Skip to main content
sharethis

ประชาไท-15 มิ.ย. 48 "คิดว่าโดยหลักการการรับน้องก็ดี แต่มันอยู่ที่วิธีการมากกว่า ไม่ใช่แก้โดยการไม่ให้รับน้อง ตอนที่เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯเขาก็รับอบอุ่นดีมาก" นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวที่รัฐสภา วันนี้(15 มิ.ย.)

อย่างไรก็ตาม นางเตือนใจ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการ "ว้าก" โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ซึ่งในสมัยเรียนก็ไม่เคยเข้าแต่ร่วมกิจกรรมรับน้องอื่นๆ

นอกจากนี้ สว.เชียงราย ยังกล่าวถึงแนวทางการรับน้องที่ดีว่า ไม่ควรบังคับมากเกินไป ควรให้อยู่ในลักษณะการออกกำลังกายมากกว่า และควรชวนน้องทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ เช่นร้องเพลง ชมภาพยนตร์ดีๆ เล่นโยคะ ทำกิจกรรมชมรม ส่วนการห้ามเด็ดขาดตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ(สกอ.) นั้นเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะเป็นการเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง

"ฝากไปถึงสื่อด้วยว่าไม่ควรนำเสนอเฉพาะภาพลบ ทำให้ภาพที่ดีๆถูกทำให้หายไป วัยรุ่นอาจจะน้อยใจได้ว่าสิ่งดี ๆ ที่ทำนั้นไม่ดีเลยเหรอ ทั้ง ๆ ที่การปั่นกล้วยที่ออกมาเป็นภาพข่าวอาจมีเพียงนิดเดียว สื่อควรนำเสนอด้านดีของเด็กบ้าง ภาพที่ออกมามันลบหมด" นางเตือนใจกล่าว

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ สว.กรุงเทพและ กมธ.พัฒนาสังคมฯ เช่นกัน ให้ความเห็นไปในอีกทางว่า ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง เพราะคนที่เข้าไปมหาวิทยาลัยก่อน เพียงปีหรือสองปีไม่น่าจะแสดงความเป็นพี่เป็นน้องได้ ควรจะเป็นเพื่อนหรือรับเพื่อนมากกว่า

นายจอนยังระบุอีกว่า การรับน้องเป็นการรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศเลิกหมดแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นการทารุณกรรม และไม่เห็นว่า ในวัฒนธรรมไทยพี่จะต้องสั่งน้อง เพราะจะเป็นการสร้างความตึงเครียดให้กับนักศึกษาที่เข้ามาใหม่อย่างมาก แต่หากเป็นการพูดคุยกัน ชวนกันไปกินข้าว หรืออื่นๆที่ไม่รุนแรงน่าจะเหมาะสมกว่า

ในส่วนของสถาบันการศึกษา หลังจากที่มีการรวมตัวของ 14 สถาบันเมื่อวานนี้ เพื่อหาข้อสรุปในกรณีที่ สกอ. จดหมายเวียนขอให้ยุติการรับน้องในปีนี้นั้น ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าให้แต่ละมหาวิทยาลัยไปหาวิธีการโดยปรึกษากับทางฝ่ายบริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง หลายมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการแตกต่างกันไป

มหาวิทยาลัย ศิลปากร นายกิตติพัฒน์ ปราการรัตน์ นายกสโมสรนักศึกษาศิลปากร ยืนยันว่าจะให้มีการรับน้องต่อไปตามปกติ และได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่จะมีกระบวนการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการมีอาจารย์ดูแล การให้อิสระในการตัดสินใจของนักศึกษาใหม่ การลดการกระทำที่ดูว่ารุนแรงในทุกๆด้าน เน้นการสืบสานประเพณี และการยึดข้อปฏิบัติตามประกาศแนวทางการรับน้องมหาวิทยาลัย ศิลปากร 2534

นอกจากนี้จะมีการประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีอธิการบดี และคณบดีของทุกคณะเข้าร่วม ในวันพรุ่งนี้

ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ได้มีการจัดประชุมเพื่อหาแนวทางการรับน้องของมหาวิยาลัย เมื่อเวลา 17.30 น. ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ อธิการบดี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) และตัวแทนจากคณะต่างๆ

ส่วนทางจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นายวรินทร์ มีถาวร นายกองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ระบุว่ากิจกรรมรับน้องต่างๆของมหาวิทยาลัยได้เสร็จไปก่อนที่ สกอ.จะมีจดหายเวียนออกมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีการซ้อมเพลงเชียร์สำหรับกีฬาประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net