Skip to main content
sharethis

แม้ความไม่มีโรค จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่คงไม่มีใครที่มีลาภนี้ได้ตลอดไป นอกเหนือจากความตายแล้ว ความเจ็บป่วยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ แต่โอกาสในการรักษาโรคนั้นกลับกลายเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ซึ่งท้ายที่สุดต้องไปขึ้นต่อเงินในกระเป๋าของแต่ละคน มากกว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน ที่ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียม

สถานการณ์ยาแพงในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จิตประสาท ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี/เอดส์ ซึ่งยังไม่ได้รับการเอาใจใส่จากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังในประเด็นการเข้าถึงยาในระยะยาว

สาเหตุที่ยาหลายตัวมีราคาแพงมาก ประการหนึ่งคือ ยาเหล่านั้นติดสิทธิบัตร ทำให้บริษัทที่ผลิตยาภายในประเทศไม่สามารถทำการผลิตได้ โดยสิทธิบัตรเป็นเรื่องหนึ่งในระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights,IPR) ซึ่งมุ่งให้ความคุ้มครองนักประดิษฐ์เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในกติการะดับโลกนั้น ประชากรโลกผู้บริโภคยามีหลักยึดหลักยืนอยู่ที่การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การบัญญัติขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization/WTO) ในปี 2537 ที่เรียกว่า "ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า" (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, TRIPs ) เรียกสั้นๆว่า "ข้อตกลงทริปส์"

ข้อกตกลงทริปส์นี้พยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้คิดค้นกับผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ให้มีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่กับให้ผู้คิดค้นนั้นเปิดเผยข้อมูลการประดิษฐ์แลกเปลี่ยนกับสิทธิผูกขาดที่มี "ยา" เป็นผลประโยชน์สำคัญ

นี่เป็นเหตุผลให้หลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการเข้าถึงยาของประชาชน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการนำประเด็นเรื่อง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องยา เป็นวาระของการเจรจาในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ(FTA) กับสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากเนื้อหาข้อเรียกร้องในข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของบรรษัทยาข้ามชาติโดยตรง โดยเป็นการเรียกร้องให้มี "ทริปส์ผนวก" ซึ่งเกินกว่าข้อตกลงพหุภาคี "ทริปส์" ในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคายาต้านไวรัสเอดส์ที่ติดสิทธิบัตรและจำเป็นต้องใช้ มีราคาสูงมาก ประมาณว่าผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาเป็นสิบเท่าของรายได้ขั้นต่ำ และองค์การเภสัชกรรมก็ไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกได้เพราะยาเหล่านั้นติดสิทธิบัตร ไม่เชื่อลองดูข้อเรียกร้อง "ทริปส์ผนวก"

1. ขยายอายุการผูกขาดตลาดยายาวนานขึ้นกว่าข้อตกลงพหุภาคีทริปส์ โดยสหรัฐฯ กำหนดขยายอายุสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี

2.ขอผูกขาดตลาดยารูปแบบใหม่ด้วยการผูกขาดข้อมูลผลทดสอบเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์เคมี (Data exclusivity) 5 ปี

3.จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อน มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตรยาที่ระบุในข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข

กระนั้นก็ดี แม้ไม่มีเอฟทีเอมาช่วยเพิ่มความยากในการเข้าถึงยา สถานการณ์ในปัจจุบันผู้ป่วยเรื้อรังก็ต้องเขย่งกันสุดปลายเท้าอยู่แล้ว อย่างผู้ติดเชื้อที่ต้องรับยาเอฟฟาไวเรนซ์อย่างต่อเนื่อง ในบางพื้นที่ผู้ติดเชื้อต้องไปรับยาทุกสัปดาห์ เนื่องจากไม่มียาสำรองเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ป่วยเป็นรายเดือน หรือจะต้องเปลี่ยนสูตรยาหรือรับประทานยาเพียง 2 ชนิด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการเชิงรุกที่จะให้มียาเพียงพอตามความต้องการ หากได้ดำเนินการตามกติกาสากลที่ได้มีมาตรการยืดหยุ่นไว้

อาจเป็นความโชคร้ายของธุรกิจยาที่ต้องเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของผู้คน จึงต้องมีการต่อสู้กันระหว่างผลประโยชน์ระหว่างธุรกิจยาข้ามชาติกับภาคประชาชนโดยเฉพาะประเทศยากจนตลอดเวลา และการเข้าไม่ถึงยากลายเป็นปัญหาสาธารณสุขร้ายแรงที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติ ดังปรากฏในวรรค 6 ของปฏิญญาโดฮา (DOHA Declaration) "ข้อตกลงทริปส์และการสาธารณ
สุข" (TRIPS Agreement and Public Health) เมื่อ ค.ศ. 2002 ซึ่งมีรายละเอียด 7 วรรค โดยมีเนื้อหาเพื่อร่วมกันสร้างระบบการเข้าถึงยาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม

มาตรการยืดหยุ่นที่เอื้อต่อประเทศยากจนที่ว่านั้นก็คือ การนำเข้าซ้อน (Paralell Import, PI)ส่วนการนำเข้าซ้อนเป็นการนำเข้าของยาต้นกำเนิด (Original drugs) จากที่อื่น ซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่มีขายในประเทศตน

อีกมาตรการหนึ่งคือ การบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Lisencesing, CL) เพื่อนำยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกว่า เช่น ประเทศอินเดีย มาใช้แทน นอกเหนือจากนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบการควบคุมราคายา จึงทำให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาได้ตามความต้องการ แต่มาตรการนี้ ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยา เนื่องจากการบังคับใช้สิทธินั้นเป็นการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drugs) เพื่อใช้เฉพาะในประเทศที่มีการบังคับใช้สิทธิเท่านั้น(ส่งออกไม่ได้)

ดังนั้น คณะมนตรีทริปส์จึงต้องไปหาวิธีการที่จะทำให้ประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยา สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) เพื่อให้ประเทศอื่นผลิตยาชื่อสามัญส่งมายังประเทศนั้นได้ โดยให้เสร็จภายในสิ้นปี ค.ศ. 2002 จนเมื่อ 30 สิงหาคม 2003 ประเทศสมาชิกทั้งหลายจึงตกลงกันได้ในกติกาเรื่องนี้ คือ แนวปฏิบัติตามวรรค 6 ของข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุขในปฏิญญาโดฮา (Implementation of Paragraph 6 of DOHA Declaration on the TRIPS Agreement and Public Health : Decision of 30 August 2003)

จึงไม่แปลกที่องค์กรทั้งหลายที่ทำงานเกี่ยวกับการเข้าถึงยา โดยเฉพาะเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากวรรค 6 ของข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุขดังกล่าวข้างต้น ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขอเสนอต่อรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ดังนี้

รัฐบาลต้องรีบดำเนินการบังคับใช้สิทธิกับยาที่ติดสิทธิบัตร ซึ่งทำได้ทันทีในขณะนี้เพราะ พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทยเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้มาตรการนี้อยู่แล้ว โดยบังคับใช้สิทธิกับยาติดสิทธิบัตรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะยาเอฟาเวียร์เรนซ์(Efavirenz) เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาสูตรใหม่นอกจากสูตรจีพีโอเวียร์(GPO-vir) ที่มีราคาถูก และการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์นั้นต้องใช้ติดต่อกันตลอดชีวิต การหยุดยาทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อฯ ลดลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 51 และ มาตรา46 ให้สอดคล้องกับข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข (วรรค 6 ของปฏิญญาโดฮา) ขององค์การการค้าโลก ซึ่งได้ผ่านการตกลง ณ 30 สิงหาคม 2546 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาติดสิทธิบัตรยาทุกชนิดที่จำเป็นในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และสามารถส่งออกช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ซึ่งประเทศคานาดาได้ทำนำหน้าไปแล้วเมื่อ 14 พฤษภาคม 2547

ลำพังเพียงข้อบกพร่องภายในก็สร้างภาระให้กับคนเล็กคนน้อยพอดู หากต้องทำตามข้อเรียกร้องในเอฟทีเอของสหรัฐ ไม่แน่ว่าต่อไปคนไทยอาจไม่มีสิทธิป่วย (เรื้อรัง) เพราะค่ารักษาชีวิตนั้นสูงเกินอาจเอื้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net