ทวิวิถีทางการเมือง: แนวทางสันติและภาวะฉุกเฉิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รายงานสถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย ประจำเดือน กรกฏาคม 2548

 

 

เหตุการณ์ในประเทศ

 

รอบเดือนกรกฎาคม 2548 สถานการณ์ทั้งในและระหว่างประเทศยังคงมีความเข้มข้นสูง มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่างๆ และเหตุการณ์ผันผวน ภาวะเช่นนี้น่าจะดำรงอยู่นาน เนื่องจากทั้งโลกกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและการปรับตัว

 

1. สถานการณ์ทั่วไป

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1) ปรากฏการณ์ทวิวิถีทาง

การเมือง รัฐบาลทักษิณได้เสนอนโยบายทวิวิถี (Dual Tract) ทางเศรษฐกิจ ซึ่งกล่าวอย่างสรุปก็คือ เพิ่มความสมดุลระหว่างตลาดภายนอกและตลาดภายใน และได้นำมาปฏิบัติจนเกิดผลสะเทือน มีผู้เรียกว่า "เศรษฐกิจแบบทักษิณ" ซึ่งก็มีผู้เห็นด้วยที่ลงคะแนนให้อย่างล้นหลามและผู้ไม่เห็นด้วยที่รวมตัวเป็น "กลุ่มรู้ทันทักษิณ" มาในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องด้วยภาวะการบีบคั้นทางสถานการณ์ที่เกิดปฏิบัติการก่อการร้ายใหญ่ในบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ ทางรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉินขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดกระแสสูงของการต่อสู้ 2 แนวทาง ระหว่างแนวทางสันติกับแนวทางเสถียรภาพความมั่นคง จนในที่สุดได้เกิดการประนีประนอมระหว่างแนวทางสันติกับแนวทางเด็ดขาดเพื่อความเป็นระเบียบมั่นคง เรียกได้ว่า เป็นทวิวิถีทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทักษิณ

 

2) กล่าวได้ว่าการต่อสู้ถกเถียงระหว่างสองแนวทางข้างต้นได้ก่อผลดีอย่างสูง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าประชาธิปไตยใช้ได้ผลในประเทศ นั่นคือ ทำให้เกิดการทบทวนและความรอบคอบ ไม่กระทำโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป เช่น การเน้นภาวะฉุกเฉินมากเกินไป จะทำให้มองภาพภารกิจของการยุทธ์ที่มีหลากมิติไม่ครบถ้วน ภารกิจของการยุทธ์นั้นดูจะมี 3 สาระสำคัญ ได้แก่ (1) การปรามปราบการกระทำผิดอย่างเด็ดขาด (2) การทำสงครามข่าวสารรวมทั้งทางด้านการทูต (3) การทำสงครามแย่งชิงประชาชน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายภาวะฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อาจช่วยภารกิจในข้อที่ (1) เป็นสำคัญ ขณะที่มีประโยชน์ไม่มากนักหรือกระทั่งก่อผลด้านลบในภารกิจข้อที่สอง และข้อที่สาม ในอีกด้านหนึ่งการเน้นสันติวิธีมากเกินไป ย่อมทำให้มองข้ามเจตนาและปฏิบัติการรุนแรงของกลุ่มก่อเหตุร้ายที่มีแนวคิดชาตินิยม หรือเชื้อชาตินิยมแห่งมลายู ต้องการสร้างรัฐอิสระ แล้วใช้การตีความทางศาสนาเพื่อเป็นข้ออ้าง เสนอการสร้างรัฐอิสลาม ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่ถือว่ารัฐไทยไม่อาจแบ่งแย่งแยกได้และเป็นรัฐแบบโลกวิสัย ใช้กฎหมายสากลสำหรับทุกเชื้อชาติและศาสนา

 

3) สถานการณ์ทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอน เหตุการณ์รุนแรงและการก่อการร้ายสากล ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในอันที่จะเน้นหนักในทางความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม การสร้างความรู้สึกรักชาติหรือชาตินิยม ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นความจำเป็น แต่ในสถานการณ์เช่นนี้หากจะได้พยายามรักษาความสมดุลในทวิวิถีทางการเมืองน่าจะบังเกิดผลดีสูงกว่า

 

2. กรณีสามจังหวัดภาคใต้

1) สถานการณ์ทั่วไป ยังคงมีปฏิบัติการก่อเหตุร้ายรายวัน โดยมีความพยายามที่จะก่อเหตุใหญ่เป็นระยะๆ คาดหมายว่ากลุ่มก่อเหตุร้ายจะแสดงตนเป็นผู้ปกครองเพื่อเทียบเคียงกับรัฐบาลมากขึ้น เช่น กรณีการให้หยุดทำงานในวันศุกร์

2) มีความชัดเจนในลักษณะจำเพาะของกลุ่มก่อเหตุมากขึ้น มีความเห็นพ้องในหลายฝ่ายมากขึ้นเกี่ยวกับกลุ่มก่อเหตุร้ายว่าเป็นกลุ่มที่ถือเชื้อชาตินิยมพร้อมกับข้ออ้างหรือการตีความทางศาสนาอิสลาม ส่วนที่เป็นแกนกลางและผู้ปฏิบัติการระดับต่างๆ น่าจะเป็นผู้มีฐานะดีหรืออยู่ในระดับชนชั้นกลาง มีการศึกษาสูง กลุ่มเหล่านี้ได้มีปฏิบัติการเหนียวแน่นฝังตัวมานาน รวมทั้งได้รับการหนุนช่วยจากต่างประเทศในระดับที่แน่นอน ดังนั้นคาดหมายกันว่าการต่อสู้น่าจะยืดเยื้อ แม้ว่ากลุ่มนี้จะดูมีพลังสูงแต่ก็มีจุดอ่อน ได้แก่ การใช้ความรุนแรงสังหารผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งมีการสำรวจประชามติพบว่าชาวมุสลิมทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อวินาศกรรมรุนแรง ในอีกประการหนึ่งการเสนอตั้งรัฐอิสลาม ในยามที่โลกต้องการการติดต่อ ความอดทนต่อความแตกต่าง อาจอยู่ในวงจำกัด ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลามก็ยังไม่ได้ประกาศเป็นรัฐอิสลาม

3) การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ-ความเสียหายและผลด้านบวก โดยยึดตามรัฐธรรมนูญและผลประโยชน์แห่งชาติ คาดว่าไม่ว่ารัฐบาลไทยชุดใดย่อมไม่ยอมให้มีการตั้งรัฐอิสระขึ้นมาได้ แต่จะดำเนินงานด้านต่างๆเพื่อบรรลุความสันติสุขในพื้นที่นั้น เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ดังกล่าวมีด้านดีที่เปิดโอกาสปรับปรุงกลไกรัฐโดยเฉพาะทหารและตำรวจ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ประสิทธิภาพ ความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใส และการเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน นอกจากนี้ น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการประพฤติปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือ

 

3. น้ำมันแพงกับการปรับตัวทางเศรษฐกิจ

น้ำมันแพงดูกำลังกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ-การเมืองรุนแรงของโลกและประเทศไทย แม้ความตระหนักเรื่องนี้จะยังไม่มากก็ตามที มีประเด็นที่น่าจับตาได้แก่

1) เหตุที่มาแห่งน้ำมันราคาแพง เป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่าสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้น้ำมันราคาแพงเกิดจากการไม่สามารถผลิตได้มาก และทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพราะภาวะที่น้ำมันผลิตได้ถึงจุดหรือใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่และมีแนวโน้มลดลง ในกลางเดือนกรกฎาคม บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเชฟรอนได้ลงโฆษณาเต็ม 2 หน้าในหนังสือพิมพ์สำคัญๆ ได้แก่ นิวยอร์กไทมส์และวอลสตรีท เจอนัลและหนังสือพิมพ์อื่น ประกาศว่า "ยุคแห่งน้ำมันใช้สบายมือสิ้นสุดแล้ว" บ่อน้ำมันสำคัญของโลกได้ใช้มานานแล้ว และว่าอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าโลกจะบริโภคน้ำมันราว 1 ล้านล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนน้ำมันสำรองที่คาดว่าเหลืออยู่ (ไมเคิล ที. แคลร์,ยุคสนธยาของปิโตรเลียม,ทอมดิสแพทช์, 050805)

2) เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจำต้องปรับตัวให้เข้ากับน้ำมันแพง เป็นที่สังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนา เผชิญกับปัญหานี้รุนแรงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยหลายแห่งเกิดจลาจลเมื่อมีการขึ้นราคาน้ำมัน  ดังนั้น จึงจำต้องปรับตัวเองมากกว่า น้ำมันยังได้กลายเป็นเรื่องการอ่อนไหวทางการเมือง เช่น กรณีบริษัทซีนูกของจีนต้องการซื้อบริษัทยูโนแคลของสหรัฐ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจธรรมดา ได้กลายเป็นประเด็นการเมืองขึ้น การปรับตัวทางเศรษฐกิจ การแข่งขันแย่งชิงน้ำมัน ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบๆ และดำเนินไปอย่างช้าๆ มีแนวโน้มที่จะก่อตัวหมุนไปด้วยความเร็วสูงตามเวลาที่ผ่านไป

3) น้ำมันแพงรอบนี้ประจวบกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจ-การเมืองสหรัฐปรากฏชัด บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณความอ่อนแอของสหรัฐ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐขึ้นสู่จุดสูงสุดตั้งแต่ราวต้นทศวรรษ 1970 ความอ่อนแอดังกล่าวแสดงออก เช่น ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจอย่างสูง การจมปลักในสงครามอิรัก และการสูญเสียเกียรติภูมิทั่วโลก เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี พ.ศ.2540 จอร์จ ซอรอส นักการเงินใหญ่ของโลกตีความว่าเป็นการปริแยกที่รอยตะเข็บของระบบทุนนิยม แต่ความอ่อนแอของสหรัฐเป็นสัญญาณของรอยปริในศูนย์กลางระบบ เป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง และจะก่อผลกระทบอย่างสูง การรับมือทำได้ลำบาก

4) กรณีประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงสูงมากประเทศหนึ่ง มีคำนวณว่าหากราคาน้ำมันขึ้นสูงเช่นราว 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตเท่ากับศูนย์  การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2548 ถูกปรับลดลงโดยหลายหน่วยงานและสถาบัน ถ้าหากปรับค่าเงินเฟ้อซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าน่าจะค่อนข้างน้อย เป็นการท้าทายใหญ่สำหรับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมของชาติ เป็นปัญหาที่ขยายตัวจากเรื่องน้ำมันแพงขึ้นมาหลายเท่า

5)  แนวทางแก้ปัญหามีอยู่หลายด้าน เช่น ด้านพลังงาน ที่กระทำกัน ได้แก่ การประหยัดพลังงาน การหาพลังงานทดแทนน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันดูฝากความหวังไว้กับการหาพลังงานทดแทน มี ก๊าซโซฮอล์ ไบโอดีเซล และก๊าซเอ็นจีวี เป็นต้น ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งในเฉพาะหน้า แต่ที่ไม่ควรละเลย ได้แก่ การพิจารณากำหนดโควต้านำเข้าและการใช้น้ำมันอย่างจริงจัง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการร่วมกันพิจารณาจากหลายฝ่ายอย่างรอบคอบและมีการปฏิบัติอย่างมีจังหวะก้าวและสอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจในแต่ละสาขา ถ้าหากโชคดีที่วิกฤติพลังงานรอบนี้ไม่รุนแรงเกินไป ก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ในด้านเศรษฐกิจ มีการเร่งส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมและฟื้นฟูการท่องเที่ยว รวมทั้งการควบคุมราคาสินค้าบริการไม่ให้ขึ้นพรวดพราด ซึ่งเป็นมาตรการเก่า แต่ก็ควรทำต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจ ได้แก่ การดูแลการนำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมากเกินไป ในทางสังคม-การเมือง มีการรณรงค์เพื่อประหยัดการใช้พลังงานและน้ำมันอย่างกว้างขวาง โดยใช้แก่นเรื่องความรักชาติ

6) คิดใหม่ทำใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 แต่เป็นการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองโลกใหม่ มีภาวะน้ำมันแพง สัญญาณปริร้าวในศูนย์กลางโลก และวิกฤติภัยธรรมชาติ เป็นต้น ต้องการการคิดใหม่ทำใหม่อย่างแท้จริง มีประเด็นที่ควรสนใจ 3 ประการได้แก่ (1) การสร้างสมดุลระหว่างตลาดกับสังคม  เนื่องจากมีสัญญาณที่แสดงถึงความไม่แน่นอน การแข่งขันและข้อพิพาทหรือสงครามทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติเข้มข้นขึ้น โครงสร้างการเงินโลกที่อ่อนแอ กระบวนโลกาภิวัตน์อาจสะดุดลงด้วยเหตุไม่คาดคิด ตลอดจนความสำคัญที่สูงขึ้นของระดับภูมิภาค ดังนั้น จึงไม่ควรวางใจในเรื่องการค้าและการลงทุนมากและนานจนเกินไป นโยบายทวิวิถีหรือการสร้างสมดุลตลาดภายนอกกับตลาดภายใน แม้ว่าจะยังปฏิบัติไม่ได้ผลจริงจัง แต่ก็อาจมีส่วนในการช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในช่วงของการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อการอยู่รอดในโลกที่วุ่นวาย นโยบายนั้นอาจยังไม่พอเพียง เนื่องจากเป็นการเน้นการตลาดด้วยกันทั้งคู่ บางทีจำต้องต้องสร้างความสมดุลอีกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ความสมดุลระหว่างตลาดกับสังคมหรือชุมชน ทวิวิถีใหม่นี้ดูจะทำได้ยากกว่าแบบเดิม และไม่มีสัดส่วนหรือสูตรที่จะกำหนดขึ้นได้ง่ายๆ

(2) โครงการเมกะโปรเจ็กต์ หรือการลงทุนจากภาครัฐในขนาดที่พอสมควร อาจจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ต้องกระทำด้วยความรอบคอบยิ่ง มีบางอย่างที่อาจต้องสนใจเพิ่มขึ้น เช่น การประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างงาน การสร้างความรู้ การกระจายรายได้ และการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

(3) การสร้างเศรษฐกิจภาคอาสาสมัคร เศรษฐกิจสำคัญได้แก่ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งในภาวะปัจจุบันน้อมไปทางด้านการตลาด อาจจำต้องสร้างเศรษฐกิจภาคอาสาสมัครขึ้น เพื่อการสร้างงาน การสร้างสินค้าและบริการที่จำเป็นพร้อมกับสังคมชุมชนเข้มแข็งมากกว่าเพื่อกำไร เศรษฐกิจภาคอาสาสมัครนี้สามารถกระทำได้ในกิจการ เช่น ด้านสาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคง ไปจนถึงงานบริการสังคมอื่น ซึ่งต้องอาศัยประชาสังคม ได้แก่ องค์กรประชาชนต่างๆ  รวมไปถึงกลุ่มเอ็นจีโอที่ถูกทอดทิ้งไปนาน การสร้างเศรษฐกิจภาคอาสาสมัครขึ้นมานี้ น่าจะทำให้ประเทศไทยอย่างน้อยพออยู่ได้ หรือกระทั่งน่าอยู่ขึ้น

 

4. การปรับคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนสิงหาคม

ล่าช้าจากกำหนดปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นข่าวที่พูดถึงกันมาก  มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1) เป็นการปรับค่อนข้างใหญ่ ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ในแง่การบริหาร น่าจะเป็นการปรับให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองที่เปลี่ยนไป และการก้าวเดินต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์ยังจะเปลี่ยนแปลง จึงคาดกันทั่วไปว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีต่อไปอีก

2) แสดงถึงกลุ่มผู้นำยังคุมสถานการณ์อยู่ การปรับครั้งนี้แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังสามารถกุมสถานการณ์ได้ทั้งภายในและภายนอกพรรค และดูจะมีความช่ำชองทางการเมืองมากขึ้น ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคก็ใหญ่ขึ้นด้วย โดยทั่วไปถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับกัน

3) คาดหมายว่ารัฐบาลยังคงต้องเผชิญกับศึกหนักต่อไป เพราะว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นวิกฤติพิเศษ แก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ตาม "กลุ่มรู้ทันทักษิณ" น่าจะไม่สามารถก่อกระแสให้สูงกว่าที่เคยทำได้ แม้ว่ายังสามารถสร้างคลื่นลมทางการเมืองได้ต่อไป

4) การปรับคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเห็นได้ว่าส่วนที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจสามารถปรับได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนที่เป็นด้านการปกครอง ก็สามารถปรับตัวและสนองนโยบายรัฐบาลได้เร็ว แต่ก็ยังต้องดูผลต่อไป ส่วนที่เป็นด้านสังคม บางด้านปรับได้เร็ว เช่น ด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศ ส่วนที่ปรับได้ช้า ได้แก่ ด้านการศึกษาที่ถือว่าเป็นหัวใจของการพัฒนา ด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงคือตำรวจและทหารปรับตัวได้ช้าที่สุด จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้เริ่มปฏิรูปด้านทหารอย่างเป็นจริงเป็นจัง การปฏิรูประบบราชการได้มาถึงส่วนที่ยากที่สุด ได้แก่ การปฏิรูประบบทหารตำรวจ

 

5. ภัยแล้งเป็นปัญหาเก่าที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น

แม้ว่าจะได้ลงทุนและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ความพยายามจะแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ น่าจะเป็นการเดินที่ถูกทาง แต่ก็ไม่ควรคิดว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย

1) ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรวมทั้งน้ำท่วมฉับพลันและพายุรุนแรง ได้ถูกทำให้รุนแรงขึ้นด้วยปรากฏการณ์เรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน การศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel for Climate Change) คาดว่าในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 44 เซนติเมตร (อินเตอร์เพลส เซอร์วิส 180705) ขณะที่มีรายงานการศึกษาอื่นที่แสดงว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกและเขาสูงกำลังละลาย ในปี 2548 นี้ ปรากฏภูมิอากาศแปรปรวน เช่นความแล้งจัด ร้อนจัด คาดว่าจะมีพายุใหญ่มากขึ้น ก่อความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำอีก ในหลายแห่งทั่วโลก บางแห่งที่ไม่เคยเกิดก็เกิด เช่น อุทุกภัยใหญ่ที่เมืองมุมไบหรือบอมเบย์

2) ภัยแล้งลามเข้ามาถึงภาคอุตสาหกรรม หลังจากคุกคามภาคเกษตรกรรมมานาน แสดงถึงความหนักหน่วงรุนแรงของปัญหา ความขัดแย้งย่อมขยายตัวไม่เพียงระหว่างเกษตรกรด้วยกัน แต่ยังเป็นระหว่างเกษตรกรและนักอุตสาหกรรม

3) การจัดการต้นทุนน้ำทุกเม็ดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ปรากฏความเชื่อมั่นว่าเราสามารถจัดการกับต้นทุนน้ำได้ทั้งหมด แต่ในธรรมชาติในกระแสน้ำมีสิ่งมีชีวิต เป็นระบบนิเวศน์ที่เปราะบาง ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของผู้คนด้วย ทั้งในการเป็นแหล่งทำกินไปจนถึงการพักผ่อนท่องเที่ยว มนุษย์ไม่สามารถดึงน้ำทุกเม็ดมาใช้ เพราะว่าสัตว์อื่นก็ต้องการใช้ด้วย ควรจะได้กำหนดขีดสูงสุดว่าเราจะนำน้ำมาใช้แต่ละปีเท่าใด การนำน้ำมาใช้มากเกินไปทำให้ทะเลสาบหลายแห่งแห้งลง ปากแม่น้ำเหลืองที่ยิ่งใหญ่ของจีนที่มีสันดอนทรายกว้างสุดสายตา ในบางเดือนไม่มีน้ำไหลลงทะเล กล่าวโดยรวมก็คือการนำปัญหาทั้งหมดมาตีแผ่ และหาทางแก้กันอย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันความหวาดระแวงและความเข้าใจผิดที่ไม่จำเป็น

 

สถานการณ์ต่างประเทศ

 

1. สงครามยึดครองอิรัก

มีประเด็นควรจับตา ได้แก่

1) สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะอนาธิปไตย ใกล้ขีดสงครามกลางเมือง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว กองกำลังอิรักภายใต้การอุ้มชูของสหรัฐยังไม่ส่อแววความเข้มแข็ง ในการรักษาความสงบเรียบร้อย สหรัฐเพิ่มการก่อสร้างเพื่อการฝังตัวในดินแดนนี้ให้นานที่สุด สิทธิประชาธิปไตยชาวอิรักโดยเฉพาะสิทธิสตรีอาจไม่ได้มาอย่างคาด

2) สรุปค่าใช้จ่าย ค่าใช้ตัวเงิน ตกเดือนละ 8 พันล้านดอลลาร์ และกำลังเป็นสงครามที่มีราคาแพงที่สุดของสหรัฐเหนือกว่าสงครามในเวียดนาม โดยคาดว่ากว่าจะสิ้นสงครามจะต้องใช้เงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ค่าเสียหายทางทหาร มีทหารเสียชีวิตกว่า 1,700 คน บาดเจ็บกว่า 13,000 คน (ซานฟรานซิสโก ครอนิเคิล 190705) ทางการเมืองเกียรติภูมิของสหรัฐลดลงในประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะในประเทศมุสลิม   ค่าเสียหายของประเทศและชาวอิรัก สุดที่จะประมาณ ค่าเสียหายต่ออารยธรรมโลก อิรักเป็นอู่อารยธรรม ปรากฏว่าสิ่งมีค่าวัตถุโบราณถูกปล้นขโมยจากพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ นักวิชาการบางคนกล่าวว่า "เป็นหายนะทางวัฒนธรรมที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 500 ปี" (TomDispatch.com 080705) อนึ่ง พบว่าชาวนิวยอร์กผู้หวาดผวาการก่อวินาศกรรมจำนวนถึงร้อยละ 88 ตุนของกินของใช้ที่จำเป็นไว้ (New York Daily News)

3) แนวโน้มการฆ่าและความรุนแรงยังคงมีต่อไป สหรัฐจะยังคงต้องรักษาอิรักอันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นอภิมหาอำนาจของตน แต่ก็พบว่าเสียงสนับสนุนสงครามอิรักและตัวประธานาธิบดีบุชได้ลดต่ำลงมาก บางความคิดเห็นว่าการยุติการยึดครองอิรักและถอนทหารออกมาในเวลาที่กำหนดไว้ อาจช่วยทำให้การก่อการร้ายสากลลดลง (เดอะ การ์เดียน 120705) อนึ่ง มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายก้าวหน้าในสหรัฐเพื่อการยึดสหรัฐคืนจากกลุ่มขวาจัด เช่น เสนอคำขวัญว่า "ขอให้อเมริกันเป็นอเมริกันอีกครั้ง" อเมริกันอันเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ไม่ใช่อเมริกันที่เป็นจักรวรรดิ หลอกลวง และลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน

 

2. การวินาศกรรมในมหานครลอนดอน

วินาศกรรม 9/11 ที่กรุงนิวยอร์ก กล่าวกันว่าเป็นการโจมตีที่ศูนย์กลางโลก การวินาศกรรมกรุงลอนดอน 7/7 มีผู้เรียกว่าเป็นการโจมตีหัวใจของยุโรป ซึ่งจะเปลี่ยนภาพของกรุงลอนดอนและยุโรปไปไม่มากก็น้อย ลอนดอนที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและค่อนข้างปลอดภัยภายใต้การสอดแนมที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังสูญเสียภาพลักษณ์นั้น ขณะที่ทางการอังกฤษได้พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สิ่งที่ฝ่ายบริหารเกรงกลัวได้เป็นจริง 2 ประการนั่นคือ 1) คนเชื้อสายอังกฤษเองไม่ใช่คนภายนอกเป็นผู้ลงมือ 2) เป็นระเบิดพลีชีพ กลุ่มปฏิบัติการดังกล่าวมีข่ายใยครอบคลุมไปหลายประเทศ โดยเฉพาะในปากีสถานที่เป็นพันธมิตรกับตะวันตกเอง

อนึ่ง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกันมีรายงานว่าเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่สองแสดงว่าอัตราการเติบโตในปี 2548 คาดว่าสูงเพียงร้อยละ 1.7 ต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาวะถดถอย (เดอะ การ์เดียน 230705)

 

3. การลอยตัวค่าเงินหยวนอย่างมีการจัดการของจีน

ข่าวการลอยตัวค่าเงินหยวนอย่างมีการจัดการของจีนนี้ ได้เป็นข่าวใหญ่ มีข้อน่าสังเกตดังต่อไปนี้

1) การลอยค่าข้างต้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง มากกว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ กล่าวได้ว่าเกิดจากแรงกดดันจากสหรัฐและพันธมิตร ที่หวาดเกรงการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน มีนักเศรษฐกิจสหรัฐจำนวนหนึ่งชี้ว่าการบีบให้จีนลอยตัวค่าเงินหยวน ไม่ช่วยให้สหรัฐพ้นจากการเสียเปรียบดุลการค้า หรือมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และการทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาจส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเอง แต่เรื่องนี้เป็นด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ดังนั้นจึงคาดหมายว่าสหรัฐและพันธมิตรจะกดดันจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวนต่อไป

2) ความน่าหวาดเกรงของจีน ไม่ใช่อยู่ที่ขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นหลายเท่าในช่วง 30 ปีมานี้ และยังมีแนวโน้มโตในอัตราสูงต่อไป เพราะว่าตามตัวเลขจีดีพีโลกของธนาคารโลกปี 2004 ขนาดเศรษฐกิจจีนยังเล็กกว่าของฝรั่งเศสที่มีประชากรเพียง 60.65 ล้านคน พลังของจีนนั้นอยู่ที่ประชากรจำนวนมหาศาล 1.3 พันล้านคนที่ขยันขันแข็งและใฝ่หาความรู้ ซึ่งเป็นแหล่งทำกำไรได้อีกยาวนาน การยกระดับทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วอาจทำให้จีนสามารถขับเคลื่อนไปตามลำพังตนได้ ดังนั้นจึงจำต้องสกัดกั้นเสียแต่ต้น

3) ความหวังของฝ่ายบริหารของจีนในการย้อนรอยตะวันตก นั่นคือ ใช้โครงสร้างและกลไกของระบบทุนเองเพื่อดึงดูดความมั่งคั่งมาเข้าประเทศตน ซึ่งทำสำเร็จมาได้ระดับหนึ่ง น่าจะประสบอุปสรรคและความยากลำบากมากขึ้น คาดหมายว่าการปิดล้อมจากฝ่ายตะวันตกน่าจะแข็งขันขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทในจีนน่าจะลด สิ่งนี้ย่อมให้บทเรียนที่สำคัญว่า ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์นั้นเป็นกระบวนการที่ดูดซับความมั่งคั่งจากชายขอบสู่ศูนย์กลาง ไม่ใช่กลับกัน

4) ฝ่ายบริหารจีนที่ได้พิสูจน์ตนเองว่ามีความยืดหยุ่น มองกว้างและไกลระดับที่แน่นอน หากฟันฝ่าพ้นปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้ และมองในด้านดี หวังว่าจีนจะเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ประชาสัมพันธ์ สกว.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท