Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 ตอนที่ 1


 


รศ.เสาวนีย์  จิตต์หมวด*


 


บทนำ

            กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic) โดยทั่วไปแล้วหมายถึง กลุ่มที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน ในแง่ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทางต้นตอที่มาของบรรพบุรุษ (อารง  สุทธาศาสน์, 2524 : 68) ในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนที่ยึดโยงกันอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ทางภาษา สีผิว ศาสนา วรรณะ ตลอดจนภูมิวัฒนธรรมอื่นๆ ในแง่นี้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสำคัญต่อปัญหาการเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง (ชัยวัฒน์  สถาอานันท์, 2539 : 37)


            ในเบื้องแรกมุสลิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากพี่น้องชาวไทยส่วนอื่นในเรื่องของศาสนาอันแนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรม กล่าวคือ มุสลิมคือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีวิถีในการดำเนินชีวิต หรือวัฒนธรรมอยู่ในครรลองของวัฒนธรรมอิสลามเป็นหลัก แต่นั่นมิได้หมายความว่า มุสลิมจะปฏิเสธในการปฏิบัติวัฒนธรรมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม อิสลามกลับแสดงให้เห็นและยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่เป็นการเน้นให้เห็นและนำไปสู่ความเสมอภาคและภราดรภาพ


            ดังนั้นจากกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ มุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีก็ดีและในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ดี ต่างได้รับสถานภาพเฉกเช่นเดียวกันว่าเป็น "ชาวไทยมุสลิม"


 


บรรพบุรุษมุสลิมในธนบุรี


            เฉพาะบริบทของสังคมไทยในธนบุรี ชาวไทยมุสลิมในบริเวณนี้ก็มีที่มาแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์กล่าว คือ นอกจากจะเป็นชนเชื้อชาติไทยแล้วยังเป็นชนที่มีบรรพบุรุษจากเชื้อชาติต่างๆ คือ สายที่มีบรรพบุรุษจากเปอร์เซีย อาหรับ  ชวา-มลายู จาม-เขมร อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศและจีน เป็นต้น


อนึ่ง มุสลิมที่มีเชื้อชาติต่างๆ ดังกล่าว หากจะจำแนกความแตกต่างในแนวความคิดทางการเมืองในประวัติศาสตร์ ยังแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งสองกลุ่มนี้วงวิชาการเรียกว่านิกาย คือ ชีอะห์และซุนนะห์ แต่โดยในความจริงแล้ว ไม่มีนิกายในอิสลาม


 


บรรพบุรุษมุสลิมในธนบุรีมาจากเชื้อชาติต่าง ๆ ดังส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ


            สายอาหรับ-เปอร์เซีย ชาวเปอร์เซียได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายด้วยตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ ตั้งแต่สมัย 1,100 ปีมาแล้วเหมือนกัน (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:4)


            มีหลักฐานแน่นอนว่า ได้มีมุสลิมเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า "แขกเทศ" ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุกแล้วก็เลี้ยวลงไปที่ท่า "กายี" เป็นบริเวณที่มุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง มีถาวรวัตถุร้างไปแล้วยังปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกมาจนทุกวันนี้ว่า "กุฎีทอง" ที่นี่คำว่า "แขกเทศ" มีปรากฏในจดหมายเหตุนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีรกรากบ้านเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขาย ในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)


            ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเฉกอะหมัดซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาตั้งถิ่นฐานและสร้างมัสยิดที่เรียกว่า กุฎีทองแล้ว ยังมีชาวเปอร์เซียที่สำคัญอีกท่านหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง (สงขลา) หลังจากตั้งถิ่นฐานที่อินโดนีเซียมาแล้วระยะหนึ่ง ชาวเปอร์เซียท่านนี้เป็นชาวมุสลิมสายซุนนะห์ชื่อ ท่านโมกอล (เข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ..2145) บิดาของท่านสุลัยมาน ผู้ที่ประกาศแยกสงขลาออกเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองและสถาปนาตนเองเป็น "สุลต่านสุลัยมานซาห์" เมื่อ พ.. 2173 โดยท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.. 2211 ใน  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศพของท่านฝังอยู่ที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลา


            เชื้อสายของสุลต่านสุลัยมานซาห์อยู่ในตระกูลต่าง ๆ ในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นราชสกุลและสกุลต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นมุสลิมและเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนิกชน อาทิ สุทัศน์ ณ อยุธยา    สุคนธาภิรมย์  วัลลิโภดม  จันทโรจนวงศ์  ณ สงขลา  ณ พัทลุง  สุวรรณคีรี  ขัมพานนท์  ศรุตานนท์  วงศ์วานิช ยงใจยุทธ ฯลฯ ที่ยังเป็นมุสลิม เช่น ตระกูสุวรรณกิจบริหาร โยธาสมุทร บางอ้อ สิทธิวนิช          แสงวนิชย์ ปรียากร ชลายนเดชะ บัวหลวง ทองคำวงศ์ ศรเดช ฯลฯ


            สายชวา-มลายู ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายปัตตานีซึ่งเป็นชาวบ้านเรียกว่า "แขกปัตตานี" มักจะประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมและค้าขาย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 21)


            คนที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยศรีอยุธยานั้นมีตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นจะอยู่คลองตะเคียนทางทิศใต้ ส่วนอิสลามิกชนซึ่งมาจากอินโดนีเซียจากเกาะที่เรียกว่า "เกาะมากาซา" หรือ "มักสัน" ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตกลงไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)


            ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ช่วงสงครามไทย-พม่าจนมาถึงช่วงการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้ได้อพยพหลบหนีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรี นอกจากนั้นตลอดสมัยธนบุรีถึง               กรุงรัตนโกสินทร์ก็คงมีมุสลิมเชื้อสายชวา-มลายูย้ายถิ่นฐานจากอาณาจักรปัตตานีมาอยู่ในธนบุรี เพราะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเชิญชวนมาช่วยปฏิบัติงานรับใช้ชาติ ส่วนมุสลิมจากชวาก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเช่นกัน


            สายจาม-เขมร จามและเขมรเป็นคนละเชื้อชาติ เพราะจามเป็นชนที่ผสมระหว่างขอมเดิม อินเดีย มลายูและจีน เป็นต้น จามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเข้ารับราชการเป็นทหารอาสา ดังความในกฎหมายไทย (2439 : 192) ปรากฏว่า ยังมีแขกอีกพวกหนึ่งซึ่งปรากฏในมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า "อาสาจาม"


            มุสลิมที่อพยพจากกัมพูชานี้ ภายหลังเข้ามารวมเป็นพวกอาสาจาม ส่วนสาเหตุที่อพยพ    เข้ามาในไทยเพราะถูกรุกรานจากเวียดนาม (รัชนี สาดเปรม, 2521 : 18)


            เมื่อเกิดสงครามไทย-พม่า กองอาสาจามจึงเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ศัตรูของไทย และเสียชีวิตลงจากการต่อสู้กับศัตรูเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบางอ้อและที่อื่น ๆ


            สายอินเดีย-ปากีสถาน-บังคลาเทศ อินเดียที่ต่อมาแยกประเทศเพิ่มเป็นปากีสถานและ       บังคลาเทศ เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานในไทย


            มุสลิมเชื้อสายอินเดียมีทั้งที่เป็นสายชีอะห์และสายซุนนะห์ และมีทั้งรวมตัวตั้งเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่มและเข้าไปตั้งถิ่นฐานรวม หรือโดยการแต่งงานกับคนในชุมชนมุสลิมเชื้อสายอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว


            มุสลิมอินเดียสายชีอะห์ คือที่มัสยิดตึกขาว (เซฟี) มีสุสานอยู่ใกล้กับกุฎีเจริญพาศน์ ส่วนกลุ่มที่เป็นซุนนะห์คือที่ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือฝั่งพระนคร นอกจากนั้นกล่าวได้ว่า ทุกชุมชนเก่าแก่ในธนบุรี มุสลิมเชื้อสายอินเดียจะกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชุมชนมัสยิดตึกแดงซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของ     พระคลังสินค้า


            สกุลต่าง ๆ ของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายนี้ เช่น วงศ์อารยะ นานา นานากุล นานาวิชิต สยามวาลา ชาลวาล ดุลยรัตน์ สถาอานันท์ สมุทรโคจร วานิชอังกูร วานิชยากร อับดุลราฮิม อมันตกุล อมรทัต  สิมารักษ์  กุลสิริสวัสดิ์ ฯลฯ


            สายจีน มุสลิมเชื้อชาติจีนที่ตั้งถิ่นฐานในธนบุรีอาจมีอยู่บ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางภาคเหนือของไทยและส่วนที่มีอยู่จะเป็นลักษณะการผสมระหว่างเชื้อชาติเสียมากกว่า กล่าวคือ   ชาวจีนซึ่งอาจจะมีทั้งจีนมุสลิมแต่เดิมและจีนที่นับถือศาสนาอื่นแต่เดิม แต่งงานกับมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ เช่นจามมุสลิมก็เป็นกลุ่มเชื้อชาติผสมจีน มุสลิมจากอาณาจักรปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบริเวณอ่าวปัตตานีจำนวนไม่น้อยก็เป็นมลายูผสมจีน ทั้งนี้จากการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ซึ่งอ่าวปัตตานีจะเป็นบริเวณที่พักหลบลมมรสุมอย่างดี


            ส่วนในปัจจุบันมุสลิมจากเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีส่วนหนึ่งก็ได้แต่งงานกับลูกหลานชาวจีนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ โดยมาเข้ารับอิสลาม และมักจะกลายเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดเป็นจำนวนไม่น้อย


 


การตั้งถิ่นฐานและชุมชนมุสลิมในธนบุรี

            ชุมชนมุสลิม (Muslim Community) มุสลิมไม่ว่าจะมีบรรพบุรุษสืบเนื่องจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด ก็จะมีการตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน มีผู้นำ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นไปตามรูปแบบและคำสอนในอิสลาม


            เมื่อเกิดการรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มหรือชุมชน หรือที่เรียกในภาษามลายูซึ่งมาจากภาษาเขมรว่า "กำปง" แล้ว มุสลิมในแต่ละชุมชนจะเสียสละทั้งกำลังทรัพย์ กำลังแรง เพื่อสร้างศูนย์กลางของชุมชนขึ้น นั่นคือ มัสยิดหรือสุเหร่า และหากพื้นที่ไม่จำกัดจนเกินไป บริเวณศาสนสถานจะครบ        รูปแบบ โดยประกอบด้วย อาคารมัสยิด อาคารเรียน และกุโบร์สำหรับฝังศพ แต่บางชุมชนอาจต้องใช้ส่วนหนึ่งของมัสยิดเป็นที่ศึกษา และไปใช้กุโบร์ร่วมกันชุมชนอื่น เช่น มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้สุสานหรือกุโบร์เดียวกับมัสยิดนูรุ้ลมูบีน บ้านสมเด็จ


            อนึ่งชุมชนมุสลิมในธนบุรีที่เป็นชุมชนเก่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือริมคลองต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเส้นทางคมนาคมในอดีตใช้เส้นทางน้ำเป็นสำคัญ


            สำหรับงานศึกษานี้จะนำเสนอเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในธนบุรี จากชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่มีประวัตินับเนื่องมาแต่อดีต ซึ่งมักจะเป็นชุมชนมัสยิดที่อยู่ส่วนในใกล้เขตพระราชฐาน


            เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทยมีการปฏิบัติศาสนกิจบางประการแตกต่างกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน หลังจากที่ท่านศาสดาหรือนบีมูฮำหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีวิต จึงเกิดเป็นมุสลิมสายซุนนะห์กับสายชีอะห์ ดังนั้นในการนำเสนอจึงขอแบ่งชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม ตามสายดังกล่าวคือ


            1. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายชีอะห์ ในสมัยกรุงธนบุรี ชุมชนมุสลิมสายชีอะห์ยังไม่มีมัสยิดเป็นของตนเอง แต่เนื่องด้วยมุสลิมชีอะห์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัดกลุ่มนี้ตั้งชุมชนอยู่ติดกับมุสลิมสายซุนนะห์ที่คลองบางหลวงคือ กุฎีหรือมัสยิดต้นสน ฉะนั้นในการประกอบศาสนกิจโดยทั่วไปก็ดี ศาสนกิจในเดือนมุฮัรรอมสำหรับชีอะห์ก็ดี มุสลิมชีอะห์ จะใช้มัสยิดต้นสนทำพิธี ทั้งนี้รวมถึงกุโบร์ซึ่งเป็นที่ฝังศพก็ใช้ร่วมกัน ซึ่งพระยาจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นสายชีอะห์มาแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ จำนวน 13 ท่าน ก็เป็นมุสลิมชีอะห์ และศพของพระยาจุฬาฯ นับแต่คนที่ 5 ต่างก็ฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดต้นสน


            ในบริเวณริมคลองบางหลวงริมถนนอิสรภาพทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่เชิงสะพานเจริญพาศน์      คือ ชุมชนใหญ่ของมุสลิมชีอะห์ ประกอบด้วยมัสยิด 3 แห่ง  คือ มัสยิดดินฟัลลาห์หรือกุฎีปลายนา มัสยิดผดุงธรรมอยู่หลังกุฎีเจริญพาศน์  และกุฎีเจริญพาศน์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสุสานปลายนา  เป็น  ศาสนสถานที่รู้จักโดยทั่วไปแต่อดีต  สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมในเดือนมุฮัรรอมหรือที่ปรากฏในงานนิพนธ์ว่า "มหะหร่ำ" สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศเหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ความว่า


 


                                    "ดลเดือนเรียกมหะหร่ำ       ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ


                        เจ้าเซ็นสิบวันวาร               ประหารอกฟกฟูมนัยน์"


 


อนึ่ง ข้างกุฎีเจริญพาศน์ยังมีกุโบร์หรือสุสาน ดาวูดีโบราห์  ซึ่งเป็นที่ฝังศพของมุสลิมชีอะห์เชื้อสายอินเดีย  ซึ่งเป็นชีอะห์ที่มีความต่างไปจากชีอะห์ของมัสยิดต่างๆ ในบริเวณนี้  มัสยิดของมุสลิมโบราห์นี้คือ มัสยิดเซฟีหรือตึกขาว


            สำหรับศาสนสถานแห่งแรกของมุสลิมชีอะห์ในบริเวณนี้คือ กุฎีหลวง สร้างในรัชกาลที่ 1 เช่นกัน โดยได้ทรงพระราชทานที่ดิน 60 ไร่ ใกล้กับพระราชวังเดิมให้กับหลวงศรีเนาวรัตน์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด (ต่อมาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 5) ตั้งชุมชนในบริเวณพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันกุฎีหลวงถูกย้ายไปอยู่ในซอยกุฎีหลวง ถ.พรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ  ทั้งนี้เพราะกองบัญชาการกองทัพเรือต้องการขยายพื้นที่ จึงขอแลกเปลี่ยนพื้นที่กันเมื่อ พ.ศ. 2490


            บรรพบุรุษของมุสลิมชีอะห์ส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นชาวเปอร์เซียจากเมืองกุม คือ ท่านเฉกอะหมัดและเฉกมะหะหมัดสะอี๊ดซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขาย  ที่กรุงศรีอยุธยาในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148)


เฉกอะหมัดเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับชาวไทยในกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสามารถในด้านการค้าและเศรษฐกิจทำให้ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163-2171) ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี และกรมท่ากลาง หลังจากช่วยปราบจราจลจากการก่อการของญี่ปุ่นได้สำเร็จ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาในการปกครองแผ่นดิน


            เฉกอะหมัดเป็นบรรพบุรุษของหลายตระกูลในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนา เช่น ตระกูลบุนนาค ปราโมช บุรานนท์ ศรีเพ็ญ จาติกรัตน์ เป็นต้น ซึ่งเชื้อสายท่านในส่วนนี้ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเชื้อสายที่เป็นมุสลิม ได้แก่ ตระกูลต่างๆ เช่น อหะหมัดจุฬา อากายี จุฬารัตน์ ยวงมณี ฯลฯ ซึ่งได้สืบสายในการดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีสืบต่อกันมานับแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์        ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ท่าน ท่านสุดท้ายคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)


            ฉะนั้น พระยาจุฬาราชมนตรีทั้ง 13 ท่านดังกล่าวจึงเป็นสายชีอะห์จากสายเปอร์เซีย มุสลิมสายชีอะห์ซึ่งเป็นสายของท่านเฉกอะหมัดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณมัสยิดต่างๆ ดังกล่าวนี้ยังคงสืบสานประเพณีที่เรียกกันในสังคมไทยว่า "เจ้าเซ็น" ซึ่งกระทำใน 10 วันแรกของเดือนมุฮัรรอม เพื่อรำลึกถึงการจากไปของท่านฮูเซ็น หลานของท่านนบีมูฮำหมัดที่ถูกฆ่าตายที่กัรบะลา ซึ่งอยู่ในประเทศอิรัก


            พิธีเต้นเจ้าเซ็น ประกอบด้วยการแห่สัญลักษณ์ของผู้บริสุทธิ์ทั้ง 5 การแห่ศพ (สิ่งสมมติซึ่งประดิษฐ์และตกแต่งอย่างสวยงาม) การเดินเวียนรอบปะรำ มือทุบอกพร้อมกับเปล่งเสียง            "ญาฮูเซ็น" การเดินลุยไฟและการกรีดศรีษะ ในช่วงเวลาดังกล่าวมุสลิมชีอะห์ แต่งกายด้วยชุดสีดำ


            อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จไปในงานเจ้าเซ็นที่กุฎีเจริญพาศน์


ชุมชนชีอะห์นอกจากจะอยู่ในบริเวณที่กล่าวมาแล้วยังมีที่เขตคลองสานบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา มัสยิดที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตึกขาว ส่วนชื่อที่เป็นทางการคือ มัสยิดเซฟี มุสลิมที่เป็นสัปปุรุษของมัสยิดนี้เป็นกลุ่มโบราห์จากเมืองสุหรัด ประเทศอินเดียซึ่งเป็นมุสลิมสายชีอะห์ที่มี แนวปฏิบัติแตกต่างไปจากมุสลิมชีอะห์เจริญพาศน์ กล่าวคือในสายชีอะห์เองก็ยังแบ่งย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความเชื่อความศรัทธา มุสลิมผู้อาวุโสทั้งชายหญิงของชุมชนนี้ ยังคงแต่งกายตามรูปแบบอินเดียที่อยู่ในกรอบของอิสลาม  ส่วน    กุโบร์ของสัปปุรุษนี้อยู่ห่างจากมัสยิดกล่าวคือ อยู่ใกล้กับกุฎีเจริฐพาศน์เรียกว่าสุสานดาวูดีโบราห์  ความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมกลุ่มนี้ คือการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย  บริเวณหน้ามัสยิดเซฟีเป็นคลังสินค้าเป็นตึกขาวอยู่ริมแม่น้ำ ในขณะที่คลังสินค้าถัดขึ้นไปบริเวณบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตึกแดง ดังนั้นมัสยิดของสองชุมชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกันนี้จึงเรียกติดปากตามชื่อสีตึกว่า ตึกขาวและตึกแดง


สกุลต่างๆ ของมุสลิมโบราห์ เช่น อับดุลราฮิม  มัสกาตี  ฮะกิมยี  ฯลฯ


 


            2. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายซุนนะห์ แม้ว่าพระยาจุฬาราชมนตรี นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นมุสลิมสายชีอะห์อันมีบรรพบุรุษจากเปอร์เซีย แต่ชาวไทยมุสลิมจากอดีตจนปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นสายซุนนะห์ซึ่งมีบรรพบุรุษมาจากมุสลิมเชื้อชาติต่างๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าชนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีมากกว่า 40 เชื้อชาติ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิม ดังนั้นหากจะจำแนกมุสลิมซุนนะห์ในธนบุรีซึ่งเป็นรอยต่อของกรุงศรีอยุธยาที่ต้องล่มสลายและมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มุสลิมในธนุบรีจะมีบรรพบุรุษจากเชื้อชาติต่างๆ คือ อาหรับ เปอร์เซีย ชวา มลายู จาม เขมร อินเดีย  ปากีสถาน บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน และจีน


            มุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆ ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมุสลิมในธนบุรี โดยบางชุมชนมีอยู่ก่อนที่ ธนบุรีจะเป็นราชธานี บางชุมชนเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งในการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในธนบุรี ไม่ว่าจะเดินทางโดยตรงมาจากประเทศใดๆ ก็ดี หรือจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาแล้วอพยพต่อไปยังธนบุรีก็ดี หรือจะเดินทางจากถิ่นต่างๆ ในประเทศมายังธนบุรีก็ดี มุสลิมจะมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน และสร้างมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งหากพิจารณาในด้านนิเวศวิทยา มัสยิดที่ประกอบด้วยกุโบร์ก็จะทำหน้าที่เป็นปอดของชุมชน ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่


            มัสยิดเก่าแก่อันเป็นศูนย์กลางชุมชนในธนบุรีในสายซุนนะห์ ได้แก่ มัสยิดต้นสน มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ (บางกอกน้อย) มัสยิดกูวาติลอิสลาม (ตึกแดง) มัสยิดเซฟี (ตึกขาว) มัสยิดนูรุ้ลมูบีน (บ้านสมเด็จ) มัสยิดสวนพลู มัสยิดสุวรรณภูมิ มัสยิดวัดเกาะ มัสยิดฮารูณ


อย่างไรก็ดี ไม่ว่ามุสลิมในธนบุรีจะมีเชื้อชาติและแนวการปฏิบัติศาสนกิจแบบใดก็ตาม แต่จะมีรูปแบบในการตั้งถิ่นฐานเหมือนกัน นั่นคือการอยู่รวมกันเป็นชุมชน


 


-----------------------------------------------------


 


บทความนี้ใช้ประกอบงานห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 1 "เข้าใจวิถีมุสลิม" วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี ร่วมจัดโดย ศูนย์อิสลามและมุสลิมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี โครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ท ประชาไท และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 






* รองศาสตราจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net