ปลดอาวุธเพื่อปลอดการฆ่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติหรือกอส. ต่อรัฐบาล เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยห้ามพลเรือนมีอาวุธไว้ในครอบครอง เว้นแต่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่

ของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

นายกรัฐมนตรีอ้างเหตุที่ว่า  รัฐไม่สามารถจัดการกับคนไม่ดีที่เที่ยวพกปืนไปฆ่าคนดีได้

 

"เราสามารถกันคนดีได้ แต่คนไม่ดีอย่างไรก็พกอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องมือฆ่าคนทุกวันนี้ และเจ้าหน้า ที่ยังจับไม่ได้ มาตรการทุกอย่างต้องดูทั้งฝ่ายคนดีและคนไม่ดี เราอยากปกป้องคนดี แต่ก็ต้องคิดว่า คนไม่ดียังมีจำนวนหนึ่ง อย่าไปคิดว่า คนไม่ดีมีแค่หมื่นคน เพราะคนหมื่นคนก็สามารถสร้างปัญหาให้คนเป็นล้านๆ คนได้" ( ทักษิณสวน กอส.มองมิติเดียวฯ, กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ก.ค. 2548)

 

อันที่จริง แนวคิดเรื่องเขตปลอดอาวุธของกอส. สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเขตปลอดการฆ่า(No Killing Zone) ซึ่งเป็นข้อเสนอรูปธรรมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (ตามมติครม.วันที่ 5 มิ.ย.44) ทั้งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด อย่างน้อยก็ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการรณรงค์ให้เกิดชุมชนปลอดภัยตัวอย่าง สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม

 

เขตปลอดการฆ่าตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบของพื้นที่ 3 จังหวัดชาย

แดนใต้ จำเป็นจะต้องแยกชุมชนสันติสุข ปราศจากเหตุความไม่สงบออกจากพื้นที่ที่มีก่อการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์แนวทางสันติวิธีในวงกว้าง หลังจากนั้นก็จะขยายความคิด ขยายพื้นที่ปลอดการฆ่าออกไปจนกระทั่งครองคลุมพื้นที่ที่เหลือ

 

สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีเหตุร้าย ชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุขก็ต้องพยายามรักษาสันติสุขของชุมชนไว้ให้ยั่งยืน ขณะที่ชุมชนที่มีปัญหาความรุนแรง ในส่วนของผู้กระทำผิดกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนการดูแลควบคุมสมาชิกชุมชนเป็นหน้าที่ที่ชุมชนต้องร่วมกันดูแล

 

แม้จะฟังดูเป็นนามธรรม แต่ความเป็นจริงมีชุมชนใน 3 จังหวัดภาคใต้อยู่ไม่น้อยที่อยู่อย่างสงบสุข หลายชุมชนถูกยกขึ้นมานำเสนอเป็นตัวอย่าง หรือเป็นชุมชนนำร่อง ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการยุทธ

ศาสตร์สันติวิธี และหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งส่วนกลางและในพื้นที่

 

อาจกล่าวได้ว่า รูปธรรมของพื้นที่สันติสุขนี้เอง ถูกแปรมาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายและวิธีการในบางข้อ เสนอของกอส. เพื่อลดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ทั้งยังเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ รองมาจากข้อเสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุข ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ "การเมืองภาคประชาชน" ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐสนับสนุนให้ประชาชน ข้าราชการพลเรือนบางกลุ่ม ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองจากเหตุร้ายนั้น มีแนวโน้ม "สูง" ที่จะมีการพัฒนา "กองกำลังประชาชนติดอาวุธ"

 

แม้เข้าใจได้ว่า ในสภาพที่ผู้ก่อการใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้บริสุทธิ์รายแล้วรายเล่า และดูเหมือนว่ารัฐไม่มีศักยภาพที่จะจัดการปัญหา  ท้ายที่สุดคนที่ถูกตกเป็นเป้า อาทิ กลุ่มครู จำเป็นต้องคิดหาทางป้องกันตัวเอง โดยการติดอาวุธ

 

แต่ประเด็นที่นักวิชาการวิตกกังวลก็คือ สถานการณ์ความรุนแรงที่มีกระแสยั่วยุให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จะทำให้สังคมเลื่อนไหลไปถึงขั้น "ภาวะไร้รัฐ" กลาย เป็นสงครามที่ประชาชนใช้ความรุนแรงเข้าจัดการปัญหาเสียเอง ทั้งเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม หรือเพื่อป้องกันตัว ดังเช่น กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างกลุ่มโปรแตสแตนท์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์(ไออาร์เอ)  ซึ่งความรุน แรงพัฒนาไปจนกลายเป็นการสู้รบระหว่างประชาชนยาวนานกว่า 30 ปี  

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำไออาร์เอแถลงว่า จะยุติการทำสงครามโดยยอมวางอาวุธและแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี แต่เนื่องจากสภาพสังคมที่ร้าวลึกจนยากจะสมานเข้าด้วยกันได้โดยง่าย ทำให้คู่ขัดแย้ง(โปรแตสแตนท์) ยังไม่วางใจในท่าทีของไออาร์เอ

 

รัฐไทย น่าจะนำกรณีไอร์แลนด์เหนือหรืออีกหลายๆ กรณีที่เป็นปัญหาความขัดแย้งภายใน  สรุปสร้างเป็น "กรณีศึกษา" และนำมา "ต่อยอด" ความคิดเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่เหมาะสมต่อไป

 

และหากต้องการสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นที่ภาคประ ชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องอันตรายของประชาชน แทนการซ้ำเติมหรือยั่วยุให้สถานการณ์ในพื้นที่ย่ำแย่ลงไปอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท