Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อำนาจ  อักษรวนิช


 


รถเมล์ขวัญเวียง 5 คัน วิ่งท่อมๆ อย่างโดดเดี่ยวไปในเมืองเชียงใหม่มาเป็นเวลาปีเศษแล้ว  นับจากวันที่ถูกผลักดันให้นำร่องระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่เมื่อ กรกฎาคม 2546 


 


ก่อนหน้านี้…เพียง 5 วันของการเริ่มต้น รถเมล์ขวัญเวียงได้กลายเป็นชนวนที่ทำให้บรรดาสี่ล้อแดงออกมายึดข่วงท่าแพประท้วงว่าได้รับผลกระทบต่ออาชีพ พร้อมยื่นคำขาด ห้ามมีรถเมล์เพิ่มขึ้นจากนี้อีกเด็ดขาด


 


แม้วันนี้รัฐบาลมอบรถเมล์ 26 คันให้กับเมืองเชียงใหม่  แต่ก็ยังอยู่กับวังวนปัญหาเดิมที่ไม่อาจเดินรถด้วยระบบที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


 


บางทีความเป็นจริงที่รถเมล์ขวัญเวียงได้รับมาปีเศษ  น่าจะสะท้อนเป็นบทเรียนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบว่าส่งผลกระทบให้เกิดความเจ็บปวดเช่นใด


 


และผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้ ต้องเป็นเขา  อำนาจ  อักษรวนิช  เจ้าของรถเมล์ขวัญเวียง


 


พลเมืองเหนือ : ตอนเริ่มต้นวิ่งบอกว่า 6 เดือนจะประเมินผล  ผ่านมา 2 ปีเศษแล้วผลประกอบการรถเมล์ขวัญเวียงเป็นอย่างไรบ้าง


อำนาจ: มีคนขึ้นช่วงเช้าและเย็นเต็มทุกคัน  สายหน่อยลดลงมากเหลือเพียง 20-30 % ของที่นั่ง  บางเที่ยว 1 คนก็มี  ยังดีคนขึ้นรายทางในตัวเมืองมีมากกว่าเดิมมาก  แต่ผมขาดทุนต่อเนื่องเดือนละ 2 แสนกว่าบาทครับ  นี่คือสถานการณ์ก่อนน้ำมันขึ้นนะ  และไม่ได้คิดรวมต้นทุนค่ารถ  แต่เป็นค่าจ้างพนักงาน  ค่าน้ำมัน และค่าสึกหรอรถ  เพราะรถเราวิ่งตี 5 - 4 ทุ่ม ทุกวัน มีพนักงาน 2 ชุดคือ ตี 5 ถึงบ่าย 2 และบ่าย 2 ถึง 4 ทุ่ม เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะเราเน้นการบริการและความปลอดภัย  ตอนนี้กำลังประเมินอยู่ว่าจะขาดทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่  นี่เป็นเพราะผมไม่ได้ยึดอาชีพเดินรถหรอกนะ  ไม่อย่างนั้นเลิกไปนานแล้วเพราะหมดไปปีละ 2 ล้านกว่าแล้ว


 


พลเมืองเหนือ: ค่อนข้างสูง รถเมล์เทศบาลฯ ประเมินตัวเองว่าอาจขาดทุนเดือนละ 20,000 บาท


อำนาจ: เขาอาจมีความสามารถบริหารให้ขาดทุนต่ำกว่าผมได้ อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า รัฐหนุน  และมีจำนวนรถมากกว่า แต่ของผมทุกอย่างอยู่ที่ตัวเอง ที่สำคัญจำนวนรถเมล์เทศบาลฯ ที่มากกว่าดีที่ผู้โดยสารจะไม่ต้องรอนาน  ของผมจะต้องรอ 30-40 นาทีถึงจะมาสักคัน เวลาที่รอเขาอาจทำธุระเสร็จไปแล้ว


 


พลเมืองเหนือ: แล้วทำไมขวัญเวียงไม่เพิ่มรถ


อำนาจ: ผมเหนื่อยที่จะคุย ที่จริงผมพร้อมที่จะให้บริการ 15 คันเต็มตามสัมปทานเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารรอรถนาน แต่จำได้ไหม พอเราเริ่มวิ่งรถได้ 5 วัน รถแดงก็ประท้วงใหญ่โต  บังคับไม่ให้เพิ่มรถ บอกว่ามีผลกระทบกับรายได้ ทั้งๆ ที่จริงถ้ารถเมล์ออกมาให้บริการมากขึ้นอย่างไรคนใช้บริการก็ต้องอาศัยรถแดงอยู่แล้วในการวิ่งสายรองเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  


 


พลเมืองเหนือ: แล้วที่รถเมล์ขวัญเวียงวิ่งในเส้นสัมปทาน มีการถูกทับสัมปทานบ้างหรือไม่


อำนาจ: โดนตลอด  ก็วิ่งทับอยู่อย่างนี้  ที่จริงตามกฎหมายจะทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ก็อย่างว่ากฎหมายทำอะไรไม่ได้  เพราะมีกฎหมู่อยู่  แล้วที่สัมปทานเส้นใหม่มาก็ต้องวิ่งทับอีกแน่


 


พลเมืองเหนือ: เส้นทางเดินรถที่เทศบาลฯจะดำเนินการมีความเหมาะสมเพียงไร ที่ต้องวิ่งอ้อมเมืองเพราะวิ่งข้างในกลัวจะทำให้รถติด


อำนาจ: ที่จริงผมก็ให้คำปรึกษาเรื่องเส้นทางกับเทศบาลฯ อยู่ด้วยนะ เดิมเคยจะใช้เส้นทางที่เป็นสัมปทานเดิมรถเมล์เหลือง แต่ถ้าจะให้เชื่อมกันจะต้องจัดใหม่เพื่อให้เอื้อประโยชน์ในการเดินทางของประชาชน  ส่วนเรื่องรถติด ผมว่าที่ทำให้รถติดเป็นรถอื่นมากกว่ามั้ง ? รถเมล์ต้องวิ่งในทาง จอดตามป้าย ไม่วิ่งขวางหรอกครับ แล้วเส้นทางที่ตกลงกันใหม่เหมาะกับขนาดของรถที่ไหน อย่างเส้นฟ้าฮ่ามถนนเล็กขนาดนั้นให้รถเมล์ไปวิ่งได้อย่างไร เส้นนั้นควรจะให้รถแดงวิ่งมากกว่า  ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่ไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด  ทำอย่างนี้ยิ่งทำให้รถเมล์ให้บริการประชาชนไม่ดี  ไปที่นอกเมืองใครเขาจะขึ้น  หรือขึ้นแล้วต้องลงมาต่อสองแถวอีก   ทำไมไม่ปล่อยให้รถเมล์วิ่งเต็มสายในเส้นทางที่ประชาชนต้องการ แต่นี่เส้นทางก็ไม่เอื้อ  แถมยังตัดตอนเข้าเมืองอีก อย่างนี้ขาดทุนแน่นอน  และประชาชนเดือดร้อนกว่าเก่า   ที่สำคัญทำลายภาพของรถเมล์ที่ประชาชนสนับสนุนให้เกิด  ถ้าไม่เอื้ออย่างนี้นะ ผมว่าอย่าวิ่งดีกว่า ประชานจะเสื่อมศรัทธาและไม่อยากจะสนับสนุนรถเมล์


 


พลเมืองเหนือ: แต่ดูเหมือนว่าข้อตกลงที่ออกมามีแต่ความรู้สึกพอใจ


อำนาจ : บรรยากาศของการเจรจาในห้องได้ข้อตกลงที่ทุกคนพึงพอใจ แต่ได้มองถึงการประกอบการ หรือความสะดวกของประชาชนหรือไม่   ถ้าออกมาแบบฆ่าตัวเองอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นผมจะไม่วิ่งเลย


 


พลเมืองเหนือ: คิดว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ผลการเจรจาออกมาเป็นอย่างนี้


อำนาจ: เทศบาลฯ ก็เป็นหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เมื่อมีรถเมล์มาอย่างนี้แล้ว  ถ้าไม่วิ่งเลยก็จะต้องถูกมองว่าผลาญงบประมาณ ทำอะไรทำไมไม่ศึกษาให้ดีก่อน  ซึ่งก็น่าเห็นใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้  ที่จริงผู้ใหญ่บ้านเรามีนโยบายให้เชียงใหม่เป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินในภูมิภาคแต่การดำเนินงานลักปิดลักเปิด เป็นไม้หลักปักขี้เลน ถ้าเด็ดขาดว่าอย่างไรรถเมล์ก็ต้องวิ่งตามเส้นทางที่เตรียมมา จะเกิดการประท้วงก็ต้องยืนยันว่าไม่มีสิทธิ์   หากยังคิดว่าได้รับผลกระทบและขาดทุนก็ต้องเอาเหตุผลเอาหลักฐานมาแสดง  ผมคิดว่าแม้รถเมล์จะเป็นสาธารณูปโภค รัฐหนุนมาก็จริง  แต่เมื่อทำแล้วประชาชนต้องได้รับความสะดวก  และอยู่บนพื้นฐานความอยู่รอดของการบริหารงานด้วย  ทุกวันนี้ผมอยู่รอดไม่ได้เลยนะ


 


พลเมืองเหนือ : แล้วทำไมขวัญเวียงไม่เลิกเสีย


อำนาจ: ผมมีสิทธิ์ถอยนะ  แต่ผมยืนอยู่บนการขอร้องจากหลายฝ่าย เพื่อให้เชียงใหม่มีรถเมล์ แต่ก็มีแบบเน่าๆ  รถเมล์เชียงใหม่เป็นแบบมีไว้ให้ดู  ใจจริงผมไม่อยากทำเลยนะ  ใครบ้างทำธุรกิจแล้วปล่อยให้เน่าอยู่อย่างนี้คนเดียว แต่ผมให้เวลา 5 ปีนะ ตอนนี้ร่วม 2 ปีแล้ว   ถ้าสภาพยังเป็นอย่างนี้  ไม่มีประโยชน์ที่จะทำต่อไป  แรกๆ ผู้ใหญ่เข้าใจบอกว่าจะพยายามหางบมาช่วยเหลือ แต่รถแดงก็ตีผมใหญ่ว่าทีเอกชนคนรวยจะช่วย 


 


พลเมืองเหนือ : แต่นี่เทศบาลฯ หนุนค่าน้ำมันสี่ล้อแดงนำร่องวันละ 10,000 บาท


อำนาจ: ด้วยเหรอ ? อันนี้ผมไม่รู้เลย 


 


พลเมืองเหนือ:ทางออกของเรื่องนี้


อำนาจ: อย่างไรก็จะต้องนำรถเมล์ออกมาวิ่ง  และควรให้วิ่งเต็มสายจะดีกว่า  ตอนผมกลับมาวิ่งรถเมล์ขวัญเวียงเพราะมองว่าอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนเชียงใหม่ให้มาใช้ขนส่งสาธารณะ  ยิ่งสถานการณ์น้ำมันแพงอย่างนี้ผมว่าคนพร้อมที่จะทิ้งรถส่วนตัวอยู่บ้านแล้วนะ  และหากมีการบริหารแบบจูงใจให้ทิ้งรถ เช่นถ้าวิ่งกัน 5 สายซื้อตั๋ว 30 บาท ขึ้นและต่อรถได้ครอบคลุม  ไม่ใช่สายละ 12 บาท ต่อรถ 4 รอบต้องเสีย 40 กว่าบาท  ผมคิดไว้นะ  แต่ไม่ได้ทำ  บ้านเมืองเป็นอย่างนี้….ผมเหนื่อย !


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net