Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 15 ก.ค.48 " อำนาจของนายกฯ ในการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ที่เป็นบท บัญญัติจำกัดสิทธิบุคคล .... ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำเปิด ที่จะให้มีการใช้ดุลพินิจตัวเองตัดสินสูงมาก ซึ่งอาจเกิดปัญหา เช่นหากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่กว้างและมีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง หากสื่อเสนอข้อเท็จจริงตามนั้นแล้วไปตีความว่า อาจทำให้หวาดกลัวก็จะกลายเป็นว่า สื่อไม่สามารถนำเสนอข่าวได้ ซึ่งจะกระทบกับเสรีภาพการพิมพ์การโฆษณา " รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลผลักดันพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า มาตรา 11 วรรค 2 (6) ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีสามารถห้ามประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชนนั้น อาจมีปัญหาว่า นิยามคืออะไรกันแน่เพราะถ้าเทียบกับมาตราอื่น ข้อความมาตรานี้ไม่ชัดเจนมาก สรุปว่าทั้งหมดถ้อยคำขาดความแน่นอนในระดับหนึ่ง และทำให้มีโอกาสบิดเบือนได้

" อีกประเด็นที่มีปัญหาคือ มาตรา 16 ระบุไว้ว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ปัญหาคือเป็นการตัดอำนาจศาลเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการประกาศสถานการฉุกเฉิน และเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะมีการควบคุมอย่างไรก็ไม่ระบุ ทำให้เกิดปัญหาการตรวจ
สอบการใช้อำนาจ " รศ.ดร.วรเจตน์กล่าว

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายมหาชนประจำสำนักท่าพระจันทร์เห็นว่า เนื้อหาของกฎหมายหลายส่วนได้ประกันสิทธิเสรีภาพบุคคลตามสมควร เช่นการจับกุมบุคคลต้องมีการขออนุญาตจากศาล ก็แสดงถึงผู้ร่างไตร่ตรองโดยพยายามโยงองค์กรที่คุ้มครองสิทธิ มาร่วมใช้อำนาจ แต่ปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่การนิยามความหมายคำว่า สถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 4 ที่ค่อนข้างกว้างยิ่งถ้าเทียบกับกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือพ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ก็จะยิ่งเห็นเห็นว่า มาตรา 4 พูดกว้างมาก และโยงไปถึงมาตรการเร่งด่วนอื่น

นอกจากนี้บางเรื่องอาจยังไม่ถึงขั้นถือว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน แต่อาจเข้าข่ายมาตรา 4 ได้ หากจะวินิจฉัยให้เข้า ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net