Skip to main content
sharethis

โครงการผันน้ำจากแม่น้ำลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ลงสู่เหมืองลิกไนต์เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ของบริษัทเหมืองบ้านปูหรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งหมดอายุสัญญาประทานบัตรตั้งแต่เดือน มิ.ย.2547 ที่ผ่านมาถือเป็นโครงการที่น่าจับตามองโครงการหนึ่ง

โครงการดังกล่าวเป็นแนวคิดของจังหวัดลำพูน ที่ต้องการนำหลุมเหมืองแร่ลิกไนต์ดังกล่าวมาปรับปรุงให้มีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการชลประทานตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลี้ ดังนั้นที่ผ่านมาโครงการนี้จึงถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มแผนงานยุทธศาสตร์จังหวัด

ในเบื้องต้นมีการตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ที่ 100 ล้านบาท มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เบื้องหลังเหมืองบ้านปู

ตัวเหมืองลิกไนต์บ้านปู ตั้งอยู่บริเวณบ้านปู หมู่ 3 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน อยู่ด้านทิศตะวันออกของตัว อ.ลี้ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจรดเทือกเขาสูง ด้านทิศใต้จรดหมู่บ้านนากลาง ต.ลี้ ส่วนด้านทิศตะวันออกจรดแม่น้ำลี้

บริษัทบ้านปูเริ่มเข้ามาดำเนินการเหมืองลิกไนต์แห่งนี้จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทางบริษัทบ้านปูเป็นเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาเลขที่ ป/26 ลงวันที่ 21 ก.ค.2526 และเริ่มดำเนินการในปี 2532-2533 ในสมัยนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวจะยุติลงเนื่องจากหมดอายุสัญญาประทานบัตร ทว่าหากย้อนไปช่วงมีการเริ่มดำเนินการโครงการจะเห็นว่าโครงการนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนท้องถิ่นไม่น้อย

ทั้งนี้เพราะพื้นที่เหมืองครอบคลุมชุมชนท้องถิ่นถึง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่หว่างพัฒนา หมู่ 2 บ้านนาทราย หมู่ 4 บ้านแม่หว่างต้นผาง หมู่ 5 และบ้านแม่หว่างลุ่ม หมู่ 7 ต.นาทราย หมู่บ้านทั้งหมดนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่ต้องถูกเวนคืน ตามหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 8 ตอนที่ 97 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2531

กรณีดังกล่าวทำให้หมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน มีประชากรรวมจำนวน 688 ครัวเรือน 2,650 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และจากที่ตัวเหมืองมีระยะห่างจากแม่น้ำลี้ในระยะใกล้สุดประมาณ 20 เมตร ดังนั้น โครงการดังกล่าวยังมีการเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำลี้ด้วยโดยการถมกลบลำน้ำเดิมบางช่วงและขุดทางน้ำสายใหม่ขึ้นมาแทน แน่นอนว่าการดำเนินการดังกล่าวย่อมสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำลี้ขนานใหญ่

แม่น้ำลี้ เส้นเลือดใหญ่ของคนลำพูน

แม่น้ำลี้เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง ถือเป็นสายน้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คน เสมือนหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนลำพูนมาช้านาน

แม่น้ำสายนี้มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร ต้นน้ำมีแหล่งกำเนิดบริเวณดอยสบเทอม (ดอยอีฮุย) เขตบ้านหนองหลัก อ.ทุ่งหัวช้าง เป็นเขตรอยต่อระหว่าง อ.แม่ทา อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน และเขต อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ปัจจุบันผืนป่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง

จากนั้นไหลเรื่อยลงไปทางใต้จนถึงบริเวณ อ.ลี้ จึงค่อยไหลวกกลับขึ้นไปทางเหนือเป็นรูปตัวยู ผ่าน อ.ลี้ อ.บ้านโฮ่ง แล้วต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่าน กิ่งอ.เวียงหนองล่อง และบางส่วนของ อ.แม่ทา และ อ.ป่าซาง และมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง กิ่งอ.เวียงหนองล่อง รวมพื้นที่รับน้ำกว่า 315 ตารางกิโลเมตร

แม้ว่าลุ่มน้ำลี้จะครอบคลุมพื้นที่ถึง 315 ตารางกิโลเมตรใน 4 อำเภอแต่ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำลี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะเกือบตลอดลำน้ำประสบปัญหาความเสื่อมโทรม

ทั้งนี้เพราะพื้นที่ จ.ลำพูน มีกิจกรรมส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างหนัก เช่น ลำไย รวมทั้งกรณีเหมืองแร่ลิกไนต์ของบริษัทบ้านปูก็เช่นเดียวกัน

กิจกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยากที่จะปฏิเสธ และคงไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันแม่น้ำลี้ประสบภาวะแห้งขอด ไม่เพียงพอต่อการใช้ในการทำการเกษตร

กรณีดังกล่าวคือที่มาของโครงการนำเหมืองลิกไนต์มาใช้ในการทำอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานภายใต้การรับผิดชอบของ จ.ลำพูน ท่ามกลางกระแสหวาดวิตกของคนลุ่มน้ำลี้เพราะหวั่นเกรงเรื่องสารตกค้างภายในตัวเหมืองที่จะปนเปื้อนลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม

ผิดกฎหมายแต่ยังทำได้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวหากพิจารณาตามบทบัญญัติกฎหมายของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระบุชัดเจนว่าหลังจากเหมืองแร่หมดอายุประทานบัตรลง ผู้ประกอบการต้องปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพเหมืองแร่ให้ใกล้เคียงสภาพก่อนดำเนินการมากที่สุด กล่าวได้ว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา ผลกระทบ รวมทั้งสภาพแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการ

ดังนั้น กล่าวได้ว่าโครงการนี้การกระทำผิดเจตนารมณ์ของทั้ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะเปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการสามารถเจรจาเพื่อขอเปลี่ยนแนวทางการฟื้นฟูได้ในภายหลังก็ตามที

ที่สำคัญ แม้จะทราบกันดีว่า การนำหลุมเหมืองลิกไนต์มาใช้เป็นอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานมีความเสี่ยงเรื่องสารปนเปื้อน แต่ที่ผ่านมานายสุรเดช ประเสริฐศรี หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ลำพูนเคยชี้แจงว่า จังหวัดมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและปัญหาภัยแล้งช่วงฤดูแล้งแก่เกษตรกร

เหตุเพราะลำน้ำลี้มีความลาดชันสูง จากต้นน้ำกับปลายน้ำมีความลาดชันประมาณ 600 เมตร ทำให้เกิดปัญหาการเทน้ำ ในช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาอุทกภัยและในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้ง ตลอดลำน้ำลี้จะพบว่าชาวบ้านสร้างฝายกักเก็บน้ำเยอะซึ่งก่อเกิดปัญหาทรายกอง ลำน้ำตื้นเขิน

ส่วนปัญหาสารปนเปื้อนนั้น นายสุรเดช เผยว่า ทางจังหวัดจะประสานกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยศึกษาวิจัย ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ขณะที่การศึกษาด้านเทคนิคต่างๆกรมชลประทานจะเข้ามารับผิดชอบ หากไม่มีปัญหาก็จะเป็นผลดีแก่เกษตรกรเพราะโครงการนี้จะเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ใน อ.บ้านโฮ่ง อ.ทุ่งหัวช้าง อ.ป่าซาง และ อ.ลี้

ขณะที่นายมนตรี จันทวงศ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ปัญหาจากโครงการนี้มีแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาสารตกค้างพวกโลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว แคดเมี่ยม สารหนู สารเหล่านี้เป็นสารประเภทเดียวกันที่อยู่ในน้ำจากหลุมเหมืองแม่เมาะ

ส่วนการชี้แจงของ จ.ลำพูนกรณีแม่น้ำลี้มีความลาดชันถึง 600 เมตร ซึ่งสร้างปัญหาการเทน้ำและปัญหาความแห้งแล้งนั้น นายมนตรี แย้งว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการพิจารณาความลาดชันนอกจากมองจากระดับความสูงของลำน้ำแล้วต้องพิจารณาความยาวของลำน้ำด้วย นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงความคดเคี้ยวของลำน้ำรวมทั้งลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นตัวชะลอการไหลของน้ำด้วยไม่ใช่มองแค่อัตราส่วนความยาวและความสูงของลำน้ำเท่านั้น

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การชี้แจงว่าลำน้ำลี้มีความลาดชันสูง ไม่สามารถกักเก็บน้ำและเกิดปัญหาความแห้งแล้งนั้นเป็นการอ้างเพื่อความชอบธรรมในการดำเนินการเท่านั้น อีกทั้งการนำเหมืองแร่เก่ามาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานก็ไม่มีใครนิยมทำกันเพราะมีความเสี่ยงเรื่องสารปนเปื้อนสูงมาก

ชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง

นายอนันต์ วังเวียง แกนนำเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ทาง ส.ส.และส่วนราชการแจ้งกับชาวบ้านว่าเป็นโครงการแก้มลิง แต่ตนเห็นว่าไม่ใช่แน่ เพราะหลุมเหมืองใหญ่มากกินพื้นที่นับพันไร่ ขณะที่ดึงน้ำจากแม่น้ำลี้ลงไปในเหมืองตนคิดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีเพราะน้ำส่วนหนึ่งต้องซึมลงไปใต้ดินด้วย ดังนั้นระหว่างรอให้น้ำเต็มเหมืองชุมชนท้ายน้ำจะได้รับปัญหาแน่นอน

นอกจากนี้ นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เครือข่ายลุ่มน้ำลี้มีจุดยืนที่ชัดเจนคือไม่ต้องการเพราะนอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือเรื่องสารตกค้าง ที่ตนทราบมาว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่นำเหมืองแร่ลิกไนต์มาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน

"ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้แค่ว่าจังหวัดจะเอาหลุมเหมืองมาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่าสารตกค้าง สารปนเปื้อนมีอะไรบ้าง มีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมอย่างไรเพราะสิ่งเหล่านี้เรามองไม่เห็น ดังนั้นโครงการนี้เราอยากให้จังหวัดทบทวนใหม่ เพราะเท่าที่เห็นจะมีผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ" นายอนันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำลี้จะเห็นว่าปัจจัยหลักมิได้อยู่ที่ลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ ทว่าอยู่ที่กิจกรรมส่งมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า อีกทั้งปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การแก้ปัญหาของทางจังหวัดแม้ว่าอาจทำไปภายใต้เจตนาที่ดี แต่สิ่งที่ต้องครุ่นคิดให้มากไปกว่านั้นคือต้องพิจารณาถึงต้นตอ สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง มิใช่คิดแค่ว่าเมื่อขาดน้ำก็ต้องหาน้ำมาให้เพียงพอ ทั้ง การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ไม่เว้นแม้กระทั่งการนำหลุมเหมืองลิกไนต์มาใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ซึ่งไม่มีประเทศไหนนิยมทำกันเพราะปัญหาสารปนเปื้อน

ในขณะที่ทางออกและทางเลือกอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาดังกล่าวยังมีอีกหลายแนวทาง เช่น การขุดลอกตะกอนตลอดลำน้ำเพื่อให้น้ำไหลสะดวก การส่งเสริมภูมิปัญญาระบบเหมืองฝายให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง

อย่างไรก็ตาม โครงการผันน้ำจากแม่น้ำลี้ลงสู่เหมืองลิกไนต์บ้านปูที่ จ.ลำพูน กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้รูปการจะออกมาเช่นใด ข้อวิตกกังวลเรื่องสารปนเปื้อนของคนลุ่มน้ำลี้ รวมทั้งทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหาจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ คงต้องร่วมกันติดตามตรวจสอบกันต่อไป

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net