Skip to main content
sharethis

การประกาศนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ "กองทุนหมู่บ้าน" กลายเป็นหัวข้อการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันค่อนข้างมาก คือ การแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติว่ารัฐจะมีวิธีการอย่างไร? ที่จะทำให้ก้อนเงินที่หว่านลงไป มีโอกาสงอกเงยเป็นต้นทุนให้หน่วยเล็กๆ ของสังคมได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับตัวเองได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะการจัดตั้ง "กองทุน" ในระดับหมู่บ้านนี่ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิด เพียงแต่ที่ผ่านมา "ก้อนเงิน" เล็กกว่าครั้งนี้เท่านั้นเอง และที่สำคัญผลการดำเนินโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยบรรลุผลตามเป้าหมาย

กองทุนหมู่บ้าน…ที่เห็นและเป็นอยู่

พื้นที่ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ประกอบไปด้วย 13 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ มีการจัดตั้ง "กองทุน" ในระดับหมู่บ้านรูปแบบต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจ ข้อมูลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ เช่น กองทุนธนาคารควาย ของกรมปศุสัตว์ กองทุนเพิ่มผลผลิตการเกษตร (กรมส่งเสริมการเกษตร) กองทุนผู้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ กองทุนกลุ่มแม่บ้าน กองทุนโคขุนเยาวชน (พัฒนาชุมชน กองทุนหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง (อพป.) ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีกองทุนที่ตั้งโดย หมู่บ้าน ได้แก่ กองทุนกลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนธนาคารหมู่บ้าน และกองทุน โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ กองทุนปุ๋ย อบต. และกองทุนเลี้ยงโคขุน เป็นต้น

แต่ในจำนวน 13 หมู่บ้านนี้ มีเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่สามารถบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้านได้ดี สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนยกระดับคุณภาพชีพวิตของสมาชิกในชุมชนได้สำเร็จ
หนึ่งใน 2 หมู่บ้านนั้น ได้แก่ หมู่บ้านทาสองท่า หมู่บ้านนี้ เริ่มจากการได้รับสนับสนุนโครงการ ธนาคารควาย จากกรมปศุสัตว์ แต่โครงการนี้ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากให้ลูกยาก (ตามเงื่อนไขต้องคืนลูกตัวแรกให้กับธนาคาร) จึงไม่ค่อยครัวเรือนใดยืมไปเลี้ยง ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน เห็นว่า หากเปลี่ยนเป็นวัวน่าจะได้ผลดีกว่า เพราะวัวเลี้ยงง่ายและมีพืชอาหารที่พอเพียง เนื่องจากชาวบ้านปลูกข้าวโพดอ่อนเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว จึงขายควาย ตั้งเป็น "กองทุนกลุ่มอาชีพเลี้ยงโค" ปรากฎว่า ได้ผลดี เพราะวัวเลี้ยงง่าย ปีหนึ่งๆ สามารถเลี้ยงได้ 3-4 รุ่น กำไรรุ่นละ 3,000-4,000 บาท ต่อมาหมู่บ้านได้รับงบประมาณสนับสนุนอาชีพการเลี้ยงโค จากโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ ) ทางคณะกรรมการหมู่บ้าน เห็นว่ามีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงผนวกกองทุนทั้ง 2 ส่วน เพื่อให้การบริหารกองทุนเป็นเอกภาพ

สำหรับรายได้จากดอกเบี้ยเงินยืม นอกจากคิดค่าตอบแทนบางส่วนให้คณะกรรมการหมู่บ้านในการติดต่อประสานงาน ได้มีการนำเอากำไรส่วนที่เหลือ ไปดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น นำไปซื้อที่ดิน เพื่อตัดถนนใหม่ และซื้อลูกรัง สมทบสร้างประปาหมู่บ้าน สมทบสร้างสะพาน ซื้อท่อระบายน้ำ เป็นต้น และ "กองทุนกลุ่มอาชีพเลี้ยงโค" นี่เองช่วยให้ครัวเรือนที่ยืมเงินจากกองทุนไปเลี้ยงโค มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานกองทุนนี้เองที่ทำให้ครัวเรือนในหมู่บ้านทาสองท่ามีรายได้ผ่านเกณฑ์ครัวเรือนยากจนทั้งหมด ปัจจุบันกองทุนนี้มีเงินทุนประมาณ 525,000 บาท
ความสำเร็จจากการบริหารกองทุนกลุ่มอาชีพเลี้ยงโคแล้ว ทำให้หมู่บ้านทาสองท่า นำแนวทาง และประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในการบริหาร ธนาคารหมู่บ้าน และกองทุนอื่นๆ ทำให้การบริหารกองทุนแต่ละโครงการดำเนินไปด้วยดี โดยใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน (อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี) โดยเฉพาะโครงการ ธนาคารหมู่บ้าน ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนสูงถึง 1.2 ล้านบาท

เงื่อนไขปัจจัย…ความสำเร็จ และล้มเหลว

นายสนั่น ใจมา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านทาสองท่า กล่าวว่า "ความสำเร็จของการบริหารกองทุนของหมู่บ้าน เป็นเพราะพวกเราคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก โดยคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล พยายามพัฒนาปรับปรุงรูปแบบกฎเกณฑ์ให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย และเน้นเรื่องความโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลการบริหารงานให้สมาชิกในชุมชนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ และกำไรที่ได้จากการบริหารงานเราก็นำมาสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเขาเห็นความสำคัญ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สำเร็จในทันที แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็นำมาหารือร่วมกัน หาทางปรับปรุงแก้ไขกันเรื่อยมา"

กำธร ธิฉลาด หัวหน้าโครงการวิจัย "การพัฒนารูปแบบการบริหารกองทุนหมู่บ้านของ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน" โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า หากพิจารณาดูรูปแบบการบริหารงานของ 2 หมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ จะเห็นได้ว่า ผู้นำมีส่วนสำคัญมาก เนื่องจากเป็นคนที่เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วม และมีมุมมองต่อการพัฒนาที่ก้าวหน้า สำหรับหมู่บ้านที่บริหารจัดการกองทุนไม่ประสบความสำเร็จ จะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม คือผู้นำเผด็จการ หวงอำนาจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การติดตามตรวจสอบ ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการกองทุน จุดนี้ไม่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น หลายหมู่บ้านคณะกรรมการก็ไม่เข้าใจ จึงทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ

"เปิดเวที" ทบทวนประสบการณ์..จุดเริ่มต้นการปรับเปลี่ยน

หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนของแต่ละหมู่บ้านแล้ว คณะวิจัย ได้ทดลองหารูปแบบในการพัฒนาการบริหารจัดการกองทุนให้กับหมู่บ้าน โดยเริ่มจากการ "เปิดเวทีประชาคม" ในระดับหมู่บ้าน เพื่อทบทวนการดำเนินงานบริหารกองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้านว่ามีผลเป็นอย่างไร? หลังจากนั้นได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยน และนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในระดับตำบล เพื่อสรุปทิศทางการบริหารกองทุนในตำบล

"การได้ร่วมเวทีทบทวนถึงการบริหารกองทุนในหมู่บ้านของตัวเอง และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก คือโดยปกติเรารู้อยู่ว่า การบริหารงานของหมู่บ้านเรามีปัญหา แต่มันไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร? จากการไปร่วมแลกเปลี่ยนในเวที ก็ได้ความรู้ที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานกองทุนในหมู่บ้านของตัวเอง เช่น ขะเจ้าเป็นแม่หลวง (ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน) ถูกแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่มกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน เกือบทั้งหมด เพราะเขาเห็นเป็นภรรยาผู้ใหญ่บ้าน แล้วเราไม่เข้าใจบทบาทตัวเองก็รับงานทำเองหมด การบริหารงานก็ทำได้ไม่ดี เพราะทำคนเดียว ขะเจ้าก็กลับมาปรับปรุงกันใหม่ กระจายงาน เน้นให้มีการแจ้งข้อมูลให้ชาวบ้านรับทราบ ปรับปรุงเรื่องการใช้ประโยชน์จากกำไรเพื่อสร้างสวัสดิการให้สมาชิก และสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ขณะนี้ชาวบ้านก็ให้ความสนใจการบริหารกองทุนมากขึ้น" นางสมจิตร วงค์คม ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน บ้านทาป่าสัก เผยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวที

"เวทีการประชุมทำให้เราแลกเปลี่ยนกันได้อย่างไม่ขัดเขิน เพราะอยู่ดีๆ จะให้เราไปบอกว่า กลุ่มเราทำสำเร็จ เพราะอะไร ของคนอื่นไม่สำเร็จเพราะอะไรจะไม่กล้า และเขาก็ไม่ค่อยถาม แต่พอมีเวที มีผู้ที่มาช่วยดึงข้อมูลออกมาตรงกลาง ให้ช่วยกันมอง ให้ช่วยกันเสนอแนะ เราในฐานะกลุ่มที่มีประสบการณ์ ทำสำเร็จ เราก็บอกเขา ขณะเดียวกันการที่เราทราบว่าเขามีปัญหาตรงไหน? เราก็สามารถช่วยเขาได้" นายไพบูลย์ จำหงษ์ กำนัน ตำบลทาปลาดุก ผู้นำหมู่บ้านทาป่าเปา ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ย้ำถึงประโยชน์ของเวทีประชาคมแสดงความคิดเห็น

ทางด้าน นางเพ็ญศรี วุฒิวงค์ ปลัด อบต.ทาปลาดุก ซึ่งร่วมเป็นคณะวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า การได้มีส่วนร่วมในเวทีประชาคมเรื่องกองทุน ทำให้ อบต. ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงสภาพปัญหา การบริหารจัดการกองทุนของแต่ละหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับ การกำหนดแนวทางการให้การสนับสนุนโครงการในลักษณะกองทุน

โดย อบต.กำธร ธิฉลาด กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีการเปิดเวทีประชาคมแล้ว มีหลายหมู่บ้านได้ยุบเลิกกองทุนที่มีอยู่เดิม แต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก แล้วตั้งกองทุนขึ้นใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากกว่า เช่น การยุบเลิกกลุ่มออมทรัพย์เฉลิมพระเกียรติ ที่เน้นให้สมาชิกฝากเงินอย่างเดียว มาจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์นับเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ และการจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุนในลำดับต่อมา

ศึกษาดูงาน…ก่อเกิดเครือข่าย

การศึกษาดูงาน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่คณะวิจัยได้สรุปว่า มีส่วนสำคัญกระตุ้น และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการกองทุนจากแต่ละหมู่บ้าน ได้ไปศึกษาการบริหารงานเครือข่ายธนาคารหมู่บ้าน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ได้ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการบริหารงานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอย่างมาก เพราะคณะกรรมการกองทุนของแต่ละหมู่บ้าน ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า การรวมกันเป็นเครือข่ายน่าจะสามารถหนุนช่วยกันในการแก้ไขปัญหาของกองทุนได้มากกว่า ต่างคนต่างอยู่ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายขึ้นเรียกว่า "ศูนย์ประสานงานธนาคารน้ำใจ ตำบลทาปลาดุก" ขึ้นคัดเลือกคณะกรรมการจากหมู่บ้านละ 3 คน เป็นคณะกรรมการ ภายหลังได้คัดเลือกคณะกรรมการ จำนวน 7 คน เพื่อยกร่างโครงการศูนย์ประสานงาน ฯ เสนอโครงการนำร่องการดำเนินกิจกรรมของเครือข่าย โดยเสนอขอทุนจากกองทุนชุมชน (SIF) และหมู่บ้านที่มีเงินกองทุนจำนวนมาก เกินความต้องการหมู่บ้าน กำลังคิดที่จะให้หมู่บ้านที่ขาดแคลนเงินทุน หรือ กองทุนเดิมมีน้อย ยืมไปบริหาร เป็นต้น

หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวย้ำว่า "หลังจากที่มีการทบทวนข้อมูลสถานภาพของชุมชนแล้ว การศึกษาดูงาน เป็นกระบวนการกระตุ้น และสร้างการเรียนรู้ที่ค่อนข้างได้ผลมากทีเดียว แต่ที่สำคัญคือ การไปดูงาน แล้วกลับมาต้องมีการประชุมสรุปบทเรียน ต้องเอามาคุยกัน ว่าที่ได้ศึกษาดูงานเขามีจุดดี จุดด้อยอย่างไร? และจากการดูงานชุมชนจะนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง? ถ้าหากไปดูงานเฉยๆ ไปดูแล้วก็กลับบ้านใครบ้านมัน ไม่มีประโยชน์ เหมือนไปเที่ยว ซึ่งการศึกษาดูงานที่หน่วยงานภาครัฐทำมักจะเป็นอย่างนั้น"

สรุปบทเรียน

กำธร ธิฉลาด กล่าวสรุปผลการดำเนินงานวิจัยเชิงพัฒนาในครั้งนี้ว่า จากที่ทีมวิจัยได้เข้าร่วมในการดำเนินการจัดเวทีประชาคมในแต่ละชุมชน และในระดับตำบล ทั้งจากงบประมาณการวิจัย หรืองบการอบรมสมาชิก จาก อบต.ทาปลาดุก หรือการจัดเวทีประชาคม จัดทำแผนฉบับที่ 9 ของอำเภอ หรือการจัดเวทีเครือข่ายชุมชน โดยกองทุนชุมชน จึงมีประเด็นที่ผู้นำชุมชน และผู้นำกองทุนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารงานกองทุนอย่างกว้างขวาง

การอบรมสัมนาได้ดูวีดีโอ และการได้มีโอกาสดูงานชุมชนอื่น จึงได้มีการรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายกองทุนระดับตำบลที่เกิดจากความต้องการภายในเป็นสำคัญ จึงมีการพบปะเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องอย่างมีส่วนร่วม นำไปสู่การประชุมเสนอแผนเครือข่ายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตำบลร่วมกัน โดยขณะนี้มีการเสนอโครงการตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และปุ๋ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชน การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนชุมชน (SIF) โดยมีองค์กรท้องถิ่น (อบต.) และชุมชน (หมู่บ้าน) สมทบเงินโครงการ ทั้งนี้เพราะรายได้หลักของประชาชนตำบลทาปลาดุกมาจากการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน และการเลี้ยงโคขุน สิ่งเหล่านี้นับเป็นการก้าวกระโดดของผลที่ได้รับ

บทเรียนเล็กๆ จากงานวิจัยเชิงพัฒนา เกี่ยวกับการค้นหารูปแบบการพัฒนาการบริหารกองทุนในระดับหมู่บ้านตำบลทาปลาดุกครั้งนี้ แม้จะเป็นการทดลองปฏิบัติในระดับพื้นที่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า หากจะให้หมู่บ้านใช้ "กองทุน" เพื่อการพัฒนาตัวเองอย่างยั่งยืนนั้น ความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน มีความสำคัญอย่างมาก แต่สังคมไทยในชนบทส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนมากนัก ไม่ว่าในด้านใดๆ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่เข้าใจ และช่วยหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนที่นำไปสู่การคิดได้ด้วยตัวเอง และยืนได้ด้วยขาของตัวเองอย่างแท้จริง
รัตนา เจริญชัย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net