Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

"รัฐบาลขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้แล้ว ถ้าวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดไม่ชอบ รัฐบาลจะทำยังไง นายกฯ จะทำยังไง อยู่ต่อหรือลาออก นายกก็ต้องเลือกเส้นทางลาออกใช่ไหมล่ะ ถ้าเป็นความรับชอบทางการเมืองน่ะ 

 

 

 

ทีนี้ถ้านายกฯ จะอยู่ต่อน่ะ กระแสความนิยมหรือความศรัทธาจะหายไป ความชอบที่จะทำเรื่องใด ๆ ก็จะหายไป ไม่ว่าทำเรื่องอะไรก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบในการกระทำตลอด เพราะคนก็จะตั้งข้อสงสัยในการกระทำ ซึ่งส.ส. ในปัจจุบันไม่มีทางที่จะโหวตไปในทางอื่นเลย จะโหวตก็มีเพียงทางเดียวก็คือ โหวตให้ผ่าน และส.ว. ที่จะมาโหวตคัดค้านมีถึง 40 คนหรือเปล่าผมยังไม่แน่ใจเลย"

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สัมภาษณ์อาจารย์ คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

 

 

 

 

 

 

 

ประชาไท          ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ใน 2 ระดับคือ การขัดรัฐธรรมนูญ และในแง่การขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจารย์คิดว่าเราควรพิจารณากฎหมายฉบับนี้ที่ประเด็นไหน

 

 

 

 

 

อ. คมสัน            ผมคิดว่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะพูดกันในประเด็นเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ แต่ว่าในแง่หลักการแล้วกฎหมายประเภทสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นกระบวนการในการตรากฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายบริหารในสถานการณ์พิเศษ (Emergency Power) นั้น ในทางวิชาการแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับสูงสุดหรือสถานการณ์ฉุกเฉินระดับบวกคือกฎอัยการศึก มีมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ระดับลบคือกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

 

 

 

 

แต่กฎหมายฉบับนี้ (พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ในทางวิชาการมันเกินกว่าระดับปกติ ก็คือมันเกินกว่ากฎอัยการศึกขึ้นไปอีก ซึ่งการเกินกฎอัยการศึกนี้....มองเตสกิเออร์บอกว่าการรวมศูนย์อำนาจไว้ในคนคนเดียว ไปทำลายซึ่งสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

 

 

 

 

เมื่อขัดกับหลักการแล้วผลคืออะไร           

 

 

 

 

 

ในทางทฤษฎีถือว่าขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ การที่รวบอำนาจไว้ในคน ๆ เดียว นี่คือขั้นพื้นฐานก่อนที่จะไปพูดเรื่องเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญก็จะพูดเรื่องแนวคิดทฤษฎีหลักการแบ่งแยกอำนาจทั้งหมด ที่นี้พอมารวมไว้ที่คนๆเดียวอย่างนี้ มันก็เกิดปัญหาในเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจหลักการแบ่งแยกอำนาจตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มันหมดสิ้นแล้ว มันหายไปหมดเลย

 

 

 

 

 

แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจมาหลายครั้งแล้ว....

 

 

 

 

 

ละเมิดมาตลอดแหละ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องเอฟทีเอ อะไรต่ออะไร เขาละเมิดหลักการเหล่านี้มาตลอด เพียงแต่ว่า การละเมิดที่ผ่านมาไม่ได้กระทบคนในวงกว้าง มันเป็นการกระทบคนเพียงบางกลุ่ม หรือแม้จะกระทบคนในวงกว้างก็เป็นประเด็นที่คนไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกกระทบ อย่างเช่นเรื่องเอฟทีเอ (การเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี) คนทั่วไปไม่สนใจก็ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกกระทบ แต่ความเป็นจริงคือมันกระทบภาพเศรษฐกิจรวมแล้วมันส่งผลกระทบต่อคนอีกทีหนึ่ง ประเด็นตรงนี้ก็มีเยอะที่รัฐบาลทำไว้แล้วก็เป็นปัญหา

 

 

 

 

 

หมายความว่าที่ผ่านมาถึงจะละเมิดแต่ไม่กระทบในวงกว้าง แต่สำหรับกฎหมายฉบับนี้ มีผลกระทบในวงกว้างกว่าทุกครั้งที่ทำมาหรือเปล่า

 

 

 

 

 

มันกว้างกว่า และมันลงไปในวิถีชีวิตด้วยเพราะว่ามันเข้าไปสู่การใช้ชีวิตปกติของคน อย่างเช่นการครอบครองที่อยู่อาศัยโดยสงบ การที่โทรศัพท์คุยกันเรื่องส่วนตัว การดักฟังโทรศัพท์ได้คุยก็ละเมิดเข้าไปในชีวิตประจำวันเขามากกว่าแต่ก่อน ยิ่งกว่ากฎหมายฉบับอานหรือเรื่องอื่น ๆ รัฐบาลเคยทำมาเสียอีก

 

 

 

 

 

เมื่อมีการละเมิดหลักการเกิดขึ้น มีผลที่จะแก้ไขหรือมีอะไรที่จะระงับยับยั้งได้หรือไม่

 

 

 

 

 

แนวทางแก้ไขมีหลายฝ่ายเสนอแนวทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่ผมมองว่าค่อนข้างลำบาก เพราะว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นเอื้อรัฐบาลมาทุกเรื่อง ทีนี้ถ้าจะหวังพึ่งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งคิดกันว่าเป็นเพียงช่องทางเดียว....คือมันอาจจะมาโดยหลายวิธีก็แล้วแต่ จะมาโดยวิธีศาลเสนอ โดยวิธี ส.ว. เสนอ ส.ส. เสนอ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คือก็ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เดียว ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด นี่เป็นช่องทางหนึ่งที่เขามองกัน ซึ่งผมมองว่ายาก มีความยากเพราะว่าถ้าไปวิเคราะห์ถึงประเด็นที่ศาลเคยวินิจฉัยแต่ก่อน มันยากที่จะตอบว่าศาลจะวินิจฉัยในทำนองที่ว่าการกระทำของรัฐบาลมันขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือหลักการสำคัญตามพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

 

 

 

 

 

ช่องทางที่ 2 ที่เขาเลือกจะใช้ก็คือให้สภาเป็นคนพิจารณา ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ที่สภาจะโหวตไม่เอาพระราชกำหนดฉบับนี้

 

 

 

 

 

เพราะว่าผลหากสภาไม่รับนั้นมีผลต่อรัฐบาลด้วยใช่หรือไม่

 

 

 

 

 

รัฐบาลขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้แล้ว ถ้าวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดไม่ชอบ รัฐบาลจะทำยังไง นายกฯ จะทำยังไง อยู่ต่อหรือลาออก นายกก็ต้องเลือกเส้นทางลาออกใช่ไหมล่ะ ถ้าเป็นความรับชอบทางการเมืองน่ะ 

 

 

 

 

 

ทีนี้ถ้านายกฯ จะอยู่ต่อน่ะ กระแสความนิยมหรือความศรัทธาจะหายไป ความชอบที่จะทำเรื่องใด ๆ ก็จะหายไป ไม่ว่าทำเรื่องอะไรก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบในการกระทำตลอด เพราะคนก็จะตั้งข้อสงสัยในการกระทำ ซึ่งส.ส. ในปัจจุบันไม่มีทางที่จะโหวตไปในทางอื่นเลย จะโหวตก็มีเพียงทางเดียวก็คือ โหวตให้ผ่าน และส.ว. ที่จะมาโหวตคัดค้านมีถึง 40 คนหรือเปล่าผมยังไม่แน่ใจเลย

 

 

 

 

 

แต่คราวก่อนเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ว. ก็ยังรวมได้ถึง 100 กว่าคน....

 

 

 

 

 

งวดนี้ รัฐบาลเขาจะยอมเหรอ รัฐบาลเขาต้องระดมสรรพกำลัง เพราะเขาต้องรู้ว่าเขาขึ้นหลังเสือเขาลงไม่ได้ เขาต้องเดินหน้าอย่างเดียว เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ไขเรื่องความไม่ชอบของกฎหมายฉบับนี้ก็ค่อนข้างจะไม่มีหวังทั้ง 2 ส่วน ผมถึงบอกว่าสิ้นหวังไง

 

 

 

 

 

สำหรับแนวทางที่เหลือแนวทางสุดท้ายก็คือ อาจจะต้องมีใครที่คิดถึงเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา กราบบังคมทูลเรื่องสภาพปัญหาและหลักการที่ปัญหาตอนที่กฎหมายฉบับนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติ ให้มีการยับยั้งขึ้นมาได้ มันก็จะตกไป

 

 

 

 

 

แต่ตราบใดที่ใช้เป็นพระราชกำหนดก็ยังมีผลอยู่นะครับ ยังมีผลอยู่ไปจนกว่าจะใช้พระราชอำนาจยับยั้ง แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

 

 

 

 

 

ส่วนของประชาชนเองทำอะไรได้บ้าง

 

 

 

 

 

ผมมองว่าขณะนี้ ประชาชนไม่มีความเข้มแข็งพอจะทำอะไร ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้คนเขาไม่ค่อยคิดถึงเรื่องที่มันกระทบสิทธิอย่างนั้นหรอก คิดถึงเรื่องปากท้อง

 

 

 

 

 

คือธรรมชาติของคนมันอยู่ที่ว่าผลประโยชน์มันตกอยู่กับใคร อะไรกระทบผลประโยชน์ ถ้ากระทบมากคนก็รู้สึกและออกมาเคลื่อนไหวมาก ถ้ากระทบน้อย คนก็เลือกที่จะอยู่เฉย ๆ นี่คือธรรมชาติของคนไทย ไม่อยากจะเสี่ยงเจ็บตัว ฉะนั้นขณะนี้ ประเด็นใหญ่โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่คนที่ถูกบังคับโดยพระราชกฤษฎีกาจะไม่รู้สึก เพราะเมื่อใดที่ไม่กระทบกับตัวแล้วคนจะไม่รู้สึก แต่คนที่อยู่ในพื้นที่เขาจะต้องรู้สึก

 

 

 

 

 

หมายความว่าต้องหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้... เพราะว่าโพลที่ออกมาก็คือว่าคนที่อยู่ในพื้นที่เองกว่า  80 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นด้วยกับพ.ร.ก.

 

 

 

 

 

ผมไม่แน่ใจโพลล์นะ โพลล์ที่ออกมาไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้ในเนื้อหาของพระราชกำหนดเลย อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นการจะทำโพล คนจะทำโพลต้องถามคนที่เขารู้ในเรื่องเหล่านั้น ถ้าถามคนไม่รู้ คนเขาก็จะตอบว่าเออก็ดี เพราะในแง่ของคนไทยลักษณะพื้นฐานความคิดมันก็เป็นเรื่องเชิงอำนาจนิยมอยู่แล้ว แล้วยิ่งรัฐบาลที่ทำก็เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกขึ้นมาโดยเสียงข้างมาก ประชาชนเป็นคนเลือก เพราะฉะนั้น โพลประชาชนก็มีความโน้มเอียงที่จะไปในแนวทางของรัฐบาลอยู่แล้ว

 

 

 

 

 

โพลที่มีลักษณะในการให้ความรู้แก่ประชาชนนี่ผมยังไม่เห็นนะ มันมีแต่โพลนะขณะนี้ ผมอาจจะเชื่อโพลนะหรือว่าเป็นเพราะผมรู้จักกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนด

 

 

 

 

 

อาจจะเป็นอย่างที่ น.พ.นิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-ส.ว. อุบลราชธานี) ตั้งข้อสังเกตว่า โพลเรื่องนี้เป็นการท้าทายความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

 

 

 

 

 

ไม่ต้องห่วงครับ คนไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ไปทำวิจัยก็ได้ว่าคนไทยไม่สนใจในประบวนการเรื่องสิทธิ เอาเรื่องง่าย ๆ อยู่ใกล้ตัวของเรา เช่น คุณอยู่บ้าน แล้วอยู่ดี ๆ ก็ไม่รู้มีจดหมายมาจากไหนมาขายสินค้าให้คุณ คุณก็รับมาอ่านแล้วไม่สนใจก็ทิ้งไป แต่มีคนถามไหมว่าจดหมายเหล่านี้มาได้อย่างไร

 

 

 

 

 

จริง ๆ แล้วมันเป็นการละเมิดสิทธิ เอาที่อยู่มาจากไหน เอาพฤติกรรมที่ว่าเราชอบสินค้าประเภทนี้มาจากไหน เอามาได้อย่างไร ใครเป็นคนให้ มันละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคน ซึ่งตรงนี้เนี่ยนะ เป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้นที่คนไทยจะรู้ว่าสิทธิเสรีภาพคืออะไรนะ แต่คนไทยก็ไม่รู้ ไม่สนใจด้วย

 

 

 

 

 

ประเด็นนี้เหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญของการทำสมาร์ทการ์ดด้วยใช่ไหมคะ

 

 

 

 

 

สำหรับเรื่องสมาร์ทการ์ด ผมไม่ค่อยกังวลเรื่องไม่เข้าใจนะ ปัญหามันอยู่ที่ว่าคนที่มาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ปัญหามันอยู่ตรงนี้คนเลยสับสน ไปเสนอให้ออกพระราชบัญญัติเรื่องสมาร์ทการ์ด ซึ่งความจริงไม่ต้องเลย เพียงแต่คุณเอาพระราชบัญญัติเรื่องข้อมูลข่าวสารทางราชการแล้วคุณวางมาตรการักษาความเป็นระเบียบและความปลอดภัยในข้อมูลบุคคล แต่พอไปพูดให้มันสับสนแล้วรัฐบาลก็เลือกทำในทางที่เอื้อประโยชน์ แต่ความจริงขณะนี้ถ้าจะทำสมาร์ทการ์ดก็คือคุณละเมิดกฎหมายอยู่

 

 

 

 

 

กลับมาที่พ.ร.ก. ฯ มาตราที่บัญญัติละเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ เอามาใช้ได้หรือไม่

 

 

 

 

 

ถ้าจะใช่ก็ใช้ได้ แต่ในแง่หลักกฎหมายแล้วมันใช้ไม่ได้ มันเป็นกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองที่ค่อนข้างกระทบสิทธิ อย่างเช่นการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด กลายเป็นว่าอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามวิอาญาไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย แต่เป็นไปตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร คือนายกฯ เป็นคนกำหนด

 

 

 

 

 

อำนาจหน้าที่ตรงนี้เอง เมื่อพูดถึงกรณียกเว้นความรับผิดทางอาญา แพ่งและวินัย ความจริงมาตรา 17 ที่ยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย มันเป็นหลักการทั่วไปที่ไม่ต้องเขียน เพราะถ้าคุณกระทำโดยสุจริต รัฐก็ต้องรับผิดชอบ

 

 

 

 

 

การที่เขาเขียนหลักตรงนี้ แล้วเอาเรื่องของความรับผิดเรื่องละเมิดของเจ้าหน้าที่เข้าไปบัญญัติไว้เพราะเขาไม่สามารถไปตัดสิทธิเรื่องความเสียหายเพราะมันเป็นหลักทั่วไปตามหลักกฎหมายลักษณะละเมิด แต่ถ้าเกิดกระทำโดยประมาทล่ะ ไม่ต้องรับผิดใช่ไหม ขณะที่วินัยข้าราชการพลเรือนหรือบุคคลทั่วไปต้องรับผิดนะ

 

 

 

 

 

ผมว่าตรงนี้เป็นการละเมิด ส่วนการประมาท ไม่ไตร่ตรองแล้วบอกว่าสุจริต โดยปกติศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าคุณกระทำโดยประมาทหรือไม่ เมื่อไปตัดความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 17 ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองอะไร เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สืบเสาะดูให้ดีแล้วไปจับคนมาขัง เขาถูกละเมิดปรากฏว่าเขาไม่ใช่คนผิดจริง แล้วจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ผมคิดว่าตรงนี้มันอาจจะไม่ถูกต้องแล้วละในเรื่องของหลักการคุ้มครองสิทธิประชาชน

 

 

 

 

 

ชาวบ้านยืนยันที่จะฟ้องร้องได้หรือไม่หากถูกละเมิดสิทธิ

 

 

 

 

 

ฟ้องได้ครับ ในมาตรา 17 ยังพอมีช่องทางที่จะพิจารณาได้ในเรื่องของอาญาและแพ่งถึงแม้จะเขียนว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ไม่ได้เขียนบอกว่าไม่ให้ศาลพิจารณา ศาลต้องไปพิจารณาว่าที่บอกว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาคุณทำโดยสุจริตหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่ สมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลใช้หลักความเป็นธรรมก็สามารถจะพิจารณาได้โดยไม่ต้องไปสนใจกับคำว่าไม่ต้องรับผิดทางแพ่งอาญา

 

 

 

 

 

ส่วนเรื่องทางวินัยนั้นเป็นกระบวนการทางปกครอง เมื่อเขียนเรื่องไม่ต้องรับผิดทางวินัยขึ้นมาก็ไปตัดอำนาจศาลปกครอง กระบวนการในการคุ้มครองสิทธิประชาชนมันหายไปเลย ในเชิงคดีปกครอง มาตรา 16 และ 17 ตัดอำนาจศาลปกครองไปโดยเด็ดขาด

 

 

 

 

 

การตัดอำนาจศาลปกครอง โดยที่รัฐธรรมนูญก็มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับศาลปกครองไว้ชัดอยู่แล้ว จะถือว่ามาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญและใช่ไม่ได้หรือเปล่า

 

 

 

 

 

ผมถือว่าขัดและใช้ไม่ได้ จริง ๆ มีวิธีที่น่าสนใจนะ ก็ลองดูซิว่ากฎหมายเขียนไม่ให้อยู่ในบังคับของศาลปกครองถ้าใครโดนกระทบแล้วร้องให้ศาลปกครองวินิจฉัย ก็จะรู้ว่ามาตรา 16 ใช้ได้หรือไม่ ศาลปกครองอาจจะวินิจฉัยว่าตรงนี้มีปัญหากฎหมายขัดกัน ก็อาจจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อก็ได้ แต่ว่าสุดท้ายมันไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผมถึงบอกว่ามันมีความหวังค่อนข้างน้อย

 

 

 

 

 

ดูเหมือนกับว่ากฎหมายก็ยังมีช่องให้ประชาชนสู้อยู่ แต่ว่าผลตอบกลับมาแต่ผลตอบกลับมาค่อนข้างตีบตันพอสมควร

 

 

 

 

 

ใช่ เพราะในแง่กระบวนการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันเห็นผลอยู่ข้างหน้ารำไร ๆ อยู่แล้วว่ามันจะออกยังไง ผมถึงบอกว่าสิ้นหวัง

 

 

 

 

 

รัฐบาลสร้างเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ผมไม่รู้ว่าเขาทำขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไร เพราะจริง ๆแล้วถามว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายอย่างนี้ไหม ถ้ารัฐบาลแถลงออกมาว่ามาตรา 9 มาตรา 11เรื่องนั้นไม่ใช้เรื่องนี้ไม่ใช้ ผมก็ตั้งคำถามว่าแล้วคุณจะออกกฎหมายทำไมในเมื่อไอ้ที่มันเขียนอยู่แล้ว มาตรา 11 เป็นเรื่องของกฎอัยการศึก มาตรา 9 มันเป็นเรื่องกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเดิม มันมีอยู่แล้ว อย่างเช่นมาตรา 9 (1) มันก็เป็นมาตรา 5 ของ 2495

 

 

 

 

 

มาตรา 9 (2) ก็เป็นมาตรา 8ของ 2495 มันคือของเดิมแล้วมาใส่รวมอยู่ที่นี่

 

 

 

 

 

มาตรา 11 (1) ก็เป็นมาตรา 7 ของ 2495 เหมือนกัน แล้วก็ดูเนื้อหาตั้งแต่ (1) - (10) มันคือกฎอัยการศึก

 

 

 

 

 

ก็แสดงว่ามีกฎหมายที่ใช้ได้อยู่แล้ว แล้วเมื่อ กอส.บอกว่ามีความจำเป็นต้องยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะประชาชนหวาดกลัวก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเมื่ออยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เป็นทหาร คนค่อนข้าจะหวาดเกรงเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธ และเราก็ต้องยอมรับว่า ความรู้ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าใจกฎหมายและตีความกฎหมายไม่เท่ากันหรอก

 

 

 

 

 

การที่ออกพ.ร.ก. ฉบับนี้ขึ้นมา เป็นที่รับรู้กันว่าจะเอาออกมาเพื่อใช้สถานการณ์ภาคใต้

 

 

 

 

 

ผมว่าไม่ใช่ ผมว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เป็นวาระซ่อนเร้น ว่าจะใช้เพื่อการอื่นหรือใช้เพื่อภาคใต้ ไอ้ตรงที่บอกว่าช้เพื่อภาคใต้ก็ยังไม่มีความจำเป็นขนาดนี้ เพราะดูจากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการทั้งหลาย พูดแล้วก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการตราพระราชกำหนด ก็มีแล้วยังไม่ใช้ผมว่าก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย เพราะหลักการคือออกกำหมายแล้วคุณก็ต้องใช้ หลักการเพราะคุณฉุกเฉินแล้วจึงออกพ.ร.ก. เมื่อออกมาแล้วก็ต้องใช้ เมื่อออกพ.ร.ก. มาแล้วไม่ใช่ก็แสดงว่าไม่ใช่ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นรัฐบาลกำลังจะทำอะไรที่เป็นเรื่องพิเศษหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ

 

 

 

 

 

ประการที่ 2 คือคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลมันกว้างมาถึงสถานการณ์ปกติ ในมาตรา 4 คือเรื่องอะไรก็ได้ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุข อะไรคือการดำเนินชีวิตโดยปกติสุข

 

 

 

 

 

คือสถานการณ์ฉุกเฉินมันเข้ามาถึงระดับสถานการณ์ปกติด้วย เพราะฉะนั้นผมว่าหลักการมันไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน มันเป็นกฎหมายที่รวบอำนาจไปที่หัวหน้าฝ่ายบริหารแต่เพียงคนเดียวให้ใช้อำนาจได้ นี่คือปัญหา และก็เรื่องของการรวบอำนาจเข้าไปใช้ ตัวที่บอกว่าอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เป็นของนายกทุกเรื่องซึ่งรวมถึงเรื่องภาษีอากรด้วยหรือ ภาษีศุลกากร สรรพสามิตหรือเปล่าเพราะว่าไม่ได้กำหนดยกเว้นไว้เลย

 

 

 

 

 

ความจริงต้องเจาะจงไปที่ความมั่นคงใช่ไหมครับ อย่างนี้กฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับพันธุ์พืช ทุกอย่างกลายไปอยู่ใต้อำนาจนายกคนเดียวเลยนะ ซึ่งกฎหมายทุกฉบับกลายเป็นของนายกหมดเลย มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ผมว่าประเด็นนี้น่าคิดนะ มันคือการรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดไปอยู่ที่นายกแต่เพียงผู้เดียว แล้วก็ท้องถิ่นทำยังไง

 

 

 

 

 

เพราะฉะนั้นประเด็นมันไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งอาจารย์วิษณุประกาศว่ามีแล้วจะไม่ใช้ยิ่งแย่ใหญ่เลย ส่วนความจำเป็นที่ว่าเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 15 มันเกิดมามากกว่านั้นอีก ทำไมก่อนหน้านั้นมากกว่านั้นอีกไม่ออกมาล่ะ

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net