กฎหมายการคุกคามทางเพศชิลีเริ่มทำงาน

ประชาไท-สามเดือนหลังจากชิลีได้ผ่านกฎหมายการคุกคามทางเพศ พบตัวเลขการร้องเรียนลดลง นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่ยอมนิ่งเงียบต่อการถูกคุกคามโดยเจ้านาย กระนั้นกว่ากฎหมายฉบับนี้จะคลอดได้รัฐสภาชิลีก็ใช้เวลาอภิปรายนานถึง 14 ปี

หลังจากใช้เวลาในการภิปรายกันมานานกว่า 14 ปี ในที่สุดเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้รัฐสภาชิลีก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติการล่วงละเมิดทางเพศและได้ลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดี ริคาร์โด คาลอส เอส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสตรีสากลที่ผ่านมานี้

ประเด็นที่ได้กระตุ้นให้มีพิจารณาการออกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศในชิลีนั้นเกิดขึ้นเมื่อ จิโอวานา ริเวรี ซึ่งทำงานอยู่ในกระทรวงเกษตร ซึ่งเคยถูกเจ้านายคุกคามโดยการใช้อำนาจที่เหนือกว่าเกือบทุกวันของการทำงาน โดยที่เธอไม่มีทางต่อต้าน และไร้ทางต่อสู้เนื่องจากจำเป็นจะต้องทำงานต่อไปเพื่อเลี้ยงชีพ

เธอกล่าวว่าสิ่งที่เจ้านายทำคือ บางครั้งเขาก็จะจับผมเธอ ให้เธอเข้าไปร่วมประชุมที่ไม่จำเป็น หรือเขียนจดหมายลามกมาหาเธอ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยสัมผัสตัวเธอตรงๆ แต่เธอรู้สึกว่าเธอกำลังถูกคุกคามทางจิตใจ หลังจากที่เธอหันมาเผชิญหน้ากับเขาการคุกคามก็กลับยิ่งเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นที่เธอไม่สามารถจะทำงานได้

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกับ ริเวรี่นี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติมากในชิลี จากการสำรวจในปี 1993 ผู้หญิง 1 ใน 5 ตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยที่ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อเหล่านี้มักจะเก็บเงียบไม่กล้าพูดกับใคร ริเวรีเองก็ได้พิจารณาในสิ่งที่เธอต้องเผชิญและตัดสินว่าเธอควรจะเก็บเงียบหรือส่งเสียงออกมาให้คนได้รับรู้ดี

ในที่สุดเมื่อ 8 ปีที่แล้วริเวรี่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือสตรี หรือ ที่รู้จักกันในนาม ของ SERNAM โดยหวังว่า น่าจะเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้นายจ้างของเธอถูกลงโทษ แต่ในขณะที่เจ้านายยังไม่ได้ถูกลงโทษนั้น เธอก็ไม่ได้ไปทำงานและถูกไล่ออกจากงานแล้ว ( SERNAMเป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการสตรีเป็นประธาน)

เธอตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลในกรณีการไล่ออกโดยมิชอบ ในปี 2003 ศาลได้ประกาศว่าเธอเป็นเหยื่อของการคุกคามและถูกไล่ออกโดยมิชอบ และตัดสินให้เธอได้รับค่าเสียหายจากอดีตนายจ้าง 17,000 เหรียญสหรัฐฯ ( ประมาณ 6.8 แสนบาท)

กรณีของเธอได้รับการยอมรับและเป็นการกระตุ้นให้เริ่มปฏิบัติการในประเด็นดังกล่าวซึ่งเคยเป็นประเด็นที่เดินไปอย่างเชื่องช้าในภูมิภาคนี้

ในขณะที่กระแสการออกกฎหมายเพื่อลงโทษการกระทำอันเป็นการคุกคามทางเพศได้บังคับใช้ทั่วลาตินเมริกาในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มจาก เม็กซิโก ในปี 1991 และล่าสุดคือ เปอโตริโก้ ในปี 2003 แต่ชิลีกลับเป็นประเทศที่ล่าช้ามากที่เพิ่งออกกฎหมายเพื่อลงโทษการคุกคามทางเพศในปีนี้เอง

"การออกมาต่อสู่ในสาธารณะอย่างกล้าหาญของเหมือนอย่างที่ จิโอวานา ริเวรี ทำนั้นได้ช่วยให้มีการขับเคลื่อนกฎหมายในปัจจุบัน" มาเรียม เวอร์ดูโก รองประธาน SERNAM กล่าว " พวกเขาได้นำเรื่องนี้ออกจากความเป็นเรื่องส่วนตัวมาฉายให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว"

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลในเรื่องการเปิดเผยเรื่องราวเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีผู้ร้องเรียนเรื่องการถูกคุกคามทางเพศถึง 25 ราย ซึ่งคิดเป็น 6 เท่าของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ที่ผ่านมา

เวอร์ดูโก กล่าวว่า ผลของกฎหมายดังกล่าวที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับเรื่องการร้องเรียนการละเมิดในบ้านที่เกิดขึ้นมาเมื่อกว่า 10 ปี มาแล้ว

" เมื่อก่อนเราจัดเรื่องการละเมิดที่เกิดขึ้นในบ้านให้เป็นเพียงความผิดลหุโทษ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนเข้ามา 3,000 รายต่อปี เมื่อปีที่แล้ว เราได้รับการร้องเรียน 80,000 ราย ส่วนในเรื่องการคุกคามทางเพศนั้นมีเพียง 13 รายใน2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็หวังจากความจริงที่ว่า ขณะนี้ได้มีบางสิ่งบางอย่างเพื่อคุ้ม ครองเหยื่อแล้วจะทำให้ประเด็นนี้ได้ถูกนำมาสู่ที่สว่างมากขึ้น" เวอร์ดูโกกล่าว

ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ของชิลี นายจ้างจะต้องนำมาตรการการคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายหลังจากที่มีการร้องเรียนโดยการแยกที่ทำงานและเวลาทำงานของคู่กรณี นายจ้างจะต้องทำการสืบสวนและสอนสวนภายในและรายงานกลับไปยังกระทรวงแรงงาน

หากพบว่ามีการคุกคามเกิดขึ้นจริง ผู้กระทำผิดจะต้องถูกไล่ออกโดยมิได้รับค่าชดเชยใดๆ และเหยื่อสามารถที่จะฟ้องร้องต่อศาลให้มีการดำเนินคดีได้ หากผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าของเหยื่อ เหยื่อสามารถออกจากงานโดยได้รับค่าชดเชยตามปกติที่กฎหมายแรงงานกำหนดสำหรับการลาออก และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 80 และเหยื่อยังคงได้สิทธิ์ที่จะไปฟ้องร้องให้มีการดำเนินคดีต่อในศาล และ เรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจเพิ่มเติมได้ การลงโทษไม่มีการจำคุก

ก่อนที่จะมีกฎหมายนี้ออกมานั้น ผู้หญิงมักจะต้องอาศัยกฎหมายแรงงาน แต่ก็ใช้เวลานานหลายปี และ ริเวรี่ก็เป็นผู้หญิงคนแรกในชิลีที่ชนะคดี การคุกคามทางเพศ

" ก่อนนั้นมันไม่มีการร้องเรียนที่ทำงานอย่างเป็นทางการ" พิลาร์ โอยารซุน ทนายความของริเวรีกล่าว " ผู้หญิงสามารถร้องเรียนไปที่ SERNAM แต่ก็ไม่มีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นทางการเพราะว่ามันไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการได้กฎหมายดังกล่าวมาถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ หมายถึงว่าขณะนี้ผู้หญิงมีทางเลือกแล้ว"
-----------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย ประชาไท
ที่มา : Greenleaf weekly
เผยแพร่ใน :http://www.greenleft.org.au/back/2005/633/633p8b.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท