Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่- 30 มิ.ย.48 "สิ่งที่ตนเป็นห่วง ก็คือยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ม.ค. 48 นั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัว ซึ่งกลัวว่าจะเป็นเหมือนคลื่นยักษ์ที่จะกวาดต้อนเอาทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว" นายประยงค์ ดอกลำใย ตัวแทนคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และองค์กรประชาชนภาคเหนือ กรณีปัญหาชนเผ่าและชาติพันธุ์ กล่าว

เมื่อวันที่30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมริดเจ็ส อโมร่า ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ในนามเครือข่ายสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ (สกน.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตรภาคประชาชน ได้จัดการประชุมและสัมมนาสาธารณะว่าด้วย "สิทธิและสถานะบุคคลของชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย" ขึ้น

โดยมีผู้เข้าร่วมจากตัวแทนชนเผ่า 10 เผ่า องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสัญชาติ สถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งมีตัวแทนหลายองค์กรออกมาโต้ยุทธ ศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ม.ค. 48 ซึ่งมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสัญชาติ

นายประยงค์ ดอกลำใย ตัวแทนคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาค เหนือ และองค์กรประชาชนภาคเหนือ กรณีปัญหาชนเผ่าและชาติพันธุ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วง ก็คือยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ม.ค..48 นั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัว ซึ่งกลัวว่าจะเป็นเหมือนคลื่นยักษ์ที่จะกวาดต้อนเอาทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

"อีกทั้งถือว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังเป็นการละเมิดมติครม. 9 เม.ย. 2545 ที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กรณีปัญหาชนเผ่าและชาติพันธุ์ รวมทั้งเป็นมติที่ไปทำลายกลไกเดิม แม้กระทั่งคำร้องต่างๆ ของชาวบ้าน ที่ยื่นไว้ที่อำเภอ จะถูกโล๊ะทิ้ง ก็อาจจะเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

"ตอนนี้ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเริ่มไม่มีความมั่นใจกันตั้งแต่ยกแรกแล้ว เพราะยุทธศาสตร์ที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นผู้เสนอนั้น ได้ปกปิดเป็นความลับมาโดยตลอด และเพิ่งมาเปิดเผยออกมา เมื่อชาวบ้านได้ออกมาคัดค้าน สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่แอบทำกันในที่มืดที่ลับ ไม่มีความจริงใจ โดยที่ตัวแทนชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด" นายประยงค์ กล่าว

ด้านนายวินิจ ล้ำเหลือ จากสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มองดูเหมือนจะดี แต่แท้จริงเป็นเพียงการรวมหน่วยงานต่างๆ มารวมกัน ซึ่งอาจมีช่องทางที่หลายฝ่ายจะคอรัปชั่นนั้นมีสูง และเป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางรัฐมองเพียงด้านเดียว ทาง สมช.มองเพียงด้านภัยความมั่นคงของชาติ ส่วนกระทรวงมหาดไทย ก็มองเพียงเรื่องว่า จะควบคุมและปกครองชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้มองถึงตัวปัญหาที่แท้จริง ว่า จริงๆ แล้วสัญชาติเป็นเรื่องของชุมชน ไม่ใช่เรื่องของรัฐ

"อย่างกรณี ที่ระบุว่า รัฐจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจข้อมูล คิดเพียงเพื่อจะจัดทำฐานข้อมูลกลาง แต่ทำไมไม่ให้ชุมชนเป็นผู้จัดทำฐานข้อมูลชุมชนกันเอง โดยมีคณะทำงานที่มาจากหลายองค์กรที่เป็นกลาง ร่วมกันตรวจสอบการทำงานในแต่ละพื้นที่ ถ้าหากทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องกลัวในเรื่องการคอรัปชั่น" นายวินิจ กล่าว

ในขณะที่ นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสัญชาติ เป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว เป็นปัญหาที่ถูกกวาดเอาไว้ใต้โต๊ะ ไม่เคยได้รับการแก้ไขจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสังคายนากันใหม่ เพราะปัญหาทั้งหมดนั้นอยู่ที่คน อยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

"ปัญหาที่ผ่านมา สมช. คือตัวปัญหา เพราะไม่ได้มองความเป็นคน มองแต่เรื่องความมั่นคงของประเทศ อ้างแต่เรื่องกฎหมาย มีการกีดกัน มีอคติ อย่างกรณีที่ นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตนายอำเภออมก๋อย ที่เคยอนุมัติพี่น้องชาวไทยภูเขาให้มีสัญชาติไทยเป็นพันๆ คน ไม่เห็นมีปัญหา ไม่เห็นถูกจับ แต่นายอำเภอแม่อายกลับไปถอดสัญชาติ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับต่อมสันดานความเป็นคน ว่ามีทัศนคติและเข้าใจในความเป็นมนุษย์อย่างไร" นายชัยพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายชัยพันธ์ ยังได้เสนอให้มีการลดอำนาจรัฐ มีการแก้กฎหมาย โดยลดอำนาจรัฐจากระดับบน ทำการเกลี่ยอำนาจลงมา ให้เป็นอำนาจในระดับท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการทุกภาคส่วนในระดับชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเพียงผู้เซ็นรับทราบก็พอ

อย่างไรก็ตาม พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า ในทางทฤษฎีนั้น ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นทำได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นเรื่องหนัก และยอมรับว่า สิ่งที่หลายคนพูดออกมา เป็นเรื่องจริงในบางเรื่องที่ทำได้ยากสลับซับซ้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net