Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1มิ.ย.48 กรีนพีซจุดกระแส "มะละกอจีเอ็มโอ" ระลอก 2 ระบุเจอระบาดข้ามสายพันธุ์ ออกนอกขอนแก่นไประยอง-กำแพงเพชร แหล่งแปรรูปมะละกอส่งออก

นางสาวภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยผลการสุ่มตรวจมะละกอของเกษตรกรตามบัญชีรายชื่อเกษตรกร 2,600 รายใน 34 จังหวัดที่ได้รับเมล็ดพันธุ์แขกดำท่าพระ จากสถานีวิจัยพืชสวน จ.ขอนแก่น โดยพบมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกร 2 แห่งใน อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร และ
อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะละกอเพื่อป้อนโรงงานผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศ

"แสดงว่าการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรล้มเหลว แม้จะผ่านเวลามากว่า 6 เดือน ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว มะละกอจีเอ็มโอในไทยก็ยังอยู่ในขั้นทดลอง โดยยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นความเสี่ยงของเกษตรกร เนื่องจากแม้มะละกอนี้เป็นพันธุ์ไทย แต่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของสิทธบัตร" เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรมกล่าว

น.ส.ภัสน์วจีให้ข้อมูลว่า เกษตรกรที่ จ.กำแพงเพชรนั้น ปลูกมะละกอหลากหลายพันธุ์ในแปลงหลังบ้าน ทั้งแขกดำท่าพระ ฟลอริด้า และทอเลอแรนท์ ซึ่งได้รับเมล็ดพันธุ์จากสถานีวิจัยพืชสวนขอน แก่น โดยกรีนพีซได้เก็บตัวอย่างเมล็ดและใบจากต้นฟลอลิดาและทอเลอแรนท์ส่งตรวจในห้อง ปฏิบัติการจีนแสกน ประเทศเยอรมนี พบยีนจีเอ็มโอในเมล็ดแต่ไม่พบในใบ ซึ่งหมายความว่าการปนเปื้อนจากการผสมข้ามพันธุ์ทางละอองเกสรเกิดขึ้นจริง จากเมล็ดมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรทำการทดลองในพันธุ์แขกดำและแขกนวล ไปสู่มะละกอปกติพันธุ์อื่นๆ และหากนำเมล็ดไปทำพันธุ์ต่อก็จะได้มะละกอจีเอ็มโอ

ส่วนเกษตรกรที่ อ.แกลง จ.ระยอง นั้นได้รับเมล็ดพันธุ์จากสถานีวิจัยพืชสวน จ.ขอนแก่นเช่นกัน แต่เป็นการสั่งซื้อทางไปรษณีย์จำนวน 250 กรัมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 โดยเป็นแปลงใหญ่มีมะละกอประมาณ 200 กรีนพีซสุ่มตรวจ 3 ตัวอย่างจาก 3 ต้นพบว่าเป็นจีเอ็มโอทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรทั้ง 2 รายนี้แม้จะมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่งกรมวิชาการเกษตรระบุว่าได้ตรวจสอบหมดแล้ว แต่เกษตรกรทั้ง 2 รายยืนยันว่าไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐบาลมาตรวจสอบแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่จากกรีนพีซ กล่าวว่าจะข้อมูลทั้งหมดมอบแก่กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้กำหนดแผนเร่งด่วนเพื่อจัดการการปนเปื้อน แม้ว่าก่อนหน้านี้กรีนพีซจะเคยนำเสนอแผนการจัดการการปนเปื้อนที่ถูกต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในสมัยของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์แล้วก็ตาม และวันพรุ่งนี้ (2 มิ.ย.) จะนำข้อมูลนี้เสนอต่อคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาด้วย

ด้านนายวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา สมาชิกชมรมผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ไทย ระบุว่า หากประเทศคู่ค้าทราบข่าวนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่ยอมรับจีเอ็มโอ หรือมีความเข้มงวดในการติดฉลาก อาจมีผลกระทบให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกมะละกอแปรรูปทั้งหมดต้องแบกรับภาระการตรวจสอบจีเอ็มโออย่างเข้มงวดเพิ่มเติม ทั้งจากห้องปฏิบัติการและขอใบรับรองจากทางการว่าปลอดจีเอ็มโอตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงผลิตผลที่ได้

อนึ่ง กรณีมะละกอจีเอ็มโอเป็นประเด็นข่าวคึกโครมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยกลุ่มกรีนพีซได้บุกไปยังแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวน จ.ขอนแก่น จนถูกกรมวิชาการเกษตรฟ้องร้องและขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ได้แถลงข่าวไปเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2547 ระบุว่าพบการปนเปื้อนจริง 24 ตัวอย่างภายใน จ.ขอนแก่น ขณะที่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จากกรมฯ ยอมรับว่าพบการปนเปื้อนกว่า 85 ตัวอย่างแล้ว

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ และคณะกรรมการตรวจสอบสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอที่แต่งตั้งขึ้นยังไม่มีผลสรุปแต่อย่างใด

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net