Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 








"เกษตรกรเม็กซิโกเล่าให้ฟังว่า ยังไม่ทันที่จะได้เก็บเกี่ยว พืชผลจากอเมริกาก็เข้ามาเต็มตลาดแล้ว และมีราคาถูกกว่ามาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากล้มละลาย และส่วนใหญ่พยายามหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในอเมริกา เพื่อหาอาชีพเลี้ยงตัว" ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์ กรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ เล่าประสบการณ์ศึกษาดูงาน หลังจากเพิ่งกลับจากเม็กซิโกไม่กี่วัน

 


ระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-3 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้เดินทางไปรับทราบข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมเม็กซิโก หลังจากทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรือนาฟต้า มาเป็นเวลา 11 ปี เพื่อเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีของไทย ที่กำลังเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ มากมายรวมทั้งสหรัฐอเมริกา


 


ทั้งนี้เม็กซิโกในระหว่างปี 2493-2512  สามารถสร้าง "ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ" ด้วยการพัฒนาอุตสาห


กรรมทดแทนการนำเข้า สามารถพัฒนาความสามารถในการส่งออกภาคเกษตรและอุตสาหกรรม จนได้รับการยอมรับว่า มีคุณสมบัติเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ : NICs"


 


ภาพลักษณ์ของเม็กซิโกในสายตาของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติน่าเชื่อถือมากและการร่วมเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ก็ยิ่งเป็นการประกาศว่า เม็กซิโกพร้อมที่จะก้าวเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรือง


 


ข้อตกลงนาฟต้านี้ทำขึ้นในปี 2537 ระหว่าง สหรัฐอเมริกา-แคนาดา-เม็กซิโก ที่มีชายแดนติดกัน เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและบริการระหว่างประเทศ ทั้งการยกเลิกภาษีศุลกากร การส่งเสริมการแข่งขัน ขยายโอกาสการลงทุน การคุ้ม


ครองทรัพย์สินทางปัญหา และการแก้ไขข้อพิพาททางการค้า


 


กรรมาธิการชุดนี้เดินทางไปพบบุคคลหลายส่วน ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงเศรษฐกิจ นักวิชาการ เครือ ข่ายเกษตรกรรายย่อย และองค์กรที่คัดค้านนาฟต้า


 


ส.ว.จอน เล่าสถานการณ์ปัจจุบันของเม็กซิโกให้ฟังว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับเม็กซิโกอย่างมากตอนนี้คือ เรื่อง อธิปไตยทางอาหาร เพราะช่วง 11 ปีของนาฟต้าที่อุปสรรคทางการค้ามลายหายไป เม็กซิโกต้องพึ่งพิงสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ซึ่งมีราคาถูกกว่า เนื่องจากการผลิตของสหรัฐใช้เทคโนโลยีทันสมัย และมีการอุดหนุนเกษตรกรอย่างสูง


 


ข้อมูลการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ พบว่า ในปี 1993 ก่อนทำข้อตกลงนาฟต้า เม็กซิโกนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐ 5 แสนตันต่อปี พอมาถึงปี 2004 ต้องนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐถึง 7 ล้านตันต่อปี จากประเทศที่ทำการเกษตรเลี้ยงดูตนเองได้ ก็กลับต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านตัวแสบอย่างสหรัฐอย่างน่าตกใจ... ข้าวสาลีต้องนำเข้ากว่า 50% ข้าวเจ้านำเข้ากว่า 80% เนื้อสัตว์นำเข้ากว่า 48%


 


การเข้าร่วมนาฟต้า ก่อผลกระทบที่รุนแรง ต่อโครงสร้างการผลิตของเม็กซิโกที่มีระดับเทคโนโลยีต่ำกว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตสนองตลาดในประเทศ ภาคบริการ และภาคเกษตร การยกเลิกเครื่องกีดกันทางการค้า ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดแคลนเงินทุน ต้องถูกบังคับให้เข้าแข่งขันในตลาดกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีเงินทุนมหาศาล  


 


ท่ามกลางการสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพิงตัวเอง เครือข่ายเกษตรกรระบุว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์กับการณ์นี้คือ กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ล้วนเป็นผู้ร่ำรวยในเม็กซิโกทั้งสิ้น


 


"ข้อตกลงนาฟต้านี่ทำมาสิบกว่าปีแล้ว ประชาชนเดือดร้อนและเริ่มเห็นปัญหา โพลล์ต่างๆ ออกมาแล้วเห็นว่าคนตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก และเรียกร้องอย่างเข้มข้นต่อรัฐบาล บางส่วนอยากให้มีการเจรจาใหม่ บางส่วนอยากให้ยกเลิกไปเลย โดยเฉพาะปีหน้าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการคำตอบจากผู้สมัคร" ส.ว.จอนกล่าว


 


กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังระบุถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต่อต้านเรื่องนี้ว่า องค์กรเกษตรกรของเม็กซิโกมีอยู่หลายร้อยองค์กร มีเครือข่ายทุกเมืองทั้งประเทศ และมีการเชื่อมต่อกับส.ส. และ ส.ว.จำนวนหนึ่งในรัฐสภา


 


"การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่นั่นค่อนข้างเข้มแข็ง เข้มแข็งกว่าของเรามากทีเดียว"


 


ในส่วนของข้อเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยนั้น ต้องการให้รัฐบาลกอบกู้อธิปไตยด้านอาหาร โดยมีการเจรจาใหม่ เพื่อคุ้มครองพืช 24 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยทางอาหารของเม็กซิโกไม่ให้อยู่ในข้อตกลงนาฟต้า เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่ว เนื้อสัตว์ กาแฟ อ้อย เป็นต้น


 


รวมทั้งให้มีการแก้ไขมาตรา 27 ให้เหมือนเดิม หลังจากถูกสหรัฐบีบให้ปรับแก้เพื่อเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจ


 


ส.ว.จอนอธิบายว่า ความเดิมที่ว่านั้นก็คือ ในมาตรา 27 ตามรัฐธรรมนูญของเม็กซิโก จะกำหนดที่ดินที่เกษตรจะใช้ร่วมกันได้ คล้ายกับเป็นสมบัตรสาธารณะ แต่หลังจากเซ็นนาฟต้า สหรัฐได้บีบให้รัฐบาลเม็กซิโกแก้ไขเนื้อหาในกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสารมารถเป็นเจ้าของได้ เป็นการเปิดช่องให้บรรษัทข้ามชาติสามารถกว้านซื้อที่ดินทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพต่อสิทธิคนพื้นเมือง และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพด้วย และที่แสบสุดเห็นจะเป็นการระบุว่าทุกข้อเรียกร้องที่กล่าวมานั้น ขอให้รัฐบาลรับไปดำเนินการออกกฎหมายมารองรับ


 


"ต้องเข้าใจว่าการปฏิวัติในเม็กซิโกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นการปฏิวัติของชาวนา หลังจากนั้นพอมีรัฐธรรมนูญก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงสิทธิของเกษตรกรโดยตลอด แต่รัฐบาลก็มีการคอรัปชั่นมาก มักจะพูดและทำขัดกัน จนประชาชนไม่สามารถเชื่อถือได้อีกต่อไป" ส.ว.จอนอธิบาย


 


สำหรับนาฟต้า นี่เป็นเพียงความเดือนร้อนในภาคเกษตรเท่านั้น ยังไม่นับรวมปัญหามาตรการคุ้มครองนักลงทุน และกรณีพิพาทที่บริษัทเอกชนต่างชาติฟ้องร้องรัฐบาลเม็กซิโกอีกจำนวนมาก


 


อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ความเคลื่อนไหวของประชาชนเม็กซิกันในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นเช่นไร จะมีพลังเพียงพอที่จะกำหนดวาระทางการเมืองได้หรือไม่ หลังจากผ่านความเจ็บปวดมานับ 10 ปี  และประเทศไหนจะเป็นรายต่อไป ?


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net