Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 มิ.ย.48 สมัชชาเขื่อนปากมูลบุกร้อง กมธ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ วุฒิสภา ขอเปิดเขื่อนตลอดปี อ้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไม่คุ้มทุนทำลายเศรษฐกิจชาวบ้าน ส่วนกรมชลประทานย้ำใช้น้ำช่วยเหลือพื้นที่เกษตร ด้านกมธ.คนกลางแนะชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังสร้างอาชีพได้

วันนี้นางวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จากกลุ่มสมัชชาคนจนได้เข้าชี้แจงเพื่อให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ วุฒิสภา พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาแก่ราษฎรบริเวณเขื่อนปากมูล เนื่องจากเขื่อนสร้างมาตั้งแต่ ปี 2534 ได้ปิดกั้นปากแม่น้ำมูนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ระบบนิเวศและแก่งร่วม 50 แก่ง เสียหาย และกระทบต่อวิถีชีวิตการหาปลาของชาวบ้านมาเป็นเวลาร่วม 15 ปี

นางวนิดา เปิดเผยว่า ชาวบ้านมีอาชีพหาปลาเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทางการเกษตร เพราะลักษณะภูมิประเทศมีลักษณะเป็นหิน สามารถปลูกได้เฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำในช่วงน้ำลด ขณะที่เขื่อนสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และผลที่ได้รับไม่คุ้มทุนเพราะมีข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าเพียง 7-8 % ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งกับการหากินของชาวบ้าน

ด้านนายละเอียด สายน้ำเขียว รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน ออกมาโต้ตอบว่า เขื่อนปากมูลได้ใช้ประโยชน์ด้านชลประทานด้วย โดยในปี 2546 รัฐบาลได้มีมติ ครม.ให้กรมฯ ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการสูบน้ำช่วยเหลือตามแนวพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกผลไม้และพืชล้มลุก

ทั้งนี้ นางวนิดาอ้างว่า ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุให้เปิดเขื่อนตลอดไปจึงจะฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชนได้ แม้ต่อมามีมติ ครม.ในปี 2544 ให้เปิดประตูเขื่อนปีละ 4 เดือน แต่ก็ไม่ทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องกันต่อไปให้เปิดเขื่อนตลอดปี ตนเสนอพบกันครึ่งทางกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยแบ่งเปิดประตูน้ำคนละ 4 บาน ตลอดปี

ขณะที่ ตัวแทนจาก กมธ.เสนอให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรหรือเลี้ยงปลาในกระชังแทน ทำให้นางวนิดาโต้แย้งทันทีว่า ถ้าจะให้เปลี่ยนแปลงจากการทำประมงเป็นการเกษตร ต้องจัดหาที่ดินให้ชาวบ้านเพิ่มเติม เพราะเดิมชาวบ้านมีอาชีพหลักอยู่ริมฝั่งในการหาปลาแลกข้าว ซึ่งมีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำและผืนดินชายฝั่งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นางวนิดากล่าวต่ออีกว่า "คนที่เสียไม่เคยได้ คนที่ได้ไม่เคยเสีย ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหารายวันโดยใช้ปากไม่เคยจริงใจ ต้องเห็นใจชาวบ้านที่อ่อนแอกว่าเป็นหลัก แต่กลับไปเห็นใจกฟผ. ที่จะเพิ่มเงินเดือนให้อีก15% สำหรับการเลี้ยงปลาในกระชังต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าครอบครัวละ 2 แสนบาท แต่ถ้ายังปิดประตูน้ำก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย หากเปิดเขื่อนก็จะสามารถเลี้ยงปลาได้ดีกว่า"

แกนนำสมัชชาเขื่อนปากมูล กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหาก็คือต้องยอมรับความจริง เขื่อนปากมูลเหมือนปิดปากคนไม่ให้กินข้าว หิวก็ร้องโอดโอยโอดครวญ กลุ่มชาวบ้านต้องออกมาพูดต่อไป เพราะคนมีอำนาจมีส่วนกำหนดชะตากรรม ล่าสุด กฟผ.ไม่ยอมเปิดเขื่อนจึงต้องไปกดดันเมื่อ 2 วันก่อน ประตูน้ำจึงเพิ่งเปิดเมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายสุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ กฟผ. ชี้แจงว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ.ได้ชดเชยค่าเสียโอกาสอาชีพประมงและช่วยเหลือด้านอื่นๆ แก่ชาวบ้านแล้ว ประมาณ 1 พันล้าน ทั้งนี้ กฟผ.ร่วมกับกรมประมงผลได้ปล่อยพันธุ์กุ้งและปลาทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก และถ้าปิดเขื่อนก็สามารถเลี้ยงปลาในกระชังได้ผล เพราะถ้าเปิดประตูเขื่อนน้ำจะไหลแรงจนกระชังลอยทำให้เลี้ยงปลาไม่ได้

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net