Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 มิ.ย.48 กรรมการสิทธิฯ หวั่นกรณีความขัดแย้งโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 เป็นตัวอย่างใช้มาตรา 101 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมหยุดความเคลื่อนไหวชาวบ้าน เตรียมจัดเสวนากฎหมายเจ้าปัญหา จำกัดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

คณะอนุกรรมการด้านพลังงาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีการประชุมเกี่ยวกับกรณีที่ชาวบ้านจากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี เข้าร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชน กรณีที่แกนนำถูกออกหมายจับข้อหาไขข่าวเท็จ ทำให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่เสียชื่อเสียง ตามมาตรา 101 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ทางอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือไปยัง สภ.อ.เมืองสระบุรี เพื่อขอดูเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการออกหมายจับแกนนำที่ทำการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าเป็นการออกหมายจับโดยไม่เป็นธรรม คาดว่าจะได้รับเอกสารภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับมาตรา 101 ของพ.ร.บ.ส่ง
เสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ราวกลางเดือนก.ค.นี้ เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาตรานี้กล่าวโทษชาวบ้าน

โดยทางกรรมการสิทธิฯ จะจัดเวทีหารือในภาพรวม และจะเชิญตัวแทนนักวิชาการด้านกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ภาคประชาชน รวมถึงนายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก ซึ่งมีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมหารือ เพื่อทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวตำรวจควรหาหลักฐานอย่างไร

นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ชัดเจนว่าเป็นการยกกฎหมายลูกมาจำกัดสิทธิชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรท้องถิ่นหรือไม่

"ชาวบ้านมีสิทธิที่จะกังวลในความเป็นอยู่ของเขา ต้องมาดูกันว่าการยกมาตรา 101 ขึ้นมานี้จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 46 และ 56 หรือไม่" นายวสันต์กล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 101 ระบุว่า ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตราย จากแหล่งกำเนิดมลพิษใดโดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจ ของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของแหล่งกำเนิดมลพิษ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

หากการแพร่หรือไขข่าวตามวรรคหนึ่งกระทำโดยการประกาศโฆษณา หรือออกข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชน อย่างอื่น ผู้กระทำผิดดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน ห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 มาตรา 46 ระบุว่าบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 56 ระบุว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ......

ข่าวที่เกี่ยวข้องhttp://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=4760

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net