Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-5 มิ.ย.48 เมื่อวันเสาร์(4 มิ.ย.) ที่ผ่านมา สำนักพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพื้นที่ 10 จ.เชียงใหม่ มีการจัดเวที "ภูมิปัญญาไท ไขปัญหาพลังงาน" โดยมีกลุ่มองค์กรชาวบ้านเข้าร่วม นำประสบการณ์วิธีคิด วิธีปฏิบัติในเรื่องการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในระดับชุมชน

นายพรหมมินทร์ พวงมาลา ผู้นำชุมชนบ้านแม่กำปอง กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดการไฟฟ้าใช้ระบบไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในชุมชน ว่า ชุมชนแม่กำปอง อยู่ในหุบเขา ซึ่งก่อนนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้ใช้พลังงานน้ำให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ในรูปแบบสหกรณ์ นอกจากชาวบ้านได้จัดการกันเองแล้ว ยังสามารถนำไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตส่วนภูมิภาคได้ด้วย และยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีจิตสำนึกในการรักษาป่าดูแลต้นน้ำ และตนเชื่อว่ายังช่วยลดการใช้พลังงานอย่างอื่นได้ด้วย

นางสายฝน กันแก้ว ตัวแทนชุมชนดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ได้มองเห็นว่า ชุมชนของตนเริ่มมีปัญหาด้านมลพิษขยะเพิ่มมากขึ้น จึงได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อหาทางออก โดยเริ่มมีการแยกขยะแห้ง นำไปขายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่วนขยะเปียกก็นำไปเป็นปุ๋ยหมักและสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งทุกคนเชื่อว่า ได้ช่วยลดพลังงานคือ ไม่ต้องนำขยะไปทิ้งที่อื่นจนเกิดมลพิษไปทั่วเมืองเชียงใหม่อยากให้ทางรัฐได้เข้าใจว่า หากนำงบประมาณจำนวนมากที่ว่าจ้างการจัดเก็บขยะนั้น นำงบมาให้ชุมชนจัดการ

"ล่าสุด ในชุมชนดอนแก้ว มีปัญหาโรงงานทำขนมจีนจำนวนกว่า 20 โรงงาน มีการปล่อยน้ำเสียลงไปภายในชุมชน ซึ่งชาวบ้านกำลังมีการพยายามหาทางแก้ไข โดยจะนำน้ำเสียจากโรงงานมาทำการหมักเป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อนำมาเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย" นางสายฝน กล่าว

นายโน้ม ชุ่มชัย ตัวแทนชุมชนโนนไทย จ.นครราชสีมากล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติปัญหาราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น จึงทำให้ชาวบ้านมาคิดหาวิธีแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร ในที่สุดก็มีการคิดค้นโดยมีการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาทดลองทำให้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล จนได้รับผลประสบความ
สำเร็จ

"ทุกวันนี้ ตนได้บอกกับชาวบ้านว่า น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ไม่ต้องเอาไปทิ้งเอามาขายให้เรา มาทำน้ำมันไบโอดีเซลและตอนนี้ ก็พยายามนำสมุนไรสบู่ดำ สบู่เลือด ปาล์ม ถั่วเหลือง ดอกทานตะวันและงามาทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเชื่อว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้จะเป็นทางรอดของคนไทย" นายโน้ม กล่าว

ในขณะที่ นางจงกลนี กาใจ ตัวแทนชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่เวียงแหง ก็มีพลังงานทางเลือกอยู่แล้วคือ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำตกแม่หาด ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ และยังมีน้ำตกอยู่อีกหลายแห่ง ที่สามารถนำมาเป็นพลังงานทางเลือกได้ แต่รัฐก็ไม่ได้ทำกลับพยายามจะเข้าขุดเหมืองถ่านหินเพื่อนำไปป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ทั้งนี้ หลังจากจบการเสวนา นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ เลขานุการกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า อยากให้คนไทยได้รับรู้ว่า สิ่งทีพลังงานไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะนั้น ได้ทำสร้างปัญหาด้านมลพิษต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่อชาวบ้านแม่เมาะเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงอยากให้รัฐหันกลับมาทบทวน มาใช้พลังงานทางเลือกขึ้นมา

"ที่ทุกวันนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามอ้างว่า พลังงานงานถ่านหิน เป็นพลังงานที่มีต้นทุนราคาถูก แต่ไม่ได้บอกว่า ต้นทุนชีวิตที่ชาวบ้านต้องล้มป่วยตายไปนั้น มันคุ้มค่าหรือไม่" นายมะลิวัลย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net