Skip to main content
sharethis

ความโกลาหลของการสื่อสารทางคลื่นวิทยุเมืองไทย จะยังคงไม่ต่างจากการ "จับปูใส่กระด้ง" ต่อไป

แม้ล่าสุด "สุรนันท์ เวชชาชีวะ" บอกว่า วิทยุชุมชนจะต้องถอยให้มาอยู่ในกติกา

แต่การแก้ปัญหาที่หมักหมม และมาสะสางกันที่ปลายเหตุ ใช่ว่าจะจบลงง่ายๆ

คลื่นความถี่ที่ต้องเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 40 ไม่อาจบรรลุผลเสียที เพราะ กฎหมายลูกรองรับการจัดสรรคลื่นความถี่และการขออนุญาตประกอบกิจการ ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้

โดยเฉพาะการ "ตั้งท้อง" ที่นานเกินไปของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติหรือ กสช.

ภาวะสุญญากาศกับความพยายามดิ้นหาทางออกที่เหมาะสม หรืออีกมุมหนึ่งคือช่วงนี้คือนาทีทองของการฉกฉวย

วงการวิทยุชุมชนจึงไม่อาจหลีกพ้นวังวนของเสือ สิงห์ กระทิง และแพะ

-------------------

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่า ภาพของ "วิทยุชุมชน" ที่ถูกนำเสนอสู่สาธารณะในเชิงลบหลายประการ ตัวอย่างในการเสวนาผลกระทบจากวิทยุชุมชนที่กรมประชาสัมพันธ์นำเสนอให้รัฐมนตรีสำนักนากยกรัฐมนตรีรับรู้ เช่นเป็นวิทยุที่กำลังส่งที่เกิดกำหนด ทำให้เกิดคลื่นความถี่รบกวนสถานีข้างเคียง ทั้งคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งระบบการบิน นอกจากนี้ยังมีปัญหาย่านความถี่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้การรับฟังไม่ชัดเจน ,ผู้ที่มาจดทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์กว่า 1,700 แห่งนั้น บางสถานีมิได้ออกอากาศจริง แต่เป็นการเข้าชื่อไว้ก่อนเพื่อสวมสิทธิ์ ,การให้มีโฆษณาของวิทยุชุมชน บางจังหวัด รวมตัวกันเป็นเครือข่าย แล้วขายพ่วงโฆษณาทำให้สถานีวิทยุหลักเดือดร้อนเพราะถูกตัดราคาค่าโฆษณา และยังเลยไปถึงสื่อท้องถิ่นอื่นๆ ,คุณภาพของผู้จัดรายการบางสถานี ไม่ได้มาตรฐาน เนื้อหารายการ ส่วนใหญ่เป็นรายการบันเทิง และนายทุนใหญ่บางกลุ่ม ตั้งสาขาวิทยุชุมชนโดยจ้างเป็นรายเดือน 3-5 หมื่นบาท ให้สถานีดังกล่าวบริหารงาน แลกกับการเปิดเพลงค่ายของตนเอง หรือสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน

ล่าสุดนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม แถลงมติเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหานี้ไปให้กรมประชาสัมพันธ์ตรวจสอบ 4 ประการ คือ

1.ให้กรมประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมกันตรวจสอบ และดำเนินการกับสถานีวิทยุชุมชนที่ติดตั้งอุปกรณ์โดยไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการส่งกระจายเสียงเกิน 30 วัตต์ ตั้งเสาอากาศสูงเกิน 30 เมตร จากแนวราบพื้นดิน และมีรัศมีกำลังส่งเกิน 15 กิโลเมตร โดยเฉพาะวิทยุชุมชนต้องห้ามติดตั้งสถานีทวนสัญญาณ (Repeater) พร้อมอุปกรณ์พ่วงอย่างต่อเนื่องอื่นๆ

2.ให้กรมประชาสัมพันธ์ทบทวนการอนุญาตให้สถานีวิทยุชุมชนโฆษณาได้ 6 นาทีภายใน 1 ชม. หรือยกเลิกการโฆษณาไปเลย เพราะการอนุญาตให้มีโฆษณาเป็นการประกอบการในเชิงธุรกิจ ซึ่งขัดต่อหลักการของวิทยุชุมชน

3.ให้กรมประชาสัมพันธ์ตรวจสอบ และอนุญาตให้ดำเนินกิจการวิทยุชุมชนได้เฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลในชุมชน และเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง และ

4.ให้กรมประชาสัมพันธ์ตรวจสอบคลื่นความถี่วิทยุชุมชนที่รบกวนวิทยุการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในกิจการการบิน ซึ่งคณะกรรมาธิการจะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ปอกเปลือกวิทยุชุมชนภาคเหนือ

"พลเมืองเหนือ" สืบค้นข้อมูลจำนวนวิทยุชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่าปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชน ประมาณ 195 - 200 ราย การยื่นคำขอส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคล อาทิ ชมรม สมาคม เครือข่าย คณะกรรมการฯ โดยมอบอำนาจให้บุคคลในคณะกรรมการบริหาร เป็นผู้ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนกับกรมประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ก็มีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ ฯ มาอีกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของเครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายองค์กรเอกชนและคณะสงฆ์ กลุ่มธุรกิจภาคเอกชน กลุ่มนักจัดรายการ กลุ่มบริษัทผลิตสื่อ กลุ่มสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ซึ่งจัดตั้งและบริหารวิทยุชุมชนเอง โดยไม่มีองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กลุ่มสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

หนึ่งในเหตุผลของการไม่เข้าร่วมโครงการของกรมประชาสัมพันธ์ของภาคประชาชนนั้นคือหลักคิดที่ว่า เงื่อนไขการจัดตั้งวิทยุชุมชนที่กรมประชาสัมพันธ์ร่างขึ้นนั้น นอกจากจะไม่ใช่หน้าที่ของกรมฯแล้วหนึ่งประการ และยังเห็นว่าเป็นเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่าจะต้องเป็นนิติบุคคล และสามารถแสวงหาผลกำไรได้ เนื่องจากธรรมชาติของการรวมกลุ่มภาคประชาชนจะทำด้วยความสมัครใจ ตามความจำเป็นของท้องที่ ส่วนข้อที่เปิดให้หาโฆษณา 6 นาทีต่อชั่วโมงก็ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของภาคประชาชนที่ไม่คุ้นชินกับการแสดงหาผลกำไร แต่จะกลายเป็นช่องให้นายทุน นักการเมือง ผู้ฉวยโอกาส รวมทั้งค่ายเพลงที่จดทะเบียนมูลนิธิรอไว้แล้วต่างหาก

ข้อร้องเรียนของประชาชนชาวเหนือต่อเรื่องวิทยุชุมชนที่ชนกันหน้าปัดแทบแตกไม่ต่างจากปัญหาของทั่วประเทศ ทั้งนี้สถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน แจ้งว่าตั้งแต่กลางปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 40 เรื่อง โดยมีประเด็นปัญหาหลักคือ วิทยุชุมชนรบกวนข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม และวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบปัญหาด้านเทคนิค พบว่ามีปัญหาสำคัญหลายด้าน เช่น เครื่องส่งไม่ปรากฏยี่ห้อหรือรุ่น ซึ่งหมายถึงเป็นเครื่องที่ทำเองในประเทศ มีจำนวน 60 เครื่อง

ทั้งนี้ วิทยุชุมชนที่มีกำลังส่งอยู่ในลักษณะพึงประสงค์ตามโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนของ กปส. คือไม่เกิน 30 วัตต์ มีจำนวน 60 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 63.8 % ซึ่งวิทยุชุมชนที่มีกำลังส่งสูงสุด 3 อันดับ มีจำนวน 4 แห่ง อันดับ 1 คือวิทยุชุมชนตลาดรวมโชค ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง เชียงใหม่ ความถี่ 101 MHz ใช้กำลังเครื่องส่งคือ 1,000 วัตต์ เสาสูง 45 เมตร ดำเนินการโดยกลุ่มเอกชนเน้นรายการบันเทิง ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนของกรมประชาสัมพันธ์
อันดับสอง มีจำนวน 2 แห่งคือ RADIO PLANET 107.75 MHz ตำบลสันป่าเปา อำเภอสันทราย เชียงใหม่ กำลังส่ง 950 วัตต์ เสาสูง 62 เมตร ดำเนินการโดยกลุ่มเอกชน เสนอรายการบันเทิงและสารทั่วไป พูดประชาสัมพันธ์และให้การสนับสนุน เปิดสปอตโฆษณา ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ ฯ อีกแห่งคือ จวช.สัมพันธ์จังหวัดลำพูน ตำบลริมปิง อำเภอเมือง ลำพูน ความถี่ 87.75 MHz กำลังส่ง 950 วัตต์ เสาสูง 60 เมตร รายการรูปแบบคล้ายกัน

อันดับสามคือ HIP STATION 106.0 MHz ตำบลสันป่าเปา อำเภอสันทราย เชียงใหม่ กำลังส่ง 700 วัตต์ เสาสูง 62 เมตร ดำเนินการโดยกลุ่มเอกชน นำเสนอรายการเหมือนกับสองอันดับที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ สถานีตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่วิทยุเชียงใหม่ ได้ตรวจพบการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุชุมชนรวม 94 คลื่น ซึ่งวิทยุชุมชนที่ดำเนินการส่วนใหญ่มีรูปแบบรายการที่เน้นเนื้อหาด้านบันเทิงและข่าวสารทั่วไปสูงสุด 67 คลื่นคิดเป็นร้อยละ 71.3

เงินหลักหมื่น ก็เป็นเจ้าของคลื่นได้

คำว่าเงินทองไม่ได้ลอยในอากาศ…คงใช้ไม่ได้กับวิทยุชุมชนในนาทีนี้ เพราะไม่ว่ากติกาจะสวยหรู หลักการตั้งไว้ว่าต้องเป็นชมรม สมาคม ตัวแทนชุมชนเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ทำวิทยุชุมชน แต่นั่นก็เป็นเพียงหลักการ เพราะในความเป็นจริงคนที่มีเงินเพียงแค่หลักหมื่นก็สามารถเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุได้

เพียงแค่ติดต่อเจ้าหน้าที่เทคนิคที่รับทำเครื่องส่ง ซึ่งหาได้ไม่ยาก มีการบอกต่อ มีการโฆษณาผลงานของตัวเองผ่านหน้าเวบไซด์มากมาย ที่เชียงใหม่มีไม่ต่ำกว่า 3 รายที่เป็นที่รู้จักกันในแวดวง เขาเหล่านี้จะบริการทั้งทำเครื่องส่ง สแกนหาคลื่น พร้อมติดตั้งเสา ราคาอยู่ที่กำลังวัตต์ที่ต้องการ หากว่ากันตามกติกาของวิทยุชุมชนที่กำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 30 เมตร ราคาอยู่ที่ 60,000 - 100,000 บาท ไม่รวมอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ประเภทไมโครโฟน เครื่องผสมเสียง หรือซีดีเพลง ขณะที่กำลังวัตต์ยอดฮิตที่ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนส่วนใหญ่เลือกใช้คืออยู่ที่กำลังส่ง 300 วัตต์ ขึ้นไป ใช้เงินทุนอย่างมากราว 200,000 บาท เป็นเม็ดเงินลงทุนที่พอควักได้ และเต็มใจควักอย่างยิ่งเมื่อมองดูถึงความคุ้มทุนและผลกำไรที่จะได้มาในอนาคตอันใกล้

กำไร ที่เชื่อหรือไม่ว่าเพียง 3 เดือนแรก หากทำการตลาดดีดี ก็เรียกทุนคืนและได้เม็ดเงินเข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ ด้วยค่าโฆษณาที่แสนถูก 30-50 บาทต่อครั้ง โปรโมชั่นแถมสะบัด พูดในรายการอย่างจุใจ หรือจะเหมาจ่ายทั้งรายการราคาไม่หนี 5,000 บาทต่อเดือน ก็เป็นราคาที่ร้านค้าทั่วไปรับได้ ซึ่งสร้างรายได้ให้วิทยุเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว หรือบางเจ้าที่มีสื่ออื่นอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นหลัก สื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อลงทุนเพิ่มกับวิทยุชุมชน แต่ไปเพิ่มจุดขายในสื่ออื่นๆ อีกหลายรูปแบบ เช่นลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ แถมวิทยุ ลงคลื่นนี้แล้วแถมอีก 2 คลื่น ก็จูงใจให้เกิดการซื้อขายโฆษณากันอย่างครึกโครม

แต่ก็มิได้หมายความว่า คนในวิทยุชุมชนจะมุ่งแต่เพียงธุรกิจ เพราะก็มีหลายคลื่นที่ยืนหยัดมาโดยพยายามยึดหลักการคือของวิทยุชุมชนที่แท้จริง คือให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยเผยแพร่ความรู้ โดยมิได้อิงถึงเรื่องของเม็ดเงิน

ใครเป็นใครในคลื่นชุมชน

มีคนอย่างน้อย 3 กลุ่มในวังวนวิทยุชุมชน

กลุ่มแรก คือผู้ที่ยึดปรัชญาของวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วยความต้องการ
ให้คลื่นความถี่เป็นเสียงของประชาชน ดำเนินการลงทุนด้วยการลงขัน หรือได้ทุนสนับสนุนจากหน่วยงานที่ต้องการเห็นความเข้มแข็งของชุมชน สำหรับเชียงใหม่วิทยุชุมชนเริ่มต้นทางสวท.เชียงใหม่ เอฟเอ็ม 93.25 เมกะเฮิรตซ์รายการเสียงบ้านล้านนา และเริ่มมีการปฏิบัติการเต็มรูปด้วยชุมชนเองในปี 2545 เช่น วิทยุชุมชนสันป่าตอง เอฟเอ็ม 89.70 เมกะเฮิรตซ์ และเสียงเสริมสร้างพลังชุมชน เอฟเอ็ม 99 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นที่ดูงานของการเติบโตของวิทยุชุมชนอีกหลายต่อหลายแห่ง

กลุ่มที่สองกลุ่มดีเจ หรือคนที่อยู่ในวงการวิทยุท้องถิ่น ซึ่งถูกบีบจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจของวิทยุท้องถิ่นจากกระแสทุนส่วนกลาง ปีที่ผ่านมาดีเจท้องถิ่นที่เคยซื้อเวลาในคลื่นหลักและคร่ำหวอดอยู่กับการจัดรายการในท้องถิ่นมานานต้องอยู่ในภาวะ "ถูกโละ" เมื่อทั้งคลื่นของสถานีถูกธุรกิจยักษ์ใหญ่จากส่วนกลางเหมาทั้งคลื่น การถูกไล่ล่าจากทุนที่หนากว่า บีบให้คนกลุ่มนี้ออกจากเส้นทางทำมาหากิน "วิทยุชุมชน" คือช่องทางดิ้นรนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ที่จะเริ่มต้น เม็ดเงินแสนกับการซื้อเวลาสถานีหลักโดยปราศจากความมั่นคง กับการลงทุนตั้งสถานีวิทยุของตัวเอง โดยอาศัยชื่อว่า "วิทยุชุมชน" ก็เป็นช่องทางทำมาหากินที่สุจริตมิใช่หรือ ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีทั้งที่พยายามทำรายการให้ดี (อิงรูปแบบรายการคลื่นหลัก คือข่าวและเพลง) แต่ก็มีทั้งที่พยายามสร้างผลกำไรสูงสุด

กลุ่มที่สาม กลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาผลกำไรและสร้างชื่อเสียง อิทธิพลให้ตัวเอง
เต็มรูปแบบทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ห่างไกลจากปรัชญาของวิทยุชุมชนที่เริ่มต้นไว้มาก แต่เริ่มทรงพลังและเป็นหมู่มากในคราบของวิทยุชุมชน

ติงอย่าจัดการเหมาโหล

อาจารย์อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้ริเริ่มสถานีวิทยุชุมชน เสียงเสริมสร้างพลังชุมชน เอฟเอ็ม 99 เชียงใหม่ให้ความเห็นว่า นี่คือช่วงโกลาหลของการสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ในอนาคต ทุกฝ่ายไม่ว่าจะยากดีมีจน จะมีช่องทางสู่สาธารณะที่สื่อสารกันในฐานะคนเป็นเจ้าของสื่อซึ่งในอดีตไม่เคยมีสิทธิ์เพราะคลื่นเป็นของรัฐ ทั้งนี้ถ้ามองโลกในแง่ดีถือว่าเป็นโอกาส แต่ในโลกแห่งโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นทุนนิยม การจัดการกับเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของความเหมาะสมและอยู่ว่าใครจะตัดสิน เช่น ตอนนี้รัฐจะเหมาโหลตัดสินว่าวิทยุชุมชนเหล่านี้ไม่มีคุณค่าหรือ ในเมื่อมองไปที่วิทยุคลื่นหลัก ก็มีรอยด่างของการสื่อสารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

"ผมมองว่าที่ผ่านมารัฐสัมปทานคลื่นให้เอกชนรายใหญ่ และอัปเปหิคนทำวิทยุท้องถิ่นจนไม่มีที่อยู่ ทำให้คนที่มีอาชีพนี้ถูกหกคะเมนออกมา ก็ต้องพยายามหาที่ทางของตัวเอง ซึ่งไม่มีที่ไหนนอกจากคำว่าวิทยุชุ มชน เลยต้องเอาชาวบ้านมาแซม และการโฆษณาตามมา เพราะเขาเป็นมืออาชีพด้านธุรกิจวิทยุ ก็ต้อง เดินเข้าไปหานายทุนขนาดเล็ก ทั้งบริษัทปุ๋ย ร้านถ่ายรูป ซึ่งถ้าเลือกได้เขาคงทำแบบธุรกิจ บางรายยอมแม้กระทั่งว่าทำไปก่อนแม้อนาคตหากจะต้องยุติ เพราะช่วงนี้ก็น่าจะคืนทุน และอนาคตก็ไม่รู้ว่า 40 % ของวิทยุธุรกิจตามที่จัดสรรจะเหลือให้รายเล็กแค่ไหน หรือจะเป็นของรายยักษ์ใหญ่อีกก็ไม่รู้"

อาจารย์อุทัยวรรณกล่าวในฐานะผู้เริ่มและดำเนินการวิทยุชุมชนมาต่อเนื่อง 3 ปีว่า ผู้ที่มาร่วมกระจายเสียงได้สร้างที่ทางให้กลุ่มชนในชุมชนเช่นรายการพระ รายการของชนเผ่า ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ แง่มุมของล้านนา กฏหมาย หรือเรื่องของเยาวชน เป็นกลุ่มที่มาด้วยใจและไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งวิทยุชุมชนเป็นเหมือนทางเลือกที่มากกว่าเสียงตามสาย ให้และรับในเวลาเดียวกัน เมื่อมีการโฟนอินเข้ามา และมีไม่น้อยที่เขียนจดหมายมา พูดคุยในสาระที่ไม่มีในคลื่นหลัก

ในประเด็นของการโฆษณา อาจารย์อุทัยวรรณ กล่าวว่าในหมู่นักวิชาการอาจมองว่าวิทยุชุมชนจะต้องไม่ให้มีโฆษณาเลย ซึ่งหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ในฐานะที่ทำอยู่รู้ว่าต้องแบกรับอะไรบ้างทั้งเรื่องของคน การจัดการ การใช้ทรัพยากร การใช้ความคิด จึงน่าจะอยู่ที่การรักษาดุลยภาพ และหากเข้าสู่หลักการที่รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนโดยมีกองทุนมาให้เลย ก็จะเป็นคุณูปการต่อวิทยุชุมชนอย่างยิ่ง หรือให้มีโฆษณาโดยอาศัยศิลปของการอยู่รอด แต่หากยังเป็นลักษณะให้บ้าง และให้ไปดิ้นหาเพิ่มเติมนั้นก็ต้องมีวิธีการจัดการให้ดี เพราะขณะนี้กติกาที่กำหนดไว้ด้วยกำลังส่งเท่ากับเป็นการบอนไซวิทยุชุมชนให้ต้องตายซากไปเอาง่ายๆ

"หลักการบอกว่าใน 80 ช่องความถี่ จะเป็นวิทยุชุมชน 20 % วิทยุราชการ 80 % และวิทยุธุรกิจ 40 % แต่ให้กำลังส่งวิทยุชุมชนอยู่ที่ 30 วัตต์ ขณะที่ของธุรกิจอย่างต่ำ 1,000 วัตต์ บนหน้าปัดเดียวกันจะจัดการอย่างไร ซึ่งหากมีงบสนับสนุนวิทยุชุมชนไปเลยตามที่บอกไว้ก็เป็นเรื่องดี แต่หากให้บางส่วน และให้ดำเนินการเพิ่มเติมจะเป็นการสมทบทุนหรือจะหาโฆษณาได้หรือ เพราะตอนนี้วิทยุชุมชนก็ฟังฟรี หาสมาชิกแบบเคเบิลทีวีก็ไม่ได้ และใครเล่าจะมาลงขันให้วิทยุอยู่ตลอด คนในชุมชนมาทำรายการให้ฟรีแต่ละนานสักเท่าใด นอกจากนั้นเงื่อนไขที่บีบด้วยกำลังส่ง และยังเรื่องของการแข่งขันด้วยรูปแบบบนหน้าปัดในระนาบเดียวกันกับคลื่นหลักและคลื่นธุรกิจที่อาศัยเรตติ้งแล้ว คลื่นวิทยุชุมชนมองไม่เห็นการเติบโตอยู่แล้ว และยังมีการแข่งขันในหมู่วิทยุชุมชนด้วยกันมากมาย ทั้งคลื่นบี้กันเอง หรือเป็นเหมือนเก้าอี้ดนตรี ที่หากวัดใดวันหนึ่งเครื่องส่งเสียต้องซ่อมแซมไปเพียง 3-4 วัน มีคลื่นใหม่เข้ามาแทนที่ทันที ยิ่งไปกว่านั้นการจัดการแบบเหมาโหล ที่ทั้งสั่งปิดวิทยุชุมชนบางคลื่น และข้อเสนอล่าสุดไม่ให้มีวิทยุชุมชนที่อยู่ใกล้วิทยุการบินในรัศมี 80 กม. เท่ากับว่าในบางจังหวัดก็ไม่ต้องมีวิทยุชุมชนเลย ซึ่งการสั่งปิดไปอาจจะกลายเป็นชนวนของรัฐกับคนทำวิทยุชุมชนโดยไม่จำเป็น

ด้านอาจารย์ลัดดาวัลย์ อินทจักร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหลักการ
ของวิทยุชุมชนคือไม่จำเป็นต้องเป็นมืออาชีพ เพราะชาวบ้านจะสื่อสารกัน และยังเห็นว่าไม่จำเป็นต้องโฆษณา แต่สามารถหาเงินทุนในการดำเนินการจากเงินอุดหนุนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นในอนาคตจะต้องมีกองทุนโดยรัฐสนับสนุน ที่เงินมาจากภาษี หรือสัมปทานจากภาคธุรกิจ

แต่ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่อาจไปถึงจุดนั้น เพราะกสช.ยังไม่เกิด และดูเหมือนจะมีปัญหาอีก เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตถึงการสรรหากรรมการกสช.ว่าคณะกรรมการบางไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อ ทั้งนี้เข้าใจว่าในมุมนักวิชาการก็อยากให้กสช.ได้มาด้วยความโปร่งใส แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เห็นว่าควรจะมีกสช.ขึ้นโดยเร็วเพราะถึงเขาไม่โปร่งใสแต่เราก็จะตรวจสอบการทำงานของเขาได้ และควรจะได้เริ่มต้นมี เพื่อวางแผนแม่บท หัวใจของวิทยุชุมชนคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….. ที่จะกำหนดสาระสำคัญในการดำเนินงานมิเช่นนั้นปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ยุติสักที

"ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลงได้คือ คนทำวิทยุชุมชนอาจต้องยอม
ถอยจากที่เลยเถิดจากกติกา ต้องมีจิตสำนึกของหลักการที่ตกลงกันไว้แต่ต้น โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งปิด"

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net