Skip to main content
sharethis

ปัญญา บัวบุปผา นิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 5
อดีตประธานเชียร์คณะทันตแพทศาสตร์ปีการศึกษา 2544 และประธานเชียร์หอพักนิสิต จุฬาฯ ปีการศึกษา 2546

รับน้องในห้องประชุมเชียร์
"ก่อนที่จะมองว่าห้องเชียร์ควรมีหรือไม่มี ต้องดูจุดมุ่งหมายของกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ ก่อน ถ้าจำ
เป็นต้องใช้ลักษณะการประชุมเชียร์ก็ต้องคิดก่อนว่าควรใช้แบบไหน ต้องดูที่รายละเอียดและวิธีการอีกที ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ" นายปัญญา บัวบุปผา นิสิตปัจจุบันคณะทันตแพทย
ศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 5 กล่าวขึ้นในความรู้สึกของอดีตประธานห้องประชุมเชียร์

นายปัญญา กล่าวต่อว่า "สำหรับความรู้สึกพี่น่าจะมีกิจกรรมรับน้อง ส่วนการเข้าห้องประชุมเชียร์ก็ต้องพิจารณาตามเหตุผล ซึ่งเราควรที่จะดูพฤติกรรมน้องๆ ก่อน ว่าจะมีรูปแบบว้ากหรือแบบสนุกๆ ทั้งนี้ เราต้องดูพฤติกรรมกลุ่มว่าเห็นควรเหมาะสมหรือไม่ และถ้าจำเป็นก็ต้องใช้มาตรการในห้องประชุมเชียร์"

รับน้องหอ
ขณะเดียวกัน นายปัญญา มองว่าหอพักมีความจำเป็นที่ต้องมีระบวนการรับน้อง เพราะต้องการให้รุ่นน้อง รุ่นพี่ พี่ดูแลหอ และอาจารย์ ได้รู้จักกัน เพราะเปรียบเสมือนมาอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งทำให้น้องใหม่รู้จักข้อควรปฏิบัติในการมาอยู่ร่วมกันนั่นเอง

นายปัญญาเห็นว่า "หอพักของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีระบบห้องประชุมเชียร์ เพราะไม่ใช่หอเอกชนที่เน้นแต่เชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเราจะดูแลคนและลูกหลานในครอบครัว เพื่อให้คนที่อยู่ไกลไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก รวมทั้งมีเพื่อนๆ พี่อยู่รอบข้าง ก็จำเป็นต้องมีการปูพื้นฐานที่ดีเพื่อให้กลุ่มสังคมดูแลกันได้ ทั้งเพื่อนพี่น้องและอาจารย์ แต่ก็ต้องดูว่ามีวิธีการที่ถูกต้องจริงๆ"

"สำหรับปีนี้จะมีพี่สอนเพื่อให้น้องรู้จักกันประมาณ 80% โดยใช้กิจกรรมเป็นหลักและมีพี่วินัยคอยตีกรอบให้เคารพกฎ โดยมีหลักว่าเราต้องมองน้องใหม่ดีหมดทุกคน กิจกรรมต่างๆ ก็เป็นการเปิดให้น้องใหม่ได้รู้จักกัน ซึ่งห้องเรียนไม่ได้สอนวิธีใช้ชีวิต แต่ที่หอมีพี่ๆ เปิดคลาสสอนอย่างมีมาตรฐาน" อดีตประธานห้องประชุมเชียร์หอพักนิสิต เล่าให้ฟัง

โดยที่กระบวนการและวิธีปฏิบัติที่นำไปใช้กับรุ่นน้องนั้น ล้วนสอนแต่สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้กับชีวิตในหอพักทั้งสิ้น เช่น การเชิญพี่เก่ามาเล่าให้ฟัง เกมต่างๆ มีการบ้าน จัดบอร์ด งานกลุ่ม เพื่อให้น้องๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีกรอบทางวินัยมากำหนดด้วย

นอกจากนี้ นายปัญญายังบอกอีกว่า "ห้องประชุมเชียร์ยังต้องมีกระบวนการเพื่อล้างพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ออกไป เพราะการที่จะมาอยู่ร่วมกันถ้าไม่พัฒนาตนเองก็ต้องหาระบบมาดูแล เช่น การเตือนบอกกล่าว ซึ่งบางคนอาจไม่รู้สึกหรือไม่ใส่ใจ ก็ต้องลงโทษกันนิดหน่อย ถ้าหากใครรับไม่ได้ก็ไม่ต้องมาอยู่หอพัก"

ก่อนก้าวต่อไปในสังคม
อย่างไรก็ตาม เหตุผลหนึ่งในการรับน้องนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมคาดหวังของแต่ละสถาบันว่าต้องการให้สมาชิกออกไปอยู่ในสังคมแบบใด เป็นไปตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่จะมาพิจารณาพฤติกรรมและตัวตนที่แท้จริงของน้องๆ ก่อน แต่ถ้าได้วิเคราะห์และมองเห็นเหตุของปัญหาจริงๆ แล้วก็ต้องมองว่าวิธีการที่จะนำไปใช้สอดคล้องกันหรือไม่

นายปัญญา เสนอว่า สำหรับการขัดเกลาน้องๆ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่คาดหวังนั้น ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าความคาดหวังมีข้อตกลงเป็นอย่างไรก่อน จะเป็นของอาจารย์ รุ่นพี่ คณะ หรือว่ามหาวิทยาลัย

"ผมเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น แม้แต่ทหารที่ออกไปปกป้องบ้านเมืองยังมีการฝึก แต่สำหรับเราก็ต้องเดินทางสายกลาง แม้จะไม่ต้องต่อสู้เพื่อบ้านเมืองก็จริง แต่ถ้าเราได้คนที่เก่ง ดี แต่อ่อนแอที่จิตใจก็ไม่ได้ ถ้าจะอยู่ในสังคมนี้เราต้องหนักแน่น อดทน ไม่ตามใจตนเอง ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมทุกขั้นตอนก็ต้องอยู่ในทางสายกลางด้วย ผมเชื่อมั่นว่าปัญญาชนตัดสินใจถูกต้องแล้วในสิ่งที่ได้กระทำลงไป เพราะล้วนต้องผ่านการขัดเกลาและใช้เหตุผลมาก่อนทั้งสิ้น" อดีตประธานเชียร์ แสดงความคิดเห็น

ยิ่งไปกว่านั้น การรับน้องและกระบวนการห้องประชุมเชียร์ น้องใหม่ต้องเปิดใจรับ เพราะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ได้รู้กติกาและบรรทัดฐานทางสังคมนั้นๆ เพราะเราต้องมองว่าต่อไปในอนาคตจะต้องออกไปปกครองบ้านเมืองหรือเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำในสังคม จึงจำเป็นต้องมีความรักใคร่ปรองดองกันเป็นพื้นฐาน จนอาจกล่าวได้ว่าเพื่อให้เกิดความสามัคคีในระดับประเทศ

สังคมเปลี่ยน รับน้องเปลี่ยน
"สังคมต้องเปิดใจรับ อย่าไปกีดกันจนเด็กลุกยืนด้วยตนเองไม่ได้ เขาอ่อนแอเกินไป เพราะพ่อแม่สมัยนี้คาดหวังให้ลูกอยู่กับพ่อแม่เพียงอย่างเดียว โอ๋ลูกเหลือเกิน ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือน แต่ไม่เคยคิดว่าเด็กเหล่านี้ยังจะต้องออกไปเป็นปากเสียงของสังคมในอนาคต" นายปัญญา ให้มุมมอง

กล่าวคือ เมื่อสังคมเน้นย้ำในเรื่องธุรกิจมากขึ้น ทำให้วิธีการรับน้องก็ต้องเปลี่ยนตามด้วยการลดเป้าหมายลง แต่ก็จะทำให้ได้คนที่ไม่อดทนต่อความกดดัน ไม่มีความเข้มแข็ง เพราะสมัยนี้ต่างคนต่างจิตต่างใจ รุ่นพี่จะไปสอนลูกชาวบ้านเขาก็เป็นไปได้ยาก แม้จะมีการตั้งเป้าหมายในการรับน้องไว้แต่คนก็ไม่เคยคาดหวังกับมันจึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จนัก

นอกจากนี้ นายปัญญา แนะนำว่า "น้องๆ ควรจะเปิดใจรับ เพราะการรับน้องหรือห้องประชุมเชียร์มีความสำคัญกับเราไม่น้อยเลย เพราะหากไม่ได้ผ่านช่วงเวลานี้ไป น้องเองก็อาจไม่รู้จักเพื่อนอีกหลายคนที่จะขอความช่วยเหลือกันได้ คนที่จะมาคิดร่วมกันและต่อสู้มาด้วยกัน และหลายครั้งพี่น้องก็ต้องพึ่งพากัน"

การรับน้องคือการให้ช่วงเวลาดีๆ สำหรับน้องใหม่เพื่อโยงไปสู่การเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเดียวกัน ควรดูตามความเหมาะสมของกระบวนการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน สังคมควรติดตามตรวจสอบมากกว่าที่จะให้มีการยกเลิก

"เราสร้างวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับปัญญาชนจริง โดยพิจารณา ปกป้อง เพื่อให้เป้าหมายของการปฏิบัติเป็นไปตามความคาดหวังของคณะ และมหาวิทยาลัย อันเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของการสร้างเป้าหมายซึ่งต้องใช้วิธีที่เหมาะสม หากหย่อนไปก็ไม่ดีจะทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้" อดีตประธานเชียร์ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม นายปัญญา เชื่อว่าประเทศต้องการกลุ่มคนที่เป็นหลักให้คนอีกทั้งประเทศในการพึ่งพา เป็นผู้นำในการพัฒนาสังคม ซึ่งเราคงต้องการคนที่เข้มแข็งเพื่อสามารถเป็นหลักหรือแบบอย่างได้จริง และนำพาบ้านเมืองไปในแนวทางที่ดีขึ้น

"กิจกรรมรับน้องถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่นอกตำราเรียน และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยขัดเกลาให้เป็นไปตามความคาดหวังได้ ซึ่งผมเชื่อว่าอนาคตข้างหน้าเราคงไม่อยากให้มีแต่เฒ่าทารกมาปกครองบ้านเมืองเป็นแน่" นายปัญญา กล่าวทิ้งท้าย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net