Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน 2548 ที่ห้องอาหารพุทธชาติ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีการสัมมนาครึ่งปีสึนามิกับเส้นทางการฟื้นฟู จัดโดยเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน เป็นวันที่ 2 มีผู้เข้าร่วมสัมมนา จากจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล กว่า 100 คน

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติภัย กล่าวกับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า ขณะนี้ปัญหาที่ดินที่ได้รับการแก้ไขในเบื้องต้นไปแล้ว แต่ชาวบ้านยังรู้สึกขาดหลักประกันในระยะยาว อยู่ 8 พื้นที่ คือ บ้านทุ่งหว้า จังหวัดพังงา หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต บ้านศรีบอยา บ้านหัวยา บ้านสังกะอู้ จังหวัดกระบี่ เกาะมุก บ้านควนตุ้งกู บ้านตาเสะ จังหวัดตรัง รวมทั้งสิ้น 918 ครัวเรือน ประชากร 4,105 คน

พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกันเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแยกออกจากที่ดินของรัฐ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งจะมีการเร่งรัดในที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติภัยคราวต่อไป ตนยืนยันว่า ปัญหากรณีพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านกับรัฐ จะได้รับการแก้ไขทั้งหมด ส่วนกรณีพิพาทชาวบ้านกับเอกชนนั้น รัฐบาลจะหาทางคลี่คลายให้ได้โดยเร็วที่สุด

ต่อมา เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช จากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนฝั่งอันดามัน กล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามใช้โอกาสจากภัยพิบัติที่ประชาชนได้รับจากคลื่นยักษ์สึนามิ ให้เป็นประโยชน์ตัวเอง รัฐถือโอกาสจัดระเบียบชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ ตามบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง เช่นเดียวกับกลุ่มทุนที่ฉวยโอกาสไล่ชาวบ้านออกจากที่ดิน เพื่อนำไปเป็นของตนเอง ขณะที่ชาวบ้านก็อาศัยโอกาสนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

นายแพทย์บัญชา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีคนต้องการช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยจำนวนมาก คนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ว่า ให้เงินกับรัฐไปแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จึงต้องดึงเงินบริจาคจากคนกลุ่มนี้เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน จากการประมวลข้อมูลและระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จะต้องแล้วเสร็จภายใน 2551 เป็นการฟื้นฟูผ่านการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม และการวางแผนชุมชน มีคนทำงานเกาะติดในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยชุมชนเองต้องรวมตัวกันให้ได้

นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ กล่าวว่า การฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัย จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชน เกาะเกี่ยวไปกับศาสนา โดย เฉพาะชุมชนชายฝั่งที่ส่วนใหญ่แนบแน่นอยู่กับศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ตนไม่ต้องการให้การฟื้นฟู หรือการพัฒนานำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ในภายหลัง เช่น ปัญหาอบายมุข เป็นต้น

ต่อมา ที่สัมมนาได้มีการพูดถึงแนวทางการฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่มอบหมายให้องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เข้ามาฟื้นฟูการท่อง เที่ยวเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และเขาหลัก จังหวัดพังงาว่า มีแนวโน้มจะเป็นการฟื้นฟูเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับสูง ผ่านการดึงกลุ่มทุนขนาดยักษ์เข้ามาลงทุนในพื้นที่ เมื่อดูจากแผนของหน่วย งานดังกล่าว ที่จะเข้ามาพัฒนาเกาะลันตาและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดกระบี่ ในปี 2548 หมู่เกาะตะรุเตาและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดสตูล ในปี 2549 หาดเจ้าไหม - หมู่เกาะทะเลตรังและพื้นที่เชื่อมโยง ในปี 2550 แล้ว มีแนวโน้มว่า ปัญหาที่ชุมชนชายฝั่งอันดามันตลอดแนวจะประสบในระยะต่อไป ก็คือ ปัญหาการแย่งชิงที่ดินทำเลทอง ระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มขนาดยักษ์

ช่วงบ่าย วันเดียวกัน มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อพูดคุยในประเด็นต่างๆ ผลการประชุมสรุปได้ดัง ต่อไปนี้ ปัญหากรณีพิพาทที่ดิน จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในทุกพื้นที่ เสนอให้คณะอนุกรรม การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติภัย ที่มีพล.อ.สุรินทร์ เป็นประธานเข้ามาแก้ไข ขณะเดียวกันให้แต่ละชุมชนที่มีกรณีพิพาทตรึงพื้นที่ไว้ให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการตกลงร่วมกันที่จะทำเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเยาวชนกับกลุ่มสตรี

จากนั้น มีการตั้งทีมประสานงาน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน จากตัวแทนชุมชนพื้นที่ละ 2 คน โดยกำหนดนัดประชุมเพื่อกำหนดภารกิจอีกครั้ง ภายใน 15 วัน สำหรับภารกิจแรกที่ทีมประสานงานจะต้องดำเนินการ คือ การประสานข้อมูลและความเห็นจากชุมชนต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาจัดทำเป็นนโยบายภาคประชาชน นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดพังงา ในต้นเดือนกันยายน 2548 นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net