Skip to main content
sharethis

ประชาไท - ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2548 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรม ศาสตร์ (มธ.) เรื่อง "การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจพ.ศ.2540 : ความก้าวหน้าและความล้มเหลว" ในวันสุดท้ายนี้ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ได้กล่าวปิดการสัมมนาไว้อย่างน่าสนใจ

ศ.รังสรรค์ ได้แบ่งกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังพ.ศ.2540 เป็น 3 กลุ่มคือ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการปฏิรูปดังกล่าว และความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิรูปนั้นเกิดจากปัจจัยอะไร สุดท้ายการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมนี้จะยั่งยืนเพียงใด

ศ.รังสรรค์ได้เทียบเคียงการปฏิรูปครั้งใหญ่ 3 ครั้งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ คือ ช่วงรัชกาลที่ 5 ช่วงพ.ศ.2497-2503 หรือที่เรียกกันว่ายุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และช่วงหลังสุดคือหลังพ.ศ.2540 โดย 3 ครั้งที่ผ่านมามีความเหมือนและความต่างกันพอสมควร

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 5 คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปข้าราชการ แต่ไม่มีการปฏิรูปการเมือง แต่หลังพ.ศ.2540 นั้นมีสิ่งนี้ด้วย กระนั้นก็ตามการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีแรงเหวี่ยงต่อสังคมไทยต่างกัน ขณะที่การปฏิรูปในสมัยร.5 ทำให้ประเทศพ้นจากการเป็นอาณานิคม การปฏิรูปในสมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในเวลาต่อมา แต่การปฏิรูปหลังพ.ศ.2540 นั้นกลับประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย

ศ.รังสรรค์ ระบุว่าความล้มเหลวหรือความสำเร็จของการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจหลังวิกฤตการณ์พ.ศ.2540 นั้น มีปัจจัยจากการออกแบบนโยบาย โดยเฉพาะความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาด้วย โดยเชื่อว่าครูทุกคนสามารถเขียนแบบเรียนหรือหลักสูตรเองได้ และแผนการปฏิรูปการศึกษาก็สมมติว่าคุณภาพครูเพิ่มได้โดยการเรียนคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ โดยไม่ตั้งคำถามว่าใช้ได้หรือไม่

"แทนที่จะเปลี่ยนจากยียาธิปไตยที่เป็นการปกครองของยี้ โดยยี้และเพื่อยี้ เป็นประชาธิปไตย กลับกลายเป็น Democratic Authoritarian หรือเผด็จการจากการเลือกตั้ง" ศ.รังสรรค์กล่าว

ปัจจัยที่สองที่มีผลต่อการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจที่ผ่านมาคือ การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ องค์กร (Organization) และกติกา (Rule of the Game) ซึ่งที่ผ่านมาให้ความสำคัญในการปฏิรูปองค์กรเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปกติกา ทำให้ความสำเร็จในกาปฏิรูปไม่ยั่งยืน

ปัจจัยที่สามคือการจัดลำดับของการปฏิรูป การละเลยในบางส่วนอาจสร้างความเสียหายใหญ่ เช่น การเปิดเสรีทางการเงินในปี 2540 โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมภายในด้านต่างๆ การกระจายอำนาจทางการคลังไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยละเลยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สี่คือโครงสร้างสิ่งจูงใจ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี2540 ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปหลายเรื่องก็เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไม่สนใจเรื่องนี้ ประการสุดท้ายคือ ผู้นำการปฏิรูป และความน่าเชื่อถือของผู้นำ เพราะในอดีตที่ผ่านมาการปฏิรูปมีผู้นำ และการปฏิรูปในปี 2540 ก็มีขบวนการสิทธิเสรีภาพที่เข้มแข็งอันเป็นผลสะท้อนมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่หลังจากปี 2540 กลับไม่มีผู้นำในการปฏิรูป

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิรูปนั้น ศ.รังสรรค์กล่าวว่า วิกฤตการณ์เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูป อย่างไรก็ตาม แม้เพียงการคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ก็สามารถก่อให้เกิดการปฏิรูปได้ หากชนชั้นนำทางอำนาจมีความตระหนักเพียงพอ

ดังนั้น เทคโนแครต จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นคืนบทบาทเพื่อสะท้อนความคิดเห็น และนำเสนอเรื่องต่างๆ ไม่ให้กระบวนการกำหนดนโยบายถูกครอบงำจากผู้นำเพียงอย่างเดียว อันจะนำพาสังคมเป็นสู่ความเสี่ยงอย่างมหาศาล ทั้งนี้ การฟื้นคืนของเทคโนแครตน่าจะเป็นไปตามแนวทางของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เน้นย้ำให้เทคโนแครตมีความเป็นอิสระทางวิชาการ รักษาพรหมจรรย์โดยการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาคธุรกิจไม่ว่าในสถานะใด รวมทั้งต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม ศ.รังสรรค์ระบุว่า การปฏิรูปจะมีความยั่งยืนเพียงใดนั้น สังคมต้องมีพลังการปฏิรูป ถ้าสังคมมีพลัง จะช่วยป้องกันวิกฤตได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องทำให้หลักการปฏิรูปเป็นทุนทางสังคม โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมทำให้รัฐบาลมีธรรมาภิบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net