Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงานสถานการณ์แนวโน้มประเทศไทยประจำเดือน มีนาคม 2548

โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เหตุการณ์ในประเทศ

1. สถานการณ์ทั่วไปก้าวสู่พายุใหญ่

เมื่อการแก้ไขวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจ ประสบความสำเร็จอย่างค่อนข้างหมดจด ก็คาดหมายกันว่า เศรษฐกิจของไทยจะสามารถรุดหน้าไปอย่างมั่นคง เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2548 ก็คาดหมายกันว่าการเมืองไทยน่าจะสงบนิ่ง แต่กลับปรากฏว่าในช่วงเวลาอันสั้น เหตุการณ์ได้พลิกผันเกิดความปั่นป่วนใหญ่ ในเกือบทุกปริมณฑล ประหนึ่งว่าประเทศได้ตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตยหรือกึ่งอนาธิปไตยอย่างฉับพลัน เช่น การเกิด "กบฏ" ภายในพรรคไทยรักไทย ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวค่อนข้างลึก ซ้ำเติมด้วยข่าวร้ายจำนวนมาก เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไหวตัวอย่างฮวบฮาบและทรุดลง เมื่อเทียบกับดัชนีหลักทรัพย์ของประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าทำได้ไม่ดี การบริหารจัดการด้านต่างๆ พบกับปัญหาอุปสรรคและแรงเสียดทาน จนกระทั่งเกิดภาพเหมือนกับจะก้าวเดินไปในทางใดก็ไม่ได้

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเช่นว่า น่าจะมีองค์ประกอบสามประการที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

1) ภาวะความไม่แน่นอนสูงและการไม่ได้สมดุลในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ความไม่สมดุลทางโครงสร้างแสดงออก เช่น ทั้งโลกมีคนร่ำรวย 8.3 ล้านคน (จากประชากรกว่า 6 พันล้านคน) มีทรัพย์สินรวมกันในปี 2004 เท่ากับ 30.8 ล้านล้านดอลลาร์ (Forbes 090605) ใกล้เคียงจีดีพีโลก เสถียรภาพทางการเมืองมักเกิดในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศกำลังพัฒนามักถูกแทรกแซงล้มล้าง จนทำให้รัฐในประเทศเหล่านี้จำนวนมาก กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการสนองสินค้าและบริการที่จำเป็น และรักษาความมั่นคงไว้ได้ กลายเป็นแหล่งเพาะความยากจน ความรุนแรง ไปจนถึงการก่อการร้าย ในด้านความไม่แน่นอนสูง แสดงออกที่การแข่งขันและข้อพิพาททางการค้าและการเมืองสูงขึ้น โครงสร้างทางการเงินและการค้าโลกไม่มั่นคง สงครามและการก่อการร้ายขยายตัว

2) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองของประเทศ ที่กระทำในบริบทที่ไม่แน่นอนและไม่สมดุล การปรับโครงสร้างนี้ในด้านหนึ่งเป็นความจำเป็นเพื่อการอยู่รอดและการก้าวสู่ระดับโลก ในอีกด้านหนึ่งก่อให้เกิดการคัดค้าน ต่อต้าน เช่น จากกลุ่มที่ถูกปรับและเสียประโยชน์ เพราะว่าการปรับทางโครงสร้างใดก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดการเสียสมดุลเดิมไป สภาพการณ์นี้จึงแสดงว่าการก้าวสู่ระดับโลกนั้นยากกว่าที่คิดมาก

3) ปัญหาทางทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาน้ำมันแพง โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มีภัยแล้ง พายุรุนแรง เป็นต้น ทำให้ภาวะความไม่แน่นอนและการไม่ได้สมดุลทางเศรษฐกิจและการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นแก้ไขได้ยากยิ่ง

จะทำอย่างไรดี ?

ได้เกิดมีการตั้งประเด็นถกเถียงว่านโยบายหรือยุทธศาสตร์ต่อไปควรจะเป็นเชิงรุกหรือเชิง รับ? หากคำนึงถึงการแข่งขันอย่างสูงและการกดดันของสถานการณ์ทั่วไป ก็ดูเหมือนยังจำต้องเคลื่อนไปข้างหน้าโดยเร็ว แต่ก็ควรกระทำด้วยความรอบคอบไม่รีบร้อน ความรีบร้อนก่อให้เกิดความเสียหายได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การเปิดช่องแก่คอร์รัปชั่นและการเล่นพวก ไปจนถึงความบกพร่องที่เกิดจากการปฏิบัติ ความรอบคอบนั้นเกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงขั้นการปฏิบัติและผลกระทบอย่างทั่วด้าน ดังนั้น การขับเคลื่อนต่อไปจึงย่อมไม่ใช่กระทำโดยประกาศเป้าหมายไปก่อนแล้วหาวิธีการปฏิบัติภายหลัง แต่ควรศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่า เป้าหมายคืออะไร จะอาศัยใคร ด้วยวิธีใด ความจำเป็นที่จะกระทำด้วยความรอบคอบนั้น เกิดจากว่า สิ่งที่ง่ายได้ทำสำเร็จไปแล้ว เหลือแต่สิ่งที่ยากขึ้นถึงยากมาก นอกจากนี้ สถานการณ์โลกทวีความไม่แน่นอนยิ่งขึ้น
ผลจะเป็นเช่นใด?
รัฐไทยคงไม่กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) แต่หากแก้ไขปัญหาไม่ดี อาจกลายเป็นรัฐที่ก้าวขาไม่ออก เนื่องจากว่า ไม่ว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการใด หรือใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะเผชิญกับเสียงต่อต้านคัดค้านจนกระทั่งไม่อาจขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีทิศทางฉับไวดังที่เคยเป็นมาแล้วในระยะใกล้ ภาวะพายุใหญ่นี้หากถือเป็นวิกฤติ ก็ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติของรัฐบาล แต่เป็นวิกฤติของชนชั้นนำไทยทั้งหมดว่าจะสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางอำนาจได้เพียงใดและอย่างไร

2. สถานการณ์น้ำมัน อาจสรุปได้ดังนี้

1) ปัญหาราคาน้ำมันแพงขยายตัวจากการเป็นระเบียบวาระแห่งชาติสู่ระเบียบวาระโลก ดังจะเห็นว่าในการประชุมจี 8 ก็มีการแสดงความกังวลในเรื่องนี้ ดังนั้น ดูเหมือนว่ามีแต่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเท่านั้นที่จะทำให้น้ำมันราคาถูกลงบ้าง

2) ภาวะราคาน้ำมันแพงน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญคือ การผลิตไม่สามารถเพิ่มได้พอเพียงกับอัตราความต้องการใช้ และการผลิตที่ไม่สามารถเพิ่มได้มากก็น่าจะสืบเนื่องจากการผลิตน้ำมันธรรมดา (Conventional Oil) ได้เข้าถึงหรือใกล้ถึงจุดสูงสุด (Peak Oil) แล้ว ซึ่งหลังจากนั้นปริมาณการพลิตจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ มีรายงานและเอกสารทางวิชาการจำนวนหนึ่งที่บ่งชี้เช่นนั้น เป็นต้นว่า มีรายงานจากประเทศที่เปิดเผยผลผลิตน้ำมันอย่างค่อนข้างโปร่งใสระบุว่าในปี 2004 ผลผลิตน้ำมันในประเทศอังกฤษและสหรัฐลดลง 230,000 และ 160,000 บาร์เรลต่อวันตามลำดับ เม็กซิโกรายงานว่าบ่อน้ำมันใหญ่ชื่อแคนตาเรลล์ได้ผลิตน้ำมันสูงสุดแล้ว และคาดว่าผลผลิตอาจลดลงถึงร้อยละ 15 ต่อปีก็เป็นได้ (Falls Church New-Press, July 7-15, 2005) สำนักข่าวมอสโก นิวส์ รายงานเกี่ยวกับกรณีไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่กรุงมอสโคว์เมืองหลวงของประเทศที่ส่งน้ำมันออกรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซีย ระบุว่า หากรัสเซียใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใน ค.ศ.2010 ก็จะไม่สามารถส่งพลังงานออกได้ และมีรายงาน "อุตสาหกรรมน้ำมัน 2004" ของรัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่า หากความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี และมีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ 1 หมื่นล้านบาร์เรลต่อปี การผลิตน้ำมันโลกก็จะถึงขั้นสูงสุดในปี 2013 ซึ่งเท่ากับว่าการบริโภคน้ำมันโลกจะถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 97 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในไตรมาสแรกของปี 2005 โลกบริโภคน้ำมันราว 84.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักข่าวบีบีซี 100605) นักธรณีวิทยาสหรัฐบางคนเห็นว่า การผลิตน้ำมันสูงสุดน่าจะอยู่ระหว่างปี 2003 ถึง 2020 และตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการทำนายที่ว่าการผลิตสูงสุดจะเกินปี 2020 (เดอะ การ์เดียน 210405) รวมความก็คือภาวะการผลิตน้ำมันธรรมดาอันเป็นเชื้อเพลิงสำคัญจะเข้าสู่ระดับสูงสุดเร็วกว่าที่คิด และสภาพเช่นนี้จะทำให้ราคาน้ำมันมีการไหวตัวแบบปั่นป่วน

3) ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงลึกซึ้งรุนแรงอย่างยากจะคาดถึง เช่น กรณีที่บริษัทน้ำมันซีนูกของจีน (China National Offshore Oil Corporation - CNOOC) ต้องการซื้อกิจการของบริษัทน้ำมันยูโนแคลของสหรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 โดยเสนอให้เงินตอบแทนสูงกว่า ได้ลุกลามกลายเป็นเรื่องการเมือง (นิวยอร์ก ไทมส์ 24062005, วอชิงตัน โพสต์ 050705) คาดกันว่าน้ำมันราคาแพงอาจทำให้โลกต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่เหมือนเดิม ลัทธิก่อการร้ายคงไม่สามารถเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตของชาวโลกอย่างเช่นคนอเมริกันและอังกฤษ แต่น้ำมันสามารถทำได้

4) จะทำอย่างไรดี ทางการไทยได้ดำเนินการหลายประการ ได้แก่ การประหยัดพลังงานด้วยมาตรการที่เข้มข้นขึ้น การทยอยลอยตัวราคาเชื้อเพลิง การเร่งแสวงหาเชื้อเพลิงทดแทน เป็นต้น สิ่งที่ควรปฏิบัติได้แก่ (1) การยอมรับแนวคิดว่าการผลิตน้ำมันใกล้จุดสูงสุดเป็นของจริง เพื่อให้กำหนดนโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับความเป็นจริง (2) ควรถือเรื่องน้ำมันเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติทางสังคมที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่การจัดการศึกษาไปจนถึงการออกแบบอุตสาหกรรมแห่งชาติควรจะได้คำนึงถึงปัญหาน้ำมันแพงไว้ด้วย เมกะโปรเจ็กต์ที่จะดำเนินงานก็ควรเป็นทำนองเดียวกัน เช่น ประหยัดหรือต้องใช้พลังงานมากน้อยเพียงใด อนึ่ง โครงการสร้างเมืองใหม่ในที่ใดก็ตามต้องการพลังงานอย่างมาก ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการบำรุงรักษา และการดำเนินชีวิตในเมืองใหญ่ (3) ควรมองพลังงานอย่างน้อยใน 2 มิติ นั่นคือพลังงานเชิงชุมชนกับพลังงานเชิงพาณิชย์ ทั้งสองอย่างสามารถดำเนินการควบคู่และเสริมกันได้อย่างดี โดยเฉพาะในยามน้ำมันราคาแพง (4) น่าจะได้ทำความเข้าใจเรื่องน้ำมันและพลังงานแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ป้องกันไม่ให้เกิดบรรยากาศตื่นน้ำมัน การที่น้ำมันราคาแพงไม่ทำให้คนเราต้องตาย แต่การแย่งชิงน้ำมันจนถึงขั้นทำสงครามกันอาจทำให้ผู้คนล้มตายได้มากกว่า อารยธรรมที่สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ อย่างเช่นกำแพงเมืองจีน พีระมิด ก็ไม่ได้ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

3. สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ยังรุนแรงและระบุไม่ได้ว่าจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด

ถึงปัจจุบันอาจจำแนกการต่อสู้ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) การต่อสู้ทางการเมืองและการทูตสากล ในด้านนี้ดูเหมือนว่าทางการไทยสามารถชี้แจงทำความกระจ่างในกรณีอย่างเช่นกรือเซะและตากใบในระดับหนึ่ง ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจแก่ผู้นำโลกมุสลิมได้ว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ใช่เกิดจากปัญหาทางศาสนา หรือการกดขี่ชาวมุสลิม แต่เป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความชอบธรรมในความพยายามของทางการไทยที่นั่น

2) การรบทางข่าวสารต่อสาธารณชน ซึ่งดูว่าสื่อมวลชนทั่วไปจะมีความร่วมมือดีขึ้น ขณะที่ก็มีการเสนอทัศนะต่างๆ เช่น เรื่องสันติวิธี ไปจนถึงการวิเคราะห์สาเหตุและสถานการณ์

3) การต่อสู้ในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ชี้ขาด การต่อสู้ในพื้นที่นี้มีปฏิบัติการที่สำคัญ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ (1) การรบทางทหาร มีการกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิด การป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีการก่อเหตุร้ายรายวัน (2) การทำสงครามข่าวสาร อันเป็นปฏิบัติการที่หลากหลายละเอียดซับซ้อน (3) การแย่งชิงประชาชน ซึ่งสำหรับทางการรัฐบาลนั้นจำต้องแก้ไขปัญหาและอุปสรรคจำนวนมาก ต้องอาศัยความอดทน และต้องใช้เวลา ปฏิบัติการในพื้นที่นี้จะเป็นสิ่งทดสอบการนำและเจ้าหน้าที่รัฐครั้งสำคัญ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารเป็นผู้มีวินัย กล้าหาญ อดทน เสียสละ เฉลียวฉลาดและยืดหยุ่นเพียงใด ถ้าหากปฏิบัติการดังกล่าวบังเกิดผลอย่างเห็นได้ชัด ก็คาดหมายว่า ฝ่ายทหารน่าจะได้มีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในฐานะเป็นหลักของความมีเสถียรภาพมั่นคง ในท่ามกลางโลกที่ไม่แน่นอนสูง

เหตุการณ์ต่างประเทศ
1. การประชุมจี 8 ที่สกอตแลนด์
มีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การปลดหนี้แก่ประเทศที่ยากจนในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา 2) ปัญหาโลกร้อน 3) ปัญหาน้ำมันราคาแพง แต่ที่กล่าวถึงมากได้แก่ 2 ประเด็นแรก สำหรับเรื่องการปลดหนี้แก่ประเทศยากจนในแอฟริกานั้น กล่าวไปแล้วก็เป็นนโยบายประชานิยมระดับโลก ทางการเมืองเป็นการซื้อคะแนนนิยมจากประเทศยากจน ทางเศรษฐกิจเป็นการกระจายความมั่งคั่งใหม่ เพื่อขยายตลาด ทางทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการเข้าถึงแหล่งน้ำมันใหม่ในแอฟริกา อนึ่ง มีผู้คนนับแสนชุมนุมประท้วงและเรียกร้องให้มีการแก้ไขความยากจนในโลก นโยบายประชานิยม หรือมองในอีกด้านว่าเป็นการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลางดูกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

2. การแข่งขันทางอาวุธและด้านอวกาศ

นับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ฝ่ายบริหารสหรัฐดูจะมีความเห็นร่วมกันในอันที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ ประกันให้สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวตลอดไป ไม่เปิดโอกาสให้ชาติหนึ่งชาติใดขึ้นมาท้าทายได้เหมือนกรณีสหภาพโซเวียต ยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้พิทักษ์โลกของสหรัฐอาจสรุปได้ดังนี้ 1) การโจมตีก่อน แก่ประเทศใดซึ่งมักเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถสร้างอาวุธทำลายล้างสูงได้ การโจมตีก่อนนี้มีทั้งใช้อาวุธธรรมดาและอาวุธนิวเคลียร์ 2) การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ เช่น ให้มีขนาดเล็กที่สามารถนำมาใช้ได้ การเปลี่ยนอาวุธนิวเคลียร์เดิม ไปจนถึงความคิดที่จะกลับมาทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ 3) การครอบครองอวกาศ การทำสงครามอวกาศหรือสตาร์วอร์ที่ค้นคว้ากันต่อเนื่องมา

ปฏิบัติการของสหรัฐ เห็นได้ว่าเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตน แต่ชาติอื่นก็ย่อมมีปฏิบัติการเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตนเช่นกัน ดังนั้น จึงมีข่าวว่าจีน อินเดีย และปากีสถาน เป็นต้น ได้ขยายขอบเขตความสามารถการผลิต เก็บ และใช้อาวุธเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่สามารถส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลกได้ รัสเซียที่เป็นคู่แข่งเก่า ได้ออกข่าวเป็นระยะว่าตนเองสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใหม่สำเร็จ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีรายงานข่าวว่าได้วิจัยและพัฒนาด้านอวกาศอย่างจริงจังซึ่งเทคโนโลยีทางอวกาศนั้นแยกไม่ออกจากเทคโนโลยีทางทหาร

ในต้นเดือนกรกฎาคม 2548 องค์การนาซาของสหรัฐประสบความสำเร็จในการยิงดาวหางที่ห่างไปกว่า 100 ล้านกิโลเมตรและโคจรด้วยความเร็วยิ่งกว่ากระสุนปืนที่พุ่งออก ได้ตรงเป้าหมาย เป็นสัญญาณว่าสงครามอวกาศมีความเป็นไปได้ทางเทคนิคมากขึ้น

การแข่งขันและการพัฒนาทางอาวุธ ดูจะบ่งชี้ว่า สงครามโลกครั้งที่สามหากเกิดขึ้น น่าจะมีอวกาศเป็นสมรภูมิสำคัญ ผู้ครองอวกาศจะเป็นผู้ครองโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net