Skip to main content
sharethis

เครือข่าย ร่วมวางเสาเผื่อแผ่ในที่ดินสาธารณะใกล้สวนส้มของนายทุน
------------------------------------------------------------------
"เห็นได้ว่า พระอธิการเอนก นั้นมีปัญญาประดุจแสงจันทร์ ที่ผ่องสกาวนุ่มนวล ด้วยการเจริญพรหมวิหารธรรมทั้งหมด เปี่ยมทั้งเมตตา มุทิตา อุเบกขา ท่านได้ต่อสู้กับกระแสธรรม ต่อสู้กับอธรรม เป็นผู้นำที่ถูกต้อง ควรได้รับความชื่นชมยกย่อง เพราะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ทั้งทางกายและจิตใจสอดคล้องกัน สามารถแผ่ไปยังญาติโยม สามารถนำญาติโยมทั้งหมดร่วมกันต่อสู้กับขบวนการที่เป็นมารร้าย" ส.ศิวรักษ์ ตัวแทนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวสุนทรกถา ก่อนถวายเหรียญเจริญ วัดอักษร แด่พระอธิการเอนก จนทปญโญ

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้จัดงานครบรอบ 1 ปี ของการจากไปของ เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้แห่งบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นที่ วัดคลองศิลา ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ท่ามกลางกระแสความรุนแรงความขัดแย้ง การแย่งชิงฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่กำลังคุกรุ่นไปทั่วอำเภอฝางในขณะนี้

ในงานนี้ นอกจากทางพระเอนก จนทปญโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา ได้ขึ้นกล่าวปฐกถาธรรมแก่ผู้คนหลายร้อยคนที่มาจากทั่วสารทิศ ทางด้าน นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้กล่าวสุนทรกถา พร้อมกับเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถวายเหรียญเจริญ วัดอักษร แด่พระอธิการเอนก จนทปญโญ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติที่ได้ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมมายาวนาน

"ในนาม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต้องการปลุกมโนธรรมสำนึกให้ทุกคนเห็นว่า อะไรคือสัจจะ อะไรคือธรรมมะ และให้มีการยกย่องคนธรรมดาสามัญ ที่มหาวิทยาลัยหลักทั่วไปไม่เคยยกย่อง ดังนั้น จึงขอถวายเหรียญเจริญ วัดอักษร เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นกำลังใจ ในการทำงานของพระอธิการเอนก และชาวบ้านที่ได้ร่วมกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย และเชื่อว่าการต่อสู้ของท่านทั้งหลายจะต้องได้รับชัยชนะ ธรรมมะจะต้องชนะอธรรม" ส.ศิวรักษ์ กล่าวในตอนท้าย

หลังจากนั้น ได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณที่ดินสาธารณะใกล้หนองน้ำ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่สวนส้มของผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่นั่น,มีการวางเสาเผื่อแผ่ โดยมีเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน จากทั่วประเทศได้ร่วมกันวางหลักเสาทั้งหมด 17 เสา 17 เครือข่ายด้วยกัน เพื่อเป็นสิ่งยืนยันร่วมกันว่า พร้อมจะรวมพลังในการขับเคลื่อนการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแต่ละชุมชนให้คงอยู่สืบไป

เป็นภาพที่งดงามและแฝงฝังความเชื่อมั่นศรัทธาในพลังของประชาชน พร้อมกับมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า พร้อมยืนหยัดป้องปักรักษาผืนแผ่นดินถิ่นเกิดของตน และจะต่อสู้กับนายทุนอธรรมที่เข้ามารุกราน

นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวหลังจากร่วมกันวางเสาเผื่อแผ่ ว่า มาร่วมงานในครั้งนี้ ก็เพื่อมาให้กำลังใจพระอธิการเอนก ที่ได้ร่วมกันต่อสู้ในเรื่องการรักษาดิน น้ำ ป่า ซึ่งทราบมาว่า พื้นที่ตรงนี้ นายทุนสวนส้มพยายามเข้ามากดดันหลายๆ ด้าน เพื่อจะเข้ามายึดเพื่อทำสวนส้ม เรารับรู้ปัญหามาโดยตลอด ก็เลยมาช่วยกัน และเสาเผื่อแผ่ นี้ก็จะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เราจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันตลอดไป

"จริงๆ แล้ว พระก็คือมนุษย์ปุถุชน และก็อยู่ในชุมชนซึ่งกำลังมีปัญหา ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็เป็นผู้ถูกกระทำ และไม่มีใครยืนหยัดอยู่ข้างชาวบ้านได้ โชคดีชุมชนนี้ยังมีพระ ซึ่งเมื่อฟังพระอธิการอเนกได้กล่าวปฐกถาแล้ว เห็นว่า ยังมีพระอีกหลายๆ รูปที่ยังไม่ได้ทำ และก็ทำไม่ได้ แต่ท่านกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในการปกป้องผืนดินผืนป่าและสายน้ำ ซึ่งชาวบ้านจะต้องดูแลคุ้มครองท่านด้วย" นางจินตนา กล่าว

ด้าน นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนนั้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกพื้นที่ไปทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องมีการรวมพลังกัน สร้างเป็นเครือข่าย เพราะถ้าจะต่อสู้แบบเดี่ยวๆ ก็คงจะสู้ยาก เพราะนี่เป็นการต่อสู้กับทุน เป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร

"ปัญหาที่บ่อนอก บ้านกรูด นั้นเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้เกิด ยังไม่ได้มีการดำเนินการ แต่ปัญหาที่ฝางนี่อาจจะหนักกว่า เพราะมันมีการช่วงชิงทรัพยากรไปแล้ว ในส่วนปัญหาเรื่องความรุนแรงนั้น จริงๆ แล้ว รัฐน่าจะเป็นฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ปัญหามากกว่า ถ้าจะให้ภาคประชาชนแก้ทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ คงทำได้เพียงป้องกันเท่านั้น เพราะความรุนแรงนั้นไม่ได้เริ่มจากฝ่ายเรา แต่เริ่มจากฝ่ายตรงกันข้ามที่เราต่อสู้

นางกรณ์อุมา ยังกล่าวอีกว่า ในขณะนี้ มีการเกิดความรุนแรงไปหลายๆ พื้นที่ แต่ว่ารัฐก็ปล่อยปละละเลย ซึ่งนโยบายรัฐที่ผ่านมานั้น ถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้จัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงอยากจะฝากให้รัฐมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจังเสียที

ด้าน พระอธิการเอนก จนทปญโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา(สันทรายคองน้อย) เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล ปี 2545 และได้รับเหรียญเจริญ วัดอักษร จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในครั้งนี้ กล่าวว่า ในช่วงปี 2534 ได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนเนินเขา มองเห็นสภาพพื้นที่ของเวียงด้งได้อย่างชัดเจน พบว่า มีการบุกรุกทำลายป่าไม้เป็นจำนวนมาก จึงได้ปรึกษาหารือกับคนเฒ่าคนแก่ที่ไปปฏิบัติธรรมว่า ถ้าเป็นคนป่วยขั้นโคม่า จะทำพิธีสืบชะตา หรือส่งคนนั้นไปบวชก็จะหาย ดังนั้น ถ้าเรานำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับป่าจะดีไหม ทุกคนก็เห็นดีด้วย ก็ได้เริ่มตั้งแต่จุดนั้นคือ บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมป่าเวียงด้ง เป็นครั้งแรก โดยใช้พิธีสืบชะตาป่าหรือบวชป่าขึ้น

"ซึ่งก่อนหน้านั้น เราจะได้ยินเสียงคนลอบตัดต้นไม้กันทุกวัน แต่หลังจากได้ร่วมกันทำพิธีสืบชะตาป่า บวชป่า เสียงนั้นก็เงียบหายไป แต่หลังจากนั้นชุมชนบ้านสันทรายคองน้อย เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา เมื่อมีนายทุนเข้ามาทำสวนส้ม มีการบุกรุกเป็นจำนวนมาก ทั้งนายทุนโดยตรงและจากแรงหนุนของนายทุนที่ทำให้กระตุ้นให้ชาวบ้านไปบุกรุกพื้นที่ จึงได้ทำการขยายพื้นที่ทำพิธีบวชป่าสืบชะตาป่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 เป็นต้นมา ทำได้อยู่ 6 พื้นที่ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,100 ไร่" พระอธิการเอนก เล่าให้ฟัง

พระอธิการเอนก กล่าวอีกว่า ชาวบ้านได้รับผลผลกระทบจากสวนส้มอย่างหนัก ในช่วงปีพ.ศ.2529 เป็นต้นมา มีการเรียกร้องหรือการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการแก้ไขผลกระทบเหล่านั้น แต่ปรากฏว่า ยิ่งทำปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะว่านายทุนนั้น ก่อนที่จะมาทำ ได้มีสมัครพรรคพวก มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของนายทุนก็เลยเป็นฝ่ายสนับสนุนของนายทุน ทำให้คนในชุมชนเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน เกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี จากผลกระทบทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แล้วยังมีผลกระทบต่อชุมชน

พระอธิการเอนก ยังย้ำและยืนยันว่า พระจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย บทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคมนั้นยังคงมีอยู่ โดยต้องยืนอยู่บนฐานของชุมชน และยืนยันว่าในขณะนี้ ปัญหาเรื่องสวนส้มตอนนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการบุกรุกแย่งชิงดิน น้ำ ป่า และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งตอนนี้ มันได้ขยายลุกลามไปทั้ง 3 อำเภอ คือไชยปราการ ฝาง และแม่อาย ซึ่งมีการรายงานว่า ปัจจุบัน สวนส้มบริเวณลุ่มน้ำฝางมีพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 3 แสนไร่ โดยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนกว่า 1 แสนไร่ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าไม้ที่มีการอนุรักษ์ดูแล เช่น ป่าเวียงด้ง ก็ยังถูกนายทุนสวนส้มเช่าที่ป่าไม้ และรุกเลยไปถึงป่าต้นน้ำ

"อย่างกรณี บ้านสันทรายคองน้อย ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนายทุนสวนส้มเข้ามาแย่งชิงน้ำ โดยเข้ายึดหนองน้ำ และลำเหมืองสาธารณะที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษาและใช้กันมานานแล้ว แต่นายทุนเจ้าของสวนส้มชื่อดังคนนั้น กลับไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปใช้พร้อมกับมีการข่มขู่คุกคามพระ ชาวบ้านมาโดยตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ เรื่องก็ยังไม่ยุติ ซึ่งภาครัฐก็ยังเพิกเฉย ไม่ยอมเข้าไปจัดการคลี่คลายปัญหาใดๆ เลย"

โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำฝางทั้ง 3 อำเภอ ปัญหาการแย่งชิงด้านทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ตราบใดภาครัฐยังไม่มีความจริงจังและจริงใจในการแก้ไข และไม่มีการวางตัวเป็นกลาง ตราบนั้นเชื่อว่าปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะว่าที่ผ่านมา นายทุนได้ผลประโยชน์จากการเข้ามาทำกิจการสวนส้มขนาดใหญ่ อย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่การเข้าถือครองที่ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งขบวนการการผลิตทุกอย่าง ทั้งนี้ล้วนได้รับแรงใจแรงสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ปัญหาเหล่านี้

"ดังนั้น ตราบใดที่ทางรัฐบาลยังเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นทางอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงชุมชนและทรัพยากรของท้องถิ่น ตราบนั้นปัญหาจะไม่มีทางยุติ" พระนักอนุรักษ์แห่งลุ่มน้ำฝาง กล่าวทิ้งท้าย

พระอธิการเอนก กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้น การต่อสู้จะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังของชุมชนเอง จากบทเรียนที่ชุมชนได้ขับเคลื่อนกันมา ได้ทำให้เรารู้ว่าไม่มีใครที่จะช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง เข้ากับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า อัตตาหิ อัตตาโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะฉะนั้น การที่ชุมชนรู้ปัญหาของตัวเอง และหาวิธีการแก้ไขปัญหาของตัวเอง จะทำให้ช่วย ปกป้องฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นเอาไว้ได้

นั่น,เป็นแนวทางปฏิบัติของพระอธิการเอนก จนทปญโญ พระนักพัฒนา พระนักอนุรักษ์แห่งเมืองฝาง ที่ได้อาศัยธรรมมะและพลังของชาวบ้านเข้ามาหนุนเอื้อเกื้อหนุนกันและกัน เพื่อหาหนทางในการปกปักรักษาฐานทรัพยากรที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ท่ามกลางกระแสโลภาภิวัฒน์ของกลุ่มนายทุนที่โหมเข้ามาสู่ลุ่มน้ำฝางอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ภาครัฐยังคงนิ่งและเงียบเฉย.

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net