเป็นความลับอันดำมืดยังไม่มีผู้ใดไขข้อเท็จจริงได้


 


เหตุผลทั้งหมด เพียงพอให้ "ประชาไท" เกาะติดพื้นที่ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงทั้งจากปากคำฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ร่วมเหตุการณ์อื่นๆ มาเป็นเวลาร่วมปี ซึ่งการเดินทางไปทำข่าวของ"มูฮำหมัด" ในครั้งนี้ ก็เป็นการเก็บข้อมูลตามปรกติ ทั้งก่อนหน้านี้เคยพูดคุยและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ "ผู้กำกับการและรองผู้กำกับสถานีตำรวจ สภ.อ.สะบ้าย้อย" จนคุ้นเคยมาแล้ว


 


ดังนั้นเมื่อถูกค้นและสอบปากคำระหว่างทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว "มูฮำหมัด" จึงยินดีตอบคำถามและให้ตรวจค้นโดยความบริสุทธิ์ใจ


 


แม้ตัวของ "มูฮำหมัด" จะปลอดภัยและได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่จากบันทึกปากคำของ "มูฮำหมัด" ในนาทีที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและสอบปากคำตัวเขานั้น สะท้อนให้เห็นความจริงในเบื้องลึกประการสำคัญ ที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐไทยไม่สามารถนำพาสังคมก้าวข้ามปัญหาวิกฤตการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้


 


"ความจริง" ที่ว่าคือ "ทัศนคติที่ไม่สมานฉันท์" ของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่กับกลุ่มทางสังคมต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง


 


ใช่หรือไม่ว่า เพราะทัศนคติดังกล่าว ทำให้เกิดความหวาดระแวงไปทั่วทั้งสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมองชาวบ้านด้วยสายตาที่เป็นลบ  ทำให้นโยบายสันติและสมานฉันท์ฯ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันผ่านคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติหรือกอส. โดยหวังว่า จะเกิดความสมานฉันท์ในสังคมทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่นั้น  ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร


 


ใช่หรือไม่ว่า เหตุชาวบ้านในพื้นที่ถูกอุ้มหาย-ฆ่าทิ้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ จนรัฐต้องตั้งศูนย์ติดตามคนหายฯ ขึ้นมานั้น ก็เนื่องจากการยึดกุม "ทัศนคติในเชิงลบ"ดังกล่าวไว้อย่างแน่นหนา และแปรความผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ เป็นผู้ก่อการฯ ที่ต้องกำจัดทิ้งทั้งหมด


 


ใช่หรือไม่ว่า "มูฮำหมัด" เองก็ตกเป็นเหยื่อของ "ทัศนคติ" ดังกล่าว โดยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอาจจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือกระทำเองโดยความเชื่ออย่างฝังใจว่า "ผู้สื่อข่าว" เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุความไม่สงบของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


กล่าวอย่างถึงที่สุด สำหรับกรณี "มูฮำหมัด ดือราแม" ผู้สื่อข่าวประชาไท อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์แรกของสัญญาณอันตรายที่ว่า วิกฤตการณ์ไฟใต้อยู่ในภาวะ "เปราะบางยิ่ง" และ "ใกล้ผ่านจุดวกกลับ" ที่หากไม่แก้ไขให้ทันการณ์ เราอาจต้องใช้เวลามากกว่าชั่วชีวิตเพื่อฟื้นคืนสันติสุขให้กลับคืนมาสู่สังคมไทยโดยรวมก็เป็นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net