รวมพล "คนดี" ที่แหลมป้อม - ตอน 1

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ช่วงกลางฤดูฝนริมฝั่งอันดามันในยามนี้ ย้อมฟ้าใสและทะเลสีครามด้วยฝนหนาเม็ดและลมกรรโชกแรง ซึ่งแม้แต่ชาวเลผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลก็ยังไม่หาญกล้าฝ่าลมคลื่นออกจากบ้าน

ที่บ้านแหลมป้อม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา แทบไม่ต่างจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามันอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับฤดูมรสุมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกว่าครึ่งปีที่เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึ่งกวาดเอาชีวิตและความสุขของชาวบ้านไปเกือบหมดสิ้น

แต่มรสุมครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกคราว เพราะที่แหลมป้อมกลายเป็นเป้าหมายของเพื่อนมิตรต่าง ชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบจากคลื่นยักษ์ และระหว่างวันที่ 1-10 ก.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กว่าครึ่งร้อย อาสามาช่วยและให้กำลังใจชาวบ้านในยามยาก

อาสาสมัครที่เข้าร่วมค่ายครั้งนี้ เป็นนักศึกษาภาคอินเตอร์หลักสูตรไทย-อเมริกัน ผู้ก่อการค่ายฯ จึงตั้งชื่อความร่วมแรงร่วมใจครั้งนี้ว่า ค่ายไตรอินเตอร์ (Tsunami TU Inter camp) โดยมีสมาชิกค่ายประมาณ 60 คน ซึ่งมาจาก 3 คณะคือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

แน่นอน หากท่านผู้อ่านติดตามข่าวความเป็นไปของพื้นที่ประสบภัยซึนามิในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะพบว่า บ้านแหลมป้อมขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของความขัดแย้งจากกรณีพิพาทที่ดินระหว่างชาว บ้านกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติ ถึงขั้นใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังข่มขู่เอาชีวิตชาวบ้าน ให้ย้ายออกจากพื้นที่

น้องพี "จิตรพี ตรีรัศมีพร" หนึ่งในทีมที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดค่ายไตรอินเตอร์ บอกว่าคณะกรรม
การค่าย ทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่ ไม่ว่าจะกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านกับเอกชน หรือกรณีอิทธิพลที่กำลังข่มขู่คุกคามชาวบ้าน เนื่องจากได้ส่งคนมาสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมค่ายถึง 2 ครั้ง

"เราคิดว่าที่นี่ต้องการความช่วยเหลือ เรามาที่นี่ตั้งแต่เดือนเมษายน ไม่มีบ้านไม่มีหลังคา ไม่มีอะไรเลย พอมาครั้งที่ 2 ราวๆ เดือนพฤษภาคม สภาพที่นี่ดีนิดหน่อย เราได้ยินข่าวต่างๆเกี่ยวกับที่นี่ เราก็มานั่งคุยกันว่าที่นี่อันตรายนะ ถ้ามาออกค่ายเพื่อนเราเยอะนะ เราจะยังมาที่นี่ไหม เราจะทำค่ายกันไหม แล้วเราก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ" พี เล่าที่มาของค่าย

พีบอกว่า การลงมาค่ายอาสาครั้งนี้นอกเหนือจากต้องการมาให้กำลังใจชาวบ้านที่นี่แล้ว พวกเขายังต้องการสร้าง "ศาลาประชาธรรม" เพื่อเป็นที่รวมพล พบปะกันของชาวบ้าน

ส่วนสถานการณ์ที่มีการคุกคามชาวบ้านนั้น พีกล่าวว่า การที่นักศึกษาลงมาคงไม่ได้ช่วยคลีคลายในตัวสถานการณ์ แต่น่าจะเป็นการช่วยคลี่คลายความกังวลในด้านจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า

"เราไม่ได้ทำสิ่งที่ใหญ่โตอะไร เราทำด้วยความสุขและยินดี ที่ดินที่เราจะสร้างศาลาเป็นที่ของชาวบ้านที่เขาต่อสู้จนชนะคดี เขายกให้เรา ทั้งๆที่เป็นที่ดินซึ่งเขาได้มาอย่างยากเหลือเกิน เขากลับยกให้พวกเราสร้างศาลา เขายกให้เราง่ายๆ เขาให้ความสำคัญกับเรา มันคงแย่มากหากเราทำงานไม่เต็มที่ ไม่ตั้งใจ บนที่ดินที่เขาได้มาอย่างยากลำบาก ดังนั้นถ้าเรามาทำ เราต้องเต็มที่กับมัน " พีกล่าว

"นภจักษ์ อัตตนนท์" หรือเอมหรือชะเอม ของชาวค่าย ตามแต่จะถนัดเรียก เล่าประสบการณ์ชาวค่ายว่า เพราะเขาและเพื่อนๆ รับทราบถึงการสูญเสียของผู้คนที่นี่ และยังต้องมาโดน "นายทุน" กระหน่ำซ้ำเติม "ความทุกข์" ของชาวบ้านทำให้พวกเขาตัดสินใจมาออกค่ายอาสาฯที่นี่

เอมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กังวลเรื่องความปลอดภัยของเพื่อนๆ มากเพราะทราบดีว่าพาเพื่อนลงมาในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เขาย้ำแก่" ประชาไท" ว่า แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ต้องมา

"ก่อนจะมาค่าย เรามีการสัมภาษณ์เพื่อนๆที่จะมากับเรา เพราะค่ายนี้ไม่สะดวกสบายเหมือนค่ายอื่นๆ คนที่มาค่ายไม่ต้องมีคุณสมบัติมากมาย แค่มีความสามารถปรับตัวเข้ากับคนได้ง่าย ไม่ใช่มาเจอดิน เจอฝนที่นี่ แล้วร้องไห้กลับบ้าน ไม่ต้องถึก ไม่ต้องอึดมากก็ได้ ขอแค่มีความอดทนและมีใจคิดช่วยเหลือผู้คนก็พอ" เอมกล่าวปนหัวเราะ

เมื่อกล่าวถึงสมาชิกร่วมค่าย เอมเล่าว่า มีบ้างที่สมาชิกค่ายติดนิสัยอยู่กับบ้าน มาแล้วก็ทิ้งของเกะกะ เพราะเพื่อนที่มาโดยมาเป็น" เด็กอินเตอร์" มีเงินมีฐานะ อยู่ที่บ้านก็จ้างคนใช้เก็บกวาด แต่อยู่ที่นี่หากทิ้งเรี่ยราด ชาวบ้านก็ต้องกวาดเอง เอมกล่าวเพิ่มเติมให้ฟังว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหาในค่ายจะเอาเข้าที่ประชุมและหาทางแก้ไขร่วมกันเสมอ

"ผมเหนื่อยมาก และคิดว่าเพื่อนๆก็เหนื่อยมากเช่นกัน แต่เราคิดว่า หากมาแล้วคิดจะสบาย ทำตัวเหมือนใช้ชีวิตในกรุงเทพฯมันคงไม่คุ้มที่นั่งรถมาไกลเป็น 10 กว่าชั่วโมงเพื่อมาที่นี่ ค่ายอื่นๆ เราอาจเลือกสถานที่ซึ่งดีที่สุดเพื่อออกค่าย แต่สำหรับที่แหลมป้อม สถานที่มันเฟ้นหาคนที่ดีที่สุดเพื่อลงมาช่วยชาวบ้าน" เอมกล่าว

เอมกล่าวอีกว่า เขาไม่ได้คาดหวังว่าเพื่อนชาวค่ายที่กลับจากที่นี่ไปแล้ว ต้องไปเป็นนักพัฒนาเอกชน หรือไปทำงานเพื่อสังคม เขาหวังเพียงว่าเมื่อเพื่อนๆ เขาทำอะไร หรือประกอบอาชีพอะไรอย่างน้อยให้พวกเขาเหล่านั้นได้นึกไว้ว่า เขาไม่ได้กระทำอยู่บนความเดือดร้อนของคนอื่น

ณัฐ จันทรโคลิกา หรือ" ที" เด็กหนุ่มตัวสูงโย่ง กล่าวว่า ตัวเองและเพื่อนๆ ไม่ได้มีความสามารถด้านการก่อสร้างเลย งานก่อสร้างศาลา 10 วัน กับคน 60 คนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดไว้

ทีเล่าว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปอย่างช้ามากเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายเต็มที พวกเขาทำงานได้ต่อเมื่ออากาศเอื้ออำนวยโดยไม่สนใจว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน นอกเหนือจากการมาสร้างศาลาแล้วสิ่งที่คาดหวังคือ มาให้กำลังใจชาวบ้าน

"ผมอยากให้ชาวบ้านที่นี่รู้สึกว่าเขายังมีเพื่อน และไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว" ทีกล่าวและว่า ส่วนหนึ่งผมเองก็ต้องการมาค้นหาตัวเองที่นี่ด้วย

ทีเล่าว่า เขาจะเพื่อนๆ ช่วยกันทำในสิ่งที่ชาวบ้านขาด และต้องการ พวกเขาทำแปลงผัก ปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำศาลาประชาธรรม เวลา 10 วันไม่น่าจะพอเพียงในการทำงานให้แล้วเสร็จ แต่ชายหนุ่มจากสำนักท่าพระจันทร์ให้เหตุผลว่า ถึงแม้จะไม่เสร็จก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยพวกเราก็ได้ลงมือทำ

"น้องเกี๊ยว" ณหทัย ภูพิชญ์พงษ์ "น้องต้นข้าว" ศลิษา สละสวัสดิ์ "น้องเนม" พัชรินทร์ ยอดพิทยาพงศ์ 3 สาว จากต่างคณะที่ได้โคจรมาเจอกันกับเพื่อนๆ ในค่าย กล่าวถึงความรู้สึกในการมาค่ายในครั้งว่าสนุกมาก แม้ต้องทำงานหนัก และทำสิ่งที่ไม่เคยทำก็ตาม แต่ก็มีความตั้งใจมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า อยากมาช่วยคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นยักษ์เลยไม่รู้สึกอะไรที่จะต้องใช้แรงงานกลางสายฝน

น้องต้นข้าวกล่าวเสริมว่า ตอนอยู่ที่บ้านไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้ แต่ทนได้ เพราะคิดไว้แล้วก่อนจะมาค่ายว่าถ้าอยากจะมาที่นี่ก็ต้องอดทน อยากช่วยคนที่บ้างไม่มากก็น้อย รู้สึกเห็นใจคนที่นี่เพราะเขาเดือดร้อนกว่าตัวเองมาก

ท้ายสุดคือน้องเนม เธอเล่าว่า การมาที่แหลมป้อมถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากไหนไม่ได้อีก เพราะการมีโอกาสได้ลงมารับรู้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีไม่มาก แม้จะต้องได้รับความยาก ลำบากที่เกิดจากการทำงานแต่เธอก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องคุ้มค่ามากในการได้ลงมา และในท้ายสุดเธอก็ออกปากว่า ถึงจะรู้ว่ามาลำบาก แต่ก็ยังอยากมา

ทั้งหมดนี้คือ บางส่วนของเรื่องราวชาวค่ายไตรอินเตอร์ มธ.ซึ่งแม้ว่าในวันกลับ เพื่อนๆ ชาวค่ายจะไม่ได้เห็นหลังคาศาลาอย่างที่คาดหวังไว้ เพราะไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จทัน แต่อย่างไรก็ตามศาลาที่เริ่มขึ้นโครงหลังคาก็มีชาวบ้านแหลมป้อมทำงานสานต่อแน่นอน ทั้งนี้ชาวค่ายได้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้ชาวบ้าน เพื่อว่าผู้คนในพื้นที่จะดำเนินงานต่ออย่างสะดวกโดยมีอุปกรณ์ครบครัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหนึ่งในความงดงามที่หาได้ยาก ในท่ามกลางความโหดร้ายของชะตากรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านแหลมป้อม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พื้นที่ซึ่งชาวบ้านผจญทั้งความทุกข์ยากและคลื่นแห่งอิทธิพลอย่างไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท