Skip to main content
sharethis

การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนที่ลาวในคราวนี้ อาเซียนคงจะต้องคิดกันจริงๆจังเสียทีหรือตัดสินใจให้ได้เสียทีว่าจะจัดการอย่างไรดีกับเรื่องของพม่า เนื่องจากมี 2 ตัวเร่งตัวใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่อาเซียนไม่เคยสามารถจัดการเรื่องใดๆที่เกี่ยวข้องกับพม่าได้เลย

ตัวเร่งทั้ง 2 ตัวที่กล่าวถึงประการแรกคือการที่สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรพม่าต่อไปอีก หลังจากที่คิดว่าพม่าน่าจะปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีในช่วงวันเกิดครบรอบ 60 ปีของเธอเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดยที่เดิมนั้นกำหนดว่าการคว่ำบาตรจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กรกฎาคมปีนี้ ส่วนประการที่ 2 คือการที่มีข่าวลือออกมาว่า คอนโดลิซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯจะไม่เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในระหว่างวันที่ 25-29 กรกฎาคมนี้ที่กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เนื่องจากไม่พอใจที่อาเซียนไม่พยายามกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดสร้างสรรค์หรือพัฒนาด้านประชาธิปไตยในพม่าเลย

แม้อาเซียนจะสามารถเฉยชาได้กับการประกาศคว่ำบาตรพม่าต่อไปอีก และจะจัดการประชุมดังเดิม ทว่า สัญญาณจาก คอนโดลิซ่า ไรซ์ นับว่ามีนัยสำคัญยิ่ง ที่อาเซียนจะละเลยไม่ได้ เพราะนี่อาจจะหมายถึงโอกาสของการคว่ำบาตรอาเซียนโดยรวมก็เป็นได้ และหากสหรัฐคว่ำบาตรอาเซียนนั้นแน่นอน คงไม่ใช่เพียงสหรัฐฯเท่านั้นแต่ประชาคมโลกทางฝั่งตะวันตกก็คงจะเล่นอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯอย่างแน่นอน

อย่าลืมว่าเวลาที่สหรัฐฯประเทศมหาอำนาจของโลกขยับตัวนั้นก็ส่งอิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆด้วย จะด้วยความเต็มใจหรือถูกบังคับก็ตาม หากยังจำกันได้ตอนที่จะบุกอิรักแม้สหประชาชาติไม่เห็นด้วย แต่สหรัฐฯก็สามารถสร้างพรรคพวกได้โดยบอกว่า ถ้าไม่ร่วมกับเรา ก็เป็นศัตรูกับเรา แน่นอนว่า คงไม่มีใครต้องการจะเป็นศัตรูกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯที่กุมทั้งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก

เราอาจจะมองกันไปได้ว่าก็คงมีอีกหลายประเทศหรอกที่คงจะไม่จำเป็นจะต้องทำตามสหรัฐฯ อย่างเช่นจีน หรือ อินเดีย ซึ่ง scale ก็ใหญ่มากพออยู่แล้ว แน่นอนถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศเป็นประเทศใหญ่ก็จริงในเชิงปริการของประชากร แต่ ในเชิงเศรษฐกิจสหรัฐฯก็เป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับอาเซียน รวมทั้งการสมาคมเฉพาะกับจีนหรืออินเดียนั้นอาจจะทำให้เสียสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง อาเซียนคงจะเลี่ยงไม่พ้นต้องกลายเป็นเบี้ยล่างของจีนแน่นอน เพราะเดิมนั้นจีนต้องการใช้อาเซียนในการคานอำนาจกับสหรัฐฯและสหรัฐฯเองก็เล็งเห็นทางนี้เช่นเดียวกัน อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่สหรัฐฯและจีนต้องให้ความสำคัญ หากมาอิงอยู่ด้านในด้านหนึ่งแล้วก็คงหนีไม่พ้นการถูกครอบงำอย่างเต็มตัว

หากอาเซียนถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯนั้นย่อมหมายถึงการสูญเสียประชาคมโลกไปอีกค่อนโลก ด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาประชาธิปไตยในพม่าเพียงประการเดียว

ดังนั้น ในการประชุมที่จะมาถึงนี้ อาเซียนควรจะมีความชัดเจนเสียกับเรื่องพม่าว่าจัดการอย่างไร ในเบื้องแรกในเรื่องใกล้ตัวที่จะถึงก่อนว่า ในที่สุดแล้วจะให้พม่าเป็นประธานการประชุมอาเซียนในรอบต่อไปในปี 2006 หรือไม่ ทั้งๆที่มีคำขู่มาแล้วจากทั้งสหรัฐฯและประเทศในยุโรปว่าจะไม่ร่วมประชุมด้วยหากพม่าเป็นเจ้าภาพ โดยทางอาเซียนก็หวังว่าพม่าจะมาให้คำตอบในการประชุมคราวนี้ว่าจะจัดการกับตัวเองอย่างไร

เข้าใจว่าวิธีการจัดการแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นและพยายามรักษาหน้าพม่านั้นคงจะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะหากพม่ายังรับที่จะเป็นประธานอยู่จะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นอาเซียนถึงคราวที่จะต้องขยับตัวออกมาบ้าง เพราะหากอาเซียนตัดสินว่าจะให้เป็นเจ้าภาพต่อก็จะได้รู้ว่าจะเตรียมก้าวที่จะขยับต่อจากนี้อย่างไร

ประการต่อมาอาเซียนควรจะใช้สถานะของประชาคมเข้ามาแทรกแซงเรื่องพม่าอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว ก่อนที่ประชาคมโลกส่วนอื่นๆจะเลิกคบค้าสมาคมด้วย หากไม่ต้องการต้องคบหากันเองเพียง 10 ประเทศในอาเซียนก็ควรที่เข้าจัดการปัญหาภายในประเทศของพม่าเสีย ควรจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประเทศพม่า อาทิ ขบวนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในพม่าจะเป็นอย่างไร แผนปฏิบัติและเงื่อนเวลาในการปฏิบัติจะอยู่ที่จุดไหน การอ้างว่ากำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ของพม่าดูน่าจะฟังไม่ขึ้นเพราะใช้เวลาร่างมาเป็น 10 ปีแล้ว ในอดีตเคยมีการพูดถึงเรื่องการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ แล้วยุคปัจจุบันก็มีการนำเสนอแผนการก้าวย่าง ( road map) ในการพัฒนาด้านประชาธิปไตยในพม่า แต่ก็ยังไม่มีแผนใดสำเร็จ น่าจะถึงเวลาวางกรอบปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่สำหรับอาเซียนเองกับปัญหาพม่า และ พม่าในฐานะของสมาชิกประเทศว่าจะช่วยแก้ปัญหาอาเซียนได้อย่างไร

นอกจากนั้นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยอย่างอองซาน ซูจี ควรจะมีความชัดเจนที่จะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เช่นจะเอาไปตัดสินพิพากษา เข้าสู้กระบวนการยุติก็จัดการไป แต่ไม่ใช่กักขังไปเรื่อยๆโดยไร้เหตุผลดังที่กระทำอยู่

อาเซียนอาจอึดอัดใจในการเข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในประเทศของพม่า แต่อันที่จริงก็เคยมีบทเรียนเรื่องของกัมพูชาซึ่งในที่สุดก็มีผลสำเร็จออกมาได้

ในตอนที่อาเซียนรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกนั้น ทางอาเซียนก็หวังว่าน่าจะเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่าได้ ทว่าจนถึงบัดนี้นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ( พม่าเข้าเป็นสามาชิกในปี 1997) แต่ปัญหาในประเทศพม่าก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ซึ่งส่งผลให้อาเซียนเองก็ต้องถูกกดดันจากประชาคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาผู้ทรงอิทธิพลของโลก

ดังนั้นหากอาเซียนไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องพม่าได้เราอาจต้องเห็นถูกคว่ำบาตรรวมก็ได้ ดังนั้นเราต้องติดตามกันดูว่า หากข่าวลือว่า คอนโดลิซ่า ไรซ์ จะไม่เข้าร่วมประชุมที่เวียงจันทน์เป็นจริง รวมทั้งผลการประชุมที่เวียงจันทน์ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรี่องพม่าให้ดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี หรือพม่ายังคงได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอยู่โดยยังมีไม่ความเปลี่ยนแปลงใดๆในทางที่ดีเกิดขึ้นในพม่าเลย เราก็อาจจะต้องเตรียมตัวที่จะเห็นอาเซียนถูกคว่ำบาตรกันเอาไว้ได้แล้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net