Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 73 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ปัจจุบัน สังคมไทยยืนอยู่บนหลักนิติรัฐ อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทุกวันนี้ ประชาชนมีความตื่นตัวสูง เรียกร้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ต้องการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม

แต่น่าสลดใจ ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับเกิดการใช้อำนาจมืด อำนาจเถื่อน คุกคาม ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างโหดร้าย รุนแรง กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วิธีอำมหิต "ศาลเตี้ย" เข่นฆ่าประชาชนที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง ตลอดจนคุ้มครองสิทธิชุมชน และผลประโยชน์ของส่วนรวม

หากบ้านเมืองอยู่ในภาวะเผด็จการทมิฬ อำนาจรัฐอยู่ใต้อาณัติของทรราช ประชาชนจะถูกเข่นฆ่าเมื่อกระด้างกระเดื่องต่อสมุนของทรราช ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องเกินคาด แต่ในยุคประชาธิปไตย อำนาจรัฐอยู่ในมือของรัฐบาลที่มาจากประชาชนแท้ๆ เหตุใดจึงปล่อยปละละเลย ทำให้ประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนและผลประโยชน์ของส่วนรวม ต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกเข่นฆ่า ไร้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพ สูญเสียสวัสดิภาพและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ราวกับอยู่ในยุคมืด

คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงน่าตระหนัก พบว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา มีประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้ต่อสู้กับปัญหาความขัดแย้ง เพื่อรักษาสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องถูกฆ่าตายด้วยมือสังหารนอกระบบกฎหมาย อย่างน้อย 19 ราย

ผมขอบันทึกไว้ด้วยความเคารพในผู้เสียชีวิต ดังนี้

ปี 2544

1) คุณจุรินทร์ ราชพล คนทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลบ้านป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ถูกยิงเสียชีวิต เพราะสาเหตุจากการลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านการทำลายพื้นที่ป่าชายเลน และภายหลังการเสียชีวิต ผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นที่พยายามนำเสนอข่าว ก็ถูกข่มขู่คุกคามให้ยุติการขุดคุ้ยเรื่องนี้

2) คุณนรินทร์ โพธิ์แดง ชาวบ้านเขาชะอางกลางทุ่ง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง แกนนำต่อต้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติผู้กว้างขวางในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2544 จนปัจจุบันก็ยังจับกุมคนผิดมาลงโทษไม่ได้ และยังมีการข่มขู่กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านอย่างต่อเนื่อง

3) คุณพิทักษ์ โตนวุธ แกนชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติ ที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2544

4) คุณฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ อบต.นากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ต่อสู้กับการทุจริต ลุกขึ้นตรวจสอบการทุจริตใน อบต. ขัดขวางการทุจริตประมูลงานก่อสร้างของผู้รับเหมา เปิดโปงการฮั๊ว ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2544

5) คุณแก้ว ปินปันมา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ แกนนำชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ขัดแย้งกับนายทุน ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2544

6) คุณสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการกำจัดขยะราชาเทวะ ซึ่งเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2544

7) คุณสมพร ชนะพล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกระแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนคลองกระแดะ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2544

ปี 2545

8) คุณบุญสม นิ่มน้อย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงแยกคอนเดนเสทในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2545 ไม่มีใครกล้าเป็นพยานในคดีเพราะถูกข่มขู่คุกคาม

9) คุณปรีชา ทองแป้น สารวัตรกำนันตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำเรียกร้องสิทธิชุมชนจากโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกสังหารเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2545

10) คุณบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ แกนนำชาวบ้านเรียกร้องสิทธิชุมชนและต่อต้านการค้าไม้เถื่อนตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2545

11) คุณบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ แกนนำชาวบ้านร่องห้า ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ลุกขึ้นต่อสู้กับโรงโม่หินดอยแม่ออกรูของนักการเมืองระดับชาติ บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ถูกยิงเสียชีวิตคาบ้านพัก เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2545

ปี 2546

12) คุณคำปัน สุกใส แกนนำชาวบ้านป่าชุมชนเชียงดาว ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลุกขึ้นต่อสู้ขัดขวางการบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2546

13) คุณชวน ชำนาญกิจ แกนนำชุมชนต้านยาเสพติด อำเภอฉวาง จังหวัดนครราชสีมา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2546

14) คุณสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แกนนำชาวบ้านต่อสู้กับการโรงงานที่ทำให้แม่น้ำพองเน่าเสีย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2546

ปี 2547

15) คุณสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ถูกอุ้มหายตัวไปกลางกรุงเทพฯ โดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

16) คุณเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน คัดค้านโครงการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2547

17) คุณสุพล ศิริจันทร์ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จังหวัดลำปาง ต่อสู้ขัดขวางขบวนการค้าไม้เถื่อน ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2547

18) คุณพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น แกนนำชาวบ้านหัวกระบือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทราย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547

ล่าสุด 19) พระสุพจน์ สุวโจ พระนักปฏิบัติธรรม ณ สวนเมตตาธรรม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พยายามต่อสู้กับนายทุนที่ต้องการฮุบที่ดินสถานปฏิบัติธรรม ถูกรุมทำร้ายด้วยอาวุธมีคมจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548

ปรากฏการณ์อันน่าสลดใจ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ สะท้อนอะไรหลายประการ

1. ปัจจุบัน มีปัญหาความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทุกหัวระแหง โดยเฉพาะในปัญหาบุกรุกแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อม การทุจริตคอรัปชั่น รวมไปถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล

2. การใช้ความรุนแรงนอกระบบ เข่นฆ่า ยิงทิ้ง โดยไม่แยแสต่อการใช้บังคับกฎหมาย สะท้อนความอ่อนแอ บกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร ที่ไม่สามารถปกป้อง คุ้มครอง สิทธิพื้นฐานของประชาชน คือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ทำให้คนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสังคม เพื่อชุมชน เพื่อหลักอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ กลับต้องปราศจากหลักประกันในสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต

3. การใช้ความรุนแรงนอกระบบที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เป็นผลพวงที่กระทบสืบเนื่องบางส่วนมาจากการใช้ความรุนแรงในสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ที่เกิดการฆ่าตัดตอนอย่างเป็นระบบ มีขบวนการฆ่าอย่างอำมหิต การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วยการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแม้แต่สัตว์ยังได้รับการดูแลที่ดีกว่า กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ไม่สามารถจับคนร้ายมาลงโทษได้ ทำให้สังคมเฉยชากับความรุนแรง เสพติดความรุนแรง จนเป็นเชื้อให้แก่การใช้ความรุนแรงในสังคมตามมา

4. ในหลายกรณี เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายได้เลย หลายกรณี เอาผิดได้เพียงแค่มือปืนที่ถูกจ้างวาน แต่ไม่สามารถเอาตัวคู่ขัดแย้ง คู่กรณี ผู้จ้างวานได้อย่างแท้จริง

ซ้ำร้าย ในหลายกรณี ผู้กระทำผิดยังมีอิทธิผล มีนักการเมืองระดับชาติหนุนหลัง ทำให้ยังสามารถข่มขู่ คุกคามประชาชนในพื้นที่ มิให้ต่อสู้ขัดขวางการกอบโกยผลประโยชน์อันมิชอบของตนอีก หรือมิให้ไปเป็นพยานในคดีที่ค้างคาอยู่ โดยที่อำนาจรัฐนิ่งเฉย ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชน

ประชาชนจำนวนมาก จึงหวาดระแวง คลางแคลงสงสัยว่า ตนกำลังต่อสู้อยู่กับใครกันแน่ คนที่กุมอำนาจรัฐอยู่รู้เห็นเป็นใจกับผู้ร้ายหรือไม่ ในระดับใด

สุดท้าย
ความดีแม้จะทำยากเพียงไร คนเราก็ยังต้องพยายามทำความดี เพราะความชั่วนั้น แม้จะทำง่ายเพียงไร แต่ไม่ว่าจะทำมากหรือน้อยแค่ไหน มันก็ไม่อาจเป็นความดีขึ้นมาได้

ในขณะที่คนดีถูกฆ่าตายลงทุกวัน คนชั่วก็จะเหิมเกริมขึ้นทุกวัน

รัฐบาลควรต้องตระหนัก และลงมือปฏิบัติเดี๋ยวนี้ เพื่อหามาตรการ วิธีการ เพื่อส่งเสริม คุ้มครอง และสนับสนุนประชาชนที่ลุกขึ้นใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิชุมชน และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งหาทางช่วยเหลือประชาชนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแบบอย่าง เป็นกำลังใจให้คนในสังคมลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทำความดี

สังคมจะเลว เมื่อคนดีท้อแท้ รัฐบาลที่ดีจึงต้องอยู่เคียงข้างคนดีผู้กล้า การปล่อยให้ประชาชนผู้กล้าต่อสู้ไปเพียงลำพัง ก็เท่ากับการส่งเสริมคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว

รัฐบาลทักษิณ จะเลือกสืบทอดเจตนารมณ์ของคนดีที่อุทิศชีวิตไปแล้ว

หรือจะอยู่กับผลประโยชน์ของคนชั่วที่ยังมีชีวิตอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net