Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการปี 2547 - 2550 มีวิสัยทัศน์ที่ว่า "นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง : City of Life and Prosperity ซึ่งหมายถึงเป็นเมืองที่ให้ความสุขและชีวิตที่มีคุณค่าแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย

เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ได้รับการกำหนดให้เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งนั่นส่งผลให้มีการขยายตัวของประชากรในเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ทว่า การพัฒนาเมืองในหลายๆด้าน ยังขาดความสัมพันธ์สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องของเมืองที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา โบราณสถานสำคัญหลายแห่งทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ๆได้ถูกละเลยและมีแนวโน้มว่าจะสูญหายไปในอนาคต

อาจกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมานั้นเมืองเชียงใหม่ยังขาดการวางผังเมืองที่ดีและเหมาะสม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญ ที่กำลังจะนำไปสู่การวางผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกทิศทางมากขึ้น โดยจะส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ มีความสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาการจราจร ลดมลภาวะอากาศ พัฒนาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม มีการวางแผนการใช้ที่ดิน วางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในอนาคต

สำหรับการวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดเชียงใหม่ ตามแนวความคิดในการวางผังเมืองรวม จะคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 จำแนกเป็น 8 ประเภทคือ

1.ที่ดินประเภทชุมชน กำหนดให้เป็นพื้นที่สีชมพู เป็นเขตชุมชนหรือเขตพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเมืองในอนาคต 2.ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม กำหนดไว้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นเขตส่งเสริมการเกษตรทั่วไป เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมที่ควรได้รับการดูแลรักษา สมรรถนะของดินโดยทั่วไปให้ผลผลิตปานกลางและให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งในพื้นที่เขตนี้ไม่มีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 3.ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม กำหนดไว้เป็นพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว เป็นเขตส่งเสริมการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ภายใต้โครงการชลประทาน เพื่อกำหนดมาตรการที่จะส่งเสริมให้ทำการเกษตร 4.ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนดไว้เป็นสีเขียวอ่อน เป็นเขตพื้นที่ที่มีคุณค่าทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม

5.ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประมง กำหนดเป็นพื้นที่สีฟ้า เป็นเขตแหล่งน้ำที่มีความสมบูรณ์หรือความสำคัญทางการประมง และมีความเหมาะสมทางนิเวศน์วิทยา สิ่งแวดล้อม 6.ที่ดินประเภทอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย กำหนดไว้เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน เป็นเขตอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมที่สมควรได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์ 7.ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ กำหนดไว้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อนและเส้นทแยงสีขาว เป็นเขตอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติสวยงาม ที่สมควรได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในการจัดลำดับชุมชนในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายรัฐบาลและโครงการต่างๆที่ดำเนินการในพื้นที่ และการคาดประมาณประชากรในอนาคต ยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนบนในปี 2567 คาดว่า ชุมชนต่างๆ จะมีลำดับชุมชนและบทบาทในอนาคต โดยแบ่งเป็น 3 ลำดับ ดังนี้

1.นครเชียงใหม่และชุมชนช้างเผือก บทบาทในอนาคตคือ ศูนย์กลางความเจริญทางด้านการค้า การลงทุน พาณิชยกรรมและการบริการ การเงินการธนาคาร การศึกษาระดับอุดมศึกษา บริการสังคม และการท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบนเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

2. ชุมชนแม่ริม ศูนย์กลางการบริหารการปกครองและการท่องเที่ยว
- ชุมชนแม่โจ้ ศูนย์กลางการค้าและบริการระดับอำเภอและเภอใกล้เคียง การเงินการธนาคาร การศึกษา การสาธารณสุข การบริการด้านการเกษตร

- ชุมชนหางดง ศูนย์กลางทางด้านการค้าและบริการ การเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมหัตถกรรมขนาดย่อม (SME) และรองรับการขยายตัวด้านพักอาศัย และกิจกรรมอื่นๆจากนครเชียงใหม่

- ชุมชนสันป่าตอง ศูนย์กลางทางด้านการค้าและการบริการระดับอำเภอและอำเภอใกล้เคียง การเงินการธนาคาร และการบริการทางด้านการเกษตร

- ชุมชนสารภี ชุมชนสันทรายหลวง ชุมชนสันกำแพง ศูนย์กลางด้านการค้าและการบริการ การเงินการธนาคาร การสาธารณสุข การบริการทางด้านการเกษตร และรองรับการขยายตัวทางด้านพักอาศัยและกิจกรรมอื่นๆจากนครเชียงใหม่

- ชุมชนฝาง ชุมชนจอมทอง ศูนย์กลางทางด้านการค้าและบริการในระดับอำเภอและอำเภอใกล้เคียง การเงินการธนาคาร การสาธารณสุข การบริการด้านการผลิตและรวบรวมผลผลิตทางด้านการเกษตรของพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่

3.ชุมชนเชียงดาว ชุมชนแม่แตง ชุมชนไชยปราการ ชุมชนแม่อาย ชุมชนแม่วาง เป็นศูนย์กลางในระดับอำเภอ ศูนย์กลางด้านการค้าและการเงินการธนาคาร การสาธารณสุข การศึกษาระดับอำเภอ ศูนย์กลางการให้บริการทางด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หัตถกรรมพื้นบ้าน และศูนย์กลางในการให้บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นแก่ชุมชนโดยรอบ

4.ชุมชนแม่แจ่ม ชุมชนดอยสะเก็ด ชุมชนสะเมิง ชุมชนพร้าว ชุมชนฮอด ชุมชนดอยเต่า ชุมขนอมก๋อย และชุมชนในระดับ อบต. เป็นศูนย์กลางให้บริการแก่ประชาชนในเขตพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การจัดทำแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ โดยการมีมาตรการผังเมือง นับเป็นการเตรียมการที่สำคัญสำหรับจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต และเพื่อให้มาตรการผังเมืองไปสู่การปฏิบัติ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโครงข่ายคมนาคม ควรต้องดำเนินการของบประมาณไปยังต้นสังกัด เพื่อนำมาพัฒนาโครงการต่างๆให้เป็นรูปธรรม และควรมีการร่วมมือในการวางแผนการพัฒนาการใช้ที่ดินร่วมกันอย่างเป็นระบบ ขณะที่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่โดยตรง ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแนวทางการพัฒนาจังหวัดเพื่อมใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการพัฒนาจังหวัดโดยมาตรการผังเมือง ทั้งนี้หากนำมาตรการผังเมืองไปใช้อย่างจริงจังแล้ว จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนทั้งภายในและนอกพื้นที่ เนื่องจากมีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้เป็นกรอบแนวทาง ว่าพื้นที่ใดส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจประเภทใด เช่น ส่งเสริมให้เป็นเมือง พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต พื้นที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

นับเป็นโอกาสที่ดีที่การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในห้วงเวลานี้ โดยมีมาตรการผังเมืองมาเป็นกรอบแนวทางที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ทว่า เครื่องมือนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง และต้องมีการปรับทัศนคติวิธีคิดในการทำงานเพื่อประสานการพัฒนาอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ที่ยั่งยืนต่อไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net