มหัศจรรย์ปากมูล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เขื่อนปากมูลกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นล่าสุดของเมืองไทยไปเสียแล้ว เพราะแม้มีมติคณะรัฐมนตรีให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือนช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. ก็ไม่สามารถงัดประตูเขื่อนทั้ง 8 บานให้เปิดได้หมด ท้าย ที่สุดต้องให้ประธานบอร์ด กฟผ. ออกหน้าขู่ว่าจะลาออก ผู้บริหารฯ ถึงยอมสั่งการให้เปิดครบทุกบาน
(http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=4598)

เขื่อนเจ้าปัญหาซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2534 และเสร็จสิ้นในปี 2537 ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการ กระทั่งเกิดสมัชชาคนจนในช่วงปลายปี 2538 โครงการเขื่อนปากมูลถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในกลุ่มปัญหาและกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดโครงการหนึ่ง

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 สมัชชาคนจนเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร โดยอ้างอิงผลการวิจัยชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำมูน แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลแก้ปัญหาโดยให้เปิดเขื่อน 4 เดือนในช่วงฤดูฝน ส่วนที่เหลืออีก 8 เดือนให้ปิดประตูเขื่อน ขณะที่ชาวบ้านปากมูนแม้ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ก็ไม่มีทาง เลือกอื่นใด

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กฟผ.กลับไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล ทำให้ชาวปากมูน ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มปัญหาในสมัชชาคนจน ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและรัฐบาลว่า กฟผ.และจังหวัดอุบลราชธานีฝืนมติครม.

ขณะที่ กฟผ. ผู้ดูรับผิดชอบเขื่อนปากมูล อธิบายเหตุการณ์ไม่เปิดประตูเขื่อนว่า ต้องการรักษาปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งๆ ที่ข้อมูลพื้นฐานชี้ชัดไปในทิศ ทางว่า แม้เขื่อนปากมูลจะก่อให้เกิดพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.6 แสนไร่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีโครงการโดยตรงเพื่อนำน้ำไปประโยชน์ในทางชลประทาน

จะมีก็เพียงโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดเล็ก ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินการมาก่อนหน้านี้เท่านั้น

ขณะที่เหตุผลด้านการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะในฤดูฝน ยิ่งใช้ไม่ได้กับเขื่อนปากมูลซึ่งถูกออกแบบให้ผลิตไฟฟ้าในช่วง ๔ ชั่วโมงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน เพราะเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run of the river) กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในอ่างและระดับน้ำท้ายอ่าง

ส่วนการประท้วงของชาวบ้านโขงเจียมที่ว่า การปล่อยน้ำกระทบกับการเลี้ยงปลาและพันธุ์ปลาที่ปล่อยลงแหล่งน้ำก่อนหน้านั้น ก็ยังเป็นเหตุผลที่คลุมเครือ ขณะที่รองผู้ว่าการฯ กฟผ. ยอมรับว่า กลุ่มชาว บ้านที่มาประท้วงเป็นลูกจ้างของ กฟผ.เอง

ท้ายที่สุด หาก 2-3 ประเด็นข้างต้น ไม่ใช่เหตุผลแท้จริงของการไม่เปิดประตูเขื่อนปากมูล แล้วเหตุผลกลใดเล่า กฟผ. ถึงลงทุนเปลืองตัวกลับมาเปิดศึกกับสมัชชาคนจนอีกครั้ง ทั้งที่เรื่องราวสงบเงียบมานานนับปี

ทั้งยังเป็นการเปิดศึกหลังจากสมัชชาคนจนหวนคืนเวทีการเมืองนอกสภา เรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณ 2 ทบทวนนโยบายรัฐที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายจัดการน้ำของประเทศ (รวมโครงการเขื่อนปากมูล) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท