Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยอง

กรุงเทพฯ- 12 ก.ค.48 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง และข้อมูลล่าสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในจังหวัดชลบุรีและระยอง และประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ณ ศาลากลางจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. พื้นที่ในเขตจังหวัดชลบุรี
1.1 ปริมาณความต้องการน้ำใช้ประมาณ 400,000 ลบ.ม./วัน ขณะที่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้มีประมาณ 27.6 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจังหวัดชลบุรีจะสามารถใช้น้ำที่มีอยู่ได้ถึงประมาณกลางเดือนสิงหาคมศกนี้

1.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จะดำเนินการเป็น 3 ระยะ
ก) ระยะเร่งด่วน
- เร่งรัดการจัดทำฝนหลวง
- เร่งรัดให้บริษัท East Water (มหาชน) จำกัด จ่ายน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังจาก 18,000 ลบ.ม. เป็น 23,000 ลบ.ม. ในทันที (มีท่อเดิมอยู่แล้ว) จากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
- ให้บริษัท East Water (มหาชน) จำกัด เพิ่มปริมาณน้ำให้การประปาพัทยา โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ จำนวน 15,000 ลบ.ม./วัน โดยวางท่อใหม่ขนาดท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มม. ให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์
- ให้บริษัท East Water (มหาชน) จำกัด วางท่อขนาด 700 มม. จากอ่างเก็บน้ำบางพระไปประปาพัทยา จำนวน 50,000 ลบ.ม./วัน โดยให้ดำเนินการวางท่อให้เสร็จภายใน 45 วัน
- ปริมาณน้ำเดิมที่มีอยู่ 40,000 ลบ.ม./วัน รวมกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นข้างต้นอีก 65,000 ลบ.ม./วัน เมื่อรวมแล้วจะได้ 105,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งประปาพัทยาต้องการน้ำ 110,000 ลบ.ม./วัน จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

ข) ระยะสั้น
- เดิมบริษัท East Water (มหาชน) จำกัด จะวางท่อขนาด 1.4 เมตร จากแม่น้ำบางปะกงมาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ประมาณปีละ 40-50 ล้าน ลบ.ม. จะแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2549 ได้สั่งการให้เพิ่มปั๊มน้ำเพื่อจะได้สูบน้ำเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 50-60 ล้าน ลบ.ม.

ค) ระยะยาว
- ให้กรมชลประทาน, จังหวัดชลบุรี และบริษัท East Water (มหาชน) จำกัด ร่วมกันศึกษาวางแนวท่อเพิ่มอีก 1 เส้น จากแม่น้ำบางปะกงมาเติมให้อ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. โดยให้พิจารณาเปรียบเทียบราคาค่าลงทุน ว่าจะคุ้มค่ากว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือน ก่อนวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อสามารถดำเนินการได้ จะทำให้จังหวัดชลบุรีไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำของจังหวัดระยอง

2. พื้นที่ในเขตจังหวัดระยอง

2.1 ปริมาณความต้องการน้ำใช้ประมาณ 500,000 ลบ.ม./วัน ขณะที่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ประมาณ 31.0 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจะสามารถใช้น้ำที่มีอยู่ได้ถึงประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้ดำเนินการเป็นแผนระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

2.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ
ก) ระยะเร่งด่วน คาดว่าจะได้ปริมาณน้ำประมาณ 600,000 - 700,000 ลบ.ม./วัน
- เร่งรัดการจัดทำฝนหลวงให้ได้ปริมาณน้ำเข้าอ่างฯ จำนวน 100,000 - 200,000 ลบ.ม./วัน
- การผันน้ำจากแม่น้ำระยองและคลองทับมา โดย บริษัท East Water (มหาชน) จำกัด ดำเนินการ จำนวน 220,000 ลบ.ม./วัน เข้าสู่ระบบท่อส่งน้ำของ บริษัท East Water (มหาชน) จำกัด ที่บริเวณมาบข่า
- ขุดเจาะน้ำบาดาลในปริมาณ 180,000 ลบ.ม./วัน (โดยกระทรวงทรัพยากรฯ)
- โครงการผันน้ำของจังหวัดจากคลองทับมาเข้าสู่ระบบท่อส่งน้ำของบริษัท East Water (มหาชน) จำกัด ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จำนวน 100,000 ลบ.ม./วัน

ข) ระยะสั้น
- เร่งรัดกรมชลประทาน ดำเนินการวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำ 16.5 ล้าน ลบ.ม./ปี
- กรมชลประทาน วางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกรายลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม./ปี

ค) ระยะยาว
- กรมชลประทาน วางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
ปริมาณน้ำ 85 ล้าน ลบ.ม./ปี

ข้อเสนอแนะ

1. การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่กำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้นและระยะยาว จะสามารถลดปัญหาเฉพาะหน้าในเขตอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นและภาพพจน์ของประเทศ

2. เห็นควรเร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดความรับผิดชอบไว้แล้ว กำหนดให้เป็นแผนงานที่ชัดเจนตามกำหนดเวลาที่ระบุ

3. ขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ให้ความร่วมมือและสนับสนุนแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net